วันสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ไทย ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ถือได้ว่าเป็นวันแห่งการพบปะสังสรรค์ของครอบครัว ลูกหลานที่อยู่ห่างไกล พากันเดินทางกลับบ้านไปหาพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ที่บางบ้านกว่าจะได้เจอกัน ก็ต้องรอแต่ช่วงเวลานี้เท่านั้น
ตามปกติแล้ว ประเพณีสงกรานต์ของไทย จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ตรงกับเดือนห้าตามจันทรคติ โดยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยแสดงให้เห็นว่า ประเพณีนี้ เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดฯ ให้ตราขึ้น กล่าวถึง "พระราชพิธีเผด็จศก" และ "พระราชพิธีลดแจตร"
พระราชพิธีเผด็จศก เป็นพิธีการเกี่ยวกับการตัดจากปีเก่าขึ้นสู่ปีใหม่ ส่วนพระราชพิธีลดแจตรนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ทรงสันนิษฐานว่า หมายถึงพระราชพิธีรดน้ำเดือน 5 แสดงว่า ประเพณีสงกรานต์ของหลวง มีมาตั้งแต่ต้นสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว โดยในสมัยก่อนไทยใช้จุลศักราช การขึ้นปีใหม่ จึงเป็นการขึ้นจุลศักราชใหม่
คำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า การเคลื่อนที่ หรือการเคลื่อนย้าย หมายถึงการเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งสู่อีกราศีหนึ่ง ตามความหมายในภาษาสันสกฤต สงกรานต์จึงเกิดขึ้นทุกเดือน ส่วนระยะเวลาที่คนไทยเรียกว่า"สงกรานต์" นั้น เป็นช่วงที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ นับว่าเป็นมหาสงกรานต์ เพราะเป็นวัน และเวลาตั้งต้นปีใหม่ตามสุริยคติซึ่งถือปฏิบัติในอินเดีย
ในสมัยโบราณไทยนับเดือนตามจันทรคติ และฉลองการขึ้นปีใหม่ในเดือนอ้าย ซึ่งตรงกับเดือนธันวาคม ประเพณีสงกรานต์จึงน่าจะเป็นประเพณีฉลองการขึ้นปีใหม่ที่รับมาจากอินเดีย เนื่องจากเดือนเมษายนเป็นเวลาที่คนไทยว่างจากการทำนา จึงเป็นการเหมาะสมสำหรับคนไทยที่จะฉลองปีใหม่ในช่วงเวลานั้นด้วย
เดิมทีวันที่จัดสงกรานต์นั้น จะมีการคำนวณทางดาราศาสตร์ แต่ในปัจจุบันได้มีการกำหนดวันที่แน่นอน คือ ตั้งแต่ 13-15 เมษายน โดยช่วงเวลาฉลองสงกรานต์ในแต่ละท้องถิ่น อาจไม่ตรงกันทีเดียว แต่ส่วนใหญ่แล้ว นิยมทำบุญตักบาตรในวันที่ 13 เมษายน ถือเป็นวันมหาสงกรานต์ คือเป็นวันที่พระอาทิตย์ก้าวเข้าสู่ราศีเมษ เป็นวันสิ้นปีเก่า วันที่ 14 เมษายน เป็นวันเนา คือวันที่เชื่อมต่อระหว่างปีเก่ากับปีใหม่ และวันที่ 15 เมษายน เป็นวันเถลิงศกขึ้นปีใหม่
- วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า มหาสงกรานต์ (วันผู้สูงอายุ)
- วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันเนา (วันครอบครัว)
- วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า วันเถลิงศก
กิจกรรมวันสงกรานต์
เนื่องจากยึดถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย กิจกรรมในวันสงกรานต์ ที่ยึดถือกันมา จึงเน้นไปที่ความเอื้ออาทร ความรัก ความผูกพัน ที่มีต่อกันทั้งในครอบครัว ชุมชน สังคม และศาสนา มีทั้งการทำบุญ แสดงความกตัญญู และพบปะสังสรรค์ สร้างความสนุกสนาน
- ทำบุญตักบาตร หรือนำอาหารไปถวายพระที่วัด
เพื่อสืบทอด ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
- สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่
มีทั้งสรงน้ำพระพุทธรูปและภิกษุ สามเณร เพื่อความเป็นศิริมงคลในโอกาสขึ้นปีใหม่ นอกจากนี้ยังมีการ รดน้ำญาติผู้ใหญ่ หรือผู้ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ เพื่อขอศีลขอพรตามประเพณี
- ก่อเจดีย์ทราย (ขนทรายเข้าวัด)
จะทำในวันใดวันหนึ่ง ของวันที่ 13-15 เมษายนก็ได้ ผู้ทำบุญจะช่วยกันขนทราย มาก่อเป็นเจดีย์ขนาดต่างๆ ในบริเวณวัด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ให้ใช้ก่อสร้าง หรือถมพื้นที่ เป็นเรื่องที่ถือว่าได้บุญและสนุกสนาน แต่ไม่มีข้อจำกัดว่าต้องทำทุกวัด
- ปล่อยนกปล่อยปลา
เป็นการทำบุญเพื่อแสดงความกรุณาต่อสัตว์ที่นิยมทำในวันสงกรานต์ ซึ่งมีประวัติเล็กน้อย คือ ก่อนหน้าวันสงกรานต์เป็นหน้าแล้งอากาศร้อนจัดน้ำแห้งขอดขาดตอนเป็นห้วงๆ คงเหลือแต่ที่มีแอ่งและหนองน้ำ ปลาก็ตกคลัก อีกไม่ช้าพอน้ำแห้งหมด ปลาเหล่านั้นก็จะต้องตาย ชาวบ้านจึงพากันไปจับปลาที่ตกคลัก ถ้าเป็นลูกปลาจะกินไม่ได้เนื้อได้หนังอะไรก็เลี้ยงไว้ในตุ่มเอาบุญ แล้วนำไปปล่อยในวันสงกรานต์ จึงเกิดเป็นประเพณีปล่อยปลา และลามมาถึงปล่อยนกด้วย
- ทำบุญอัฐิ
เป็นเรื่องที่นิยมทำแบบนิมนต์พระ ชักบังสกุลอัฐิของญาติที่ล่วงลับไปแล้ว แล้วอุทิศส่วนกุศลให้ โดยนิมนต์พระไปยังสถานที่เก็บหรือบรรจุอัฐิ หรือถ้าไม่มีอัฐิจะเขียนชื่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก็ได้ เมื่อบังสุกุลแล้วก็เผากระดาษแผ่นนั้นเสีย เหมือนเผาศพ การทำบุญอัฐิจะทำในวันไหนก็ได้สุดแต่จะนัดหมายกัน หรือบางท้องถิ่นอาจจัดรวมกันที่วัดก็ได้
- เล่นสาดน้ำ
เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างญาติพี่น้องและมิตรสหาย ด้วยการรดน้ำเพียงเล็กน้อยลงที่ไหล่หรือที่มือ พร้อมกับคำอวยพรให้มีความสุข
เหตุที่มีการสรงน้ำ รดน้ำ สาดน้ำในวันสงกรานต์ เนื่องมาจากความเชื่อ ที่ว่าการสาดน้ำ จะช่วยให้ฝนฟ้าตกบริบูรณ์ ทั้งน้ำยังเป็นเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ เมื่อมีน้ำ การเพาะปลูก ทำไร่ไถนาก็ได้ผล และถือกันว่าน้ำเป็นเครื่องชำระมลทินให้สะอาดด้วย ทำให้น้ำจึงเป็นสิ่งที่ใช้ในพิธีต่าง ๆ อาบน้ำ ซัดน้ำ หรือรดน้ำ เมื่อทำพิธีสมรส อาบน้ำเมื่อตาย อาบน้ำเมื่อโกนจุก หรือบวชนาค
ที่มา: วิกิพีเดีย
อ่านข่าวเพิ่มเติม
ความเห็น 0