โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เปิดประวัติอาคาร สตง. ย่านจตุจักร ถล่ม จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว

Thairath Money

อัพเดต 28 มี.ค. เวลา 09.07 น. • เผยแพร่ 28 มี.ค. เวลา 09.07 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เวลา 13:20 น. เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมาขนาด 8.1 ริกเตอร์ ซึ่งส่งผลกระทบมาถึงกรุงเทพมหานคร ทำให้โครงสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างในย่านจตุจักรได้พังถล่มลงมา

สำหรับโครงการดังกล่าว มีชื่อว่า โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (แห่งใหม่) มูลค่าโครงการกว่า 2,136 ล้านบาท ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ 3 งาน บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ข้อมูลจากเพจ สตง. ระบุว่า โครงการดังกล่าวประกอบด้วยพื้นที่ส่วนอาคารสำนักงานสูง 29 ชั้น พื้นที่สำหรับการใช้งานฝึกอบรมและสัมมนาสูง 3 ชั้น พร้อมด้วยระบบโสตทัศนูปกรณ์ ระบบสื่อสารสนเทศที่ทันสมัย

โครงการก่อสร้างนี้ดำเนินการโดยกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด

สำหรับการควบคุมงานก่อสร้างเป็นหน้าที่ของกิจการร่วมค้า พีเคดับบลิว (PKW Joint Venture) ซึ่งประกอบด้วยบริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด, บริษัท ว. และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด

รายงานข่าวแจ้งว่า สัญญาจ้างก่อสร้างโครงการดังกล่าว (สัญญาเลขที่ 021/2564) ได้ลงนามเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 และมีกำหนดเริ่มงานก่อสร้างในวันที่ 15 มกราคม 2564 ระยะเวลาก่อสร้างเดิมกำหนดไว้ 1,080 วัน โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 แต่ได้มีการขยายระยะเวลาออกไปอีก 155 วัน ทำให้กำหนดแล้วเสร็จใหม่เป็นวันที่ 3 มิถุนายน 2567

การขยายระยะเวลาดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการแก้ไขแบบก่อสร้างในส่วนของ Load Factor, Core Wall และการสัญจรของรถบรรทุกในชั้นใต้ดิน

สัญญาจ้างควบคุมงานก่อสร้างก็มีการขยายระยะเวลาและเพิ่มค่าจ้างเนื่องจากการก่อสร้างล่าช้า โดยระยะเวลาควบคุมงานเพิ่มขึ้น 148 วัน และมีค่าจ้างเพิ่มเติมอีก 9,718,716 บาท

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวยังนำร่องเข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) เพื่อเป็นแบบอย่างในการแสดงเจตนารมณ์ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เปิดประวัติอาคาร สตง. ย่านจตุจักร ถล่ม จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : Thairath Money
- LINE Official : Thairath