นายณัฐ วงศ์พานิช ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ในปัจจุบันมีสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดจำนวนมาก และไม่เป็นไปตามต้นทุนที่แท้จริง ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รายย่อยและธุรกิจท้องถิ่นได้รับผลกระทบอย่างมาก จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และลำบากมากขึ้น
ทั้งนี้สินค้าราคาถูกที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยได้ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย เปิดทางให้มีการใช้"นอมินี" ดำเนินธุรกิจสีเทา การทำตลาดแบบ B2C ของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ ซึ่งกฎหมายไทยยังควบคุมได้ไม่ทั่วถึง ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยเสียส่วนแบ่งตลาดและหลายธุรกิจต้องปิดตัวลง
สำหรับผลกระทบไม่ได้จำกัดเพียงผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่มีกว่า 3.3 ล้านราย โดยเป็นภาคค้าปลีกและบริการถึง 2.8 ล้านรายหรือเกือบ 90% แต่รวมถึงทำให้ผู้บริโภคไทยกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงเช่นกัน
"การแข่งขันทางการค้าที่ทวีความรุนแรง ค้าปลีกไทยกำลังเผชิญแรงกดดันจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม สินค้านำเข้าราคาถูกทะลักเข้าสู่ตลาดไทยโดยขาดการควบคุม ส่วนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติเข้าครองส่วนแบ่งตลาดจากการใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะรายย่อย ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น และต้องแข่งขันกับสินค้าราคาต่ำที่ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงหากไม่เร่งแก้ไขปัญหานี้ ค้าปลีกไทยอาจถูกบีบให้สูญเสียพื้นที่ทางเศรษฐกิจอย่างถาวร"
อีกทั้งในปัจจุบันจึงมีสินค้านำเข้าหลายรายการไม่มีมาตรฐานด้านคุณภาพและความปลอดภัย อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าเครื่องสำอาง และสินค้าไม่ได้มาตรฐานคุณภาพ หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีฉลากภาษาไทย โดยสร้างความเสียหายให้ธุรกิจไทย
ทางด้านผู้บริโภคต่างได้รับผลกระทบในเรื่องความปลอดภัยเช่นกัน โดยหากปล่อยให้สถานการณ์นี้ดำเนินต่อไป ไม่เพียงแต่ธุรกิจค้าปลีกไทยจะถูกบีบให้ลดขนาดหรือปิดตัวลง แต่ยังอาจกระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
สมาคมผู้ค้าปลีกไทยจึงขอเสนอแนะ 3 แนวทางเร่งด่วน เพื่อสร้างสมดุลทางการแข่งขันและปกป้องเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย
1. คุมเข้มคุณภาพสินค้านำเข้า ปกป้องผู้บริโภคไทย
- สินค้าราคาถูกจากต่างประเทศจำนวนมากอาจมีคุณภาพต่ำ ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง ทั้ง เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องสำอางตกมาตรฐาน รวมถึงไม่มีฉลากภาษาไทย ทั้งนี้ภาครัฐควรปรับปรุงกฏระเบียบให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันและเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้านำเข้าตั้งแต่ต้นทาง เช่น กรมศุลกากรเปลี่ยนจากระบบสุ่มตรวจเป็นการตรวจสอบ 100% เพิ่มการใช้เทคโนโลยีมาเสริมประสิทธิภาพในการตรวจสอบให้แม่นยำ
- ปิดช่องโหว่ทางกฎหมายเกี่ยวกับการทุ่มตลาด เช่น การควบคุมราคาขั้นต่ำสำหรับสินค้านำเข้า ที่ต้องแสดงต้นทุนที่แท้จริง เพื่อป้องกันการขายตัดราคา
- เร่งเครื่องบทบาทภาครัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ควรเข้มงวดกฏหมายการแข่งขันทางการค้าในกรณีตั้งราคาสินค้าต่ำกว่าทุน และปรับปรุงกฏให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น
2. ปรับโครงสร้างภาษีให้เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขัน
- การจัดเก็บภาษีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างเท่าเทียม เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการและผลประโยชน์ของผู้บริโภคและประเทศชาติในระยะยาว
3. แก้ปัญหานอมินี ปิดช่องโหว่ธุรกิจต่างชาติ
- ควรมีมาตรการตรวจสอบการจัดตั้งบริษัทที่อาจสวมสิทธิ์โดยชาวต่างชาติ เพื่อป้องกันการเลี่ยงกฎหมายธุรกิจต่างด้าว ซึ่งกำหนดให้ชาวต่างชาติต้องมีหุ้นส่วนคนไทยไม่น้อยกว่า 51% โดยธุรกิจที่เสี่ยงต่อการใช้ช่องโหว่นี้ เช่น ร้านอาหาร, ซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งนี้เพื่อให้เม็ดเงินไหลกลับเข้าประเทศไทย
- กำหนดมาตรฐานการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ เช่น มีการจ้างแรงงานไทยในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อลดอัตราการว่างงานของคนไทย กำหนดพื้นที่หรือโซนสำหรับธุรกิจของชาวต่างชาติ
"สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเชื่อว่าการปรับปรุงมาตรการทางการค้าและการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันอย่างเป็นธรรม จะช่วยเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับภาคค้าปลีก ปกป้องผู้บริโภค และส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว"