โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

วิเคราะห์ 3 ทางเลือก 8 ปี นายกรัฐมนตรี “ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

ไทยพับลิก้า

อัพเดต 14 ก.ย 2565 เวลา 21.30 น. • เผยแพร่ 13 ก.ย 2565 เวลา 22.55 น.
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาภาพ : https://www.thaigov.go.th/gallery/contents
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาภาพ : https://www.thaigov.go.th/gallery/contents

นักวิชาการ วิเคราะห์ 3 แนวทางศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงนายกรัฐมนตรี 8 ปี เชื่อยังได้ไปต่อจนจัดประชุม APEC 2022 และเลือกตั้งใหม่ในปี 2566 ขณะที่การเมืองภาคประชาชนยังแผ่ว แรงต้านไม่รุนแรง

ศาลรัฐธรรมนูญประชุมนัดพิเศษเพื่อพิจารณากรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังรับคำร้องไว้วินิจฉัย และสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา โดยนัดพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 14 ก.ย. 2565 หลังจากขอเอกสารเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา

ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยไปในทิศทางใด รองศาสตราจารย์สุขุม นวลสกุล นักวิเคราะห์การเมือง อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง บอกว่า ขณะนี้มีการตีความอายุการทำงานของนายกรัฐมนตรีใน 3 แนวทาง ประกอบด้วย

แนวทางที่หนึ่ง ครบ 8 ปี 23 ส.ค. 2565 โดยนับจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังการรัฐประหาร เมื่อปี 2557 วันที่ 24 ส.ค. 2557 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ซึ่งจะครบวาระ 8 ปี ในวันที่ 23 ส.ค. 2565

แนวทางที่สอง ครบ 8 ปีในวันที่ 8 มิ.ย. 2570 โดยเริ่มนับตั้งแต่ พล.อ. ประยุทธ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี 9 มิ.ย. 2562 และจะครบ 8 ปี ในวันที่ 8 มิ.ย. 2570

แนวทางที่สาม ครบ 8 ปีในวันที่ 5 เม.ย. 2568 โดยนับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2560 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 6 เม.ย. 2560 เป็นต้นไป ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จะครบ 8 ปี ในวันที่ 5 เม.ย. 2568

รองศาสตราจารย์สุขุมมองว่า ถ้าให้วิเคราะห์การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญน่าจะเลือกทางออกกลางๆ แบบแนวทางที่สามมากกว่าแนวทางอื่น คือครบ 8 ปีในวันที่ 5 เม.ย. 2568 เพราะอย่างน้อย พล.อ. ประยุทธ์ ยังมีเวลาเหลืออีก 2 ปีในการเป็นนายกรัฐมนตรี

“การวินิจฉัยทั้งหมดขึ้นอยู่กับ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าจะออกไปในทิศทางไหน แต่หลายคนก็เชื่อว่าน่าจะออกมาแนวทางกลางๆ คือครบ 8 ปีในปี 2568 และหลังจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปจนหมดวาระในช่วงกลางปี 2566 ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่กี่เดือน”

รองศาสตราจารย์สุขุมยังฟันธงด้วยว่า ในปี 2565 จะไม่มีการประกาศยุบสภาแน่นอน โดย พล.อ. ประยุทธ์ จะอยู่เป็นนายกรัฐมนตรีจนจัดประชุม APEC 2022 Thailand ในวันที่ 18-19 พ.ย. 2565 จนแล้วเสร็จ และอยู่ไปจนครบวาระและเลือกตั้งใหม่ในปี 2566

อย่างไรก็ตาม หากศาลรัฐมรรมนูญวินิจฉัยตามแนวทางที่หนึ่ง คือ ครบ 8 ปีในวันที่ 23 ส.ค. 2565 รองศาสตราจารย์สุขุมมองว่า ถึง พล.อ. ประยุทธ์ จะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ก็คงส่งไม้ต่อให้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรักษาการนายกรัฐมนตรี ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

“แม้ศาลวินิจฉัยว่าครบ 8 ปี ตั้งแต่ 23 ส.ค. 2565 คงไม่มีการยุบสภา หรือเลือกตั้งใหม่ แต่จะผลักดันให้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดก็ตาม”

รองศาสตราจารย์สุขุมเชื่อว่เกมนี้ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย หากไม่มี พล.อ. ประยุทธ์ ก็ดัน พล.อ. ประวิตร ขึ้นแทน ส่วนการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมอาจจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่พอใจบ้าง แต่เชื่อว่าไม่มีอะไรรุนแรงในช่วงนี้

ขณะที่อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าการนับ วาระครบ 8 ปี ถ้าหากพิจารณาตามหลักกฎหมาย ต้องนับตั้งแต่ พล.อ. ประยุทธ์ ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากรัฐประหารคือวันที่ 24 ส.ค. 2557 หากเริ่มนับวันนั้น ในวันที่ 24 ส.ค. 2565 ก็จะครบ 8 ปี ซึ่งตามรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย ปี 2560

อาจารย์ปริญญาเห็นว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรค 4 ระบุว่า นายกรัฐมนตรี จะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อหลังพ้นจากตำแหน่ง

ขณะที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงตำแหน่งนายหรัฐมนตรี มาตรา 264 ไม่ได้เขียน หากประสงค์จะยกเว้นวาระ 8 ปี ให้ พล.อ. ประยุทธ์ ดังนั้น ตามความหมายของมาตรา 158 วรรค 4 จึงมีความหมายคือ นับตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2557 และถ้าจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน คือจะครบ 8 ปี ในวันที่ 23 ส.ค. หรือ 24 ส.ค. ซึ่งทำให้เห็นว่า ต้องเป็นวันที่ 24 ส.ค. 2565

เอกสารหลุดโต้ “ประยุทธ์” ครบ 8 ปี 24 ส.ค. ’65

อย่างไรก็ตาม ปมครบวาระ 8 ปี 24 ส.ค. 2565 ยังมีข้อถกเถียงก่อนวันศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยมีเอกสารบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุถึงการชี้แจงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ทำให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งขอให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดส่งสำเนาบันทึกการประชุม และรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ครั้งที่ 501 วันที่ 11 ก.ย. 2561 ที่มีวาระการประชุมรับรองบันทึกการประชุม ครั้งที่ 500 วันที่ 7 ก.ย. 2561 ซึ่งเป็นบันทึกการประชุมการตอบโต้กันระหว่างนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน และนายสุพจน์ ไข่มุกต์ เป็นรองประธานกรรมการ และกรรมการคนอื่นๆ รวม 30 คน มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการนับวาระ 8 ปีนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560

โดยนายมีชัยได้หยิบยกบทเฉพาะกาลในมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ระบุการบัญญัติว่า แม้จะดำรงตำแหน่งนายกฯ อยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับ ก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าวรวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ซึ่งเมื่อนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 8 ปี

นอกจากนี้ ยังมีเอกสารหลุดของ พล.อ. ประยุทธ์ ความยาว 23 หน้า ลงนามโดย พล.อ. ประยุทธ์ ระบุถึงการนับอายุวาระครบ 8 ปีนายกรัฐมนตรีว่า ยังไม่ถือว่าดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี เนื่องจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีจากการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2557 เป็นอันสิ้นสุดลง และเริ่มนับการเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ส่งผลให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก “ขาดตอน” เพราะการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้นั้น เป็นการดำรงตำแหน่งตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่หลังการเลือกตั้งในปี 2562

พล.อ. ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครั้งแรกตั้งแต่ 20 ส.ค. 2557 ตามรัฐธรรมนูญ 2557 และดำรงตำแหน่งเฉพาะกาล ตั้งแต่ 6 เม.ย. 2560 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 บทเฉพาะกาล และการดำรงตำแหน่งครั้งที่สอง หลังการเลือกตั้งตั้งแต่ 9 มิ.ย. 2562 ตามรัฐธรรมนูญ 2560

ดังนั้น การเป็นนายกรัฐมนตรีหลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ จึงเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใหม่ตามบทเฉพาะกาล ทำให้ในวันที่ 24 ส.ค. 2565 พล.อ. ประยุทธ์ ยังเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ครบ 8 ปี

เปิด 9 ตุลาการศาล รธน. ชี้ชะตา “ประยุทธ์”

อย่างไรก็ตาม การชี้ขาดวาระ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย

1. นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับเลือกมาโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด จบนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมดี) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นิติศาสตรมหาบัณฑิต ม.รามคำแหง (กฎหมายมหาชน)

2. นายจิรนิติ หะวานนท์ รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จบการศึกษานิติศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิต สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

3. นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง (พ.ศ. 2517) เนติบัณฑิตไทย สมัยที่ 28 สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา (พ.ศ. 2518) นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2525)

4. นายวิรุฬห์ แสงเทียน รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิต สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

5. นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด จบศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง

6. นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ จบนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา นิติศาสตรมหาบัณฑิต (สาขากฎหมายอาญา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ LL.M. (Master of Law, University of Pennsylvania, U.S.A.) ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงทางกฎหมายอาญา (Diplôme d’Etude Approfondies de sciences criminelles) ปริญญาเอก (เกียรตินิยม) Doctorat en droit pnal mention très honorable, l’University de Nancy II, France

7. นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐศาสตรบัณฑิต (การเมืองการปกครอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับสอง อักษรศาสตรมหาบัณฑิต (ภาควิชาประวัติศาสตร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยPH.D. (INTERNATIONAL STUDIES) WASEDA UNIVERSITY,ประเทศญี่ปุ่น

8. นายปัญญา อุดชาชน ผู้ทรงคุณวุฒิทางราชการ จบศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) นิติศาสตรบัณฑิต นิติศาสตรมหาบัณฑิต (กฎหมายมหาชน) M.A. (Public Administration), Detroit, Michigan, U.S.A. นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต (Doctor of Laws) ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (Doctor of Justice Administration)

9. นายนภดล เทพพิทักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางราชการ จบรัฐศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) Master of Arts (International Relations) , Northern Illinois University(Fulbright Scholarship)

การวินิจฉัยของ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร ต้องติดตามกันในวันที่ 14 ก.ย. 2565 นี้

**[

  • ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังผลวาระ 8 ปี นายกฯ 30 ก.ย.นี้ ](https://thaipublica.org/2022/09/court-to-hear-the-verdict-of-prime-minister/)**

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0