โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

“สายสีเขียว” 20 บาทตลอดสาย คุยได้แต่ยาก! ม.ค.67 เก็บ 15 บาทต่อขยาย

เดลินิวส์

อัพเดต 20 พ.ย. 2566 เวลา 19.59 น. • เผยแพร่ 20 พ.ย. 2566 เวลา 12.51 น. • เดลินิวส์
“สายสีเขียว” 20 บาทตลอดสาย คุยได้แต่ยาก! ม.ค.67 เก็บ 15 บาทต่อขยาย
“ผู้ว่าฯ กทม.” ชี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว 20 บาทตลอดสาย คุยได้แต่ยาก ยังติดสัญญาสัมปทาน รัฐต้องอุดหนุนรายได้ที่ลดลง ย้ำ กทม. ยังมีเรื่องหนี้ที่ต้องจัดการก่อน ส่ง มท. เคาะเข้า ครม.แล้ว ขณะที่ กลาง ม.ค.67 เก็บแน่ค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 อัตรา 15 บาทตลอดสาย

เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่กระทรวงคมนาคม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทาง กทม.ได้ส่งหนังสือมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อแจ้งว่า กทม.จะจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ในอัตรา 15 บาทตลอดเส้นทางเฉพาะส่วนต่อขยาย ประมาณกลางเดือน ม.ค.67 ทั้งนี้ยอมรับว่าแม้จะเก็บค่าโดยสารแล้ว แต่รายได้ก็ยังต่ำกว่าค่าจ้างเดินรถที่กทม.ต้องจ่ายให้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่ก็ยังดีกว่าไม่เก็บค่าโดยสาร

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรัฐบาลนั้น กทม.ในฐานะผู้รับผิดชอบสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีนโยบายที่จะผลักดันการลดค่าครองชีพประชาชน แต่เรื่องสำคัญของรถไฟฟ้าสายสีเขียวในขณะนี้ คือการแก้ปัญหาภาระหนี้สินที่มีอยู่กับเอกชนคู่สัญญา รวมไปถึงเรื่องการเสนอให้รัฐบาลช่วยรับภาระค่าใช้จ่ายงานโยธารถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย เหมือนเงื่อนไขการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นยอมรับว่าเรื่องค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย เจรจาได้ แต่เป็นเรื่องยาก เนื่องจากยังติดสัญญาสัมปทาน ซึ่งหากให้เก็บ 20 บาทตลอดสาย รัฐบาลก็ต้องเป็นผู้อุดหนุนในส่วนของรายได้ที่ลดลงไป

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น ขณะนี้ กทม. ได้เสนอเรื่องการชำระค่าจ้างการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท ไปยังกระทรวงมหาดไทย (มท.) ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ตามกระบวนการจำเป็นต้องเสนอให้กระทรวงมหาดไทยและ ครม.ตีความในการชำระค่าใช้จ่ายให้แก่เอกชน เนื่องจากพบว่าสัญญาส่วนนี้อยู่ภายใต้คำสั่ง ม.44 เกี่ยวกับการเจรจาต่อสัญญาสัมปทาน ส่งผลให้ กทม.ไม่สามารถนำเงินสะสมจ่ายขาดที่มีพร้อมอยู่ราว 5 หมื่นล้านบาท มาชำระให้แก่เอกชนได้ทันที เพราะตามกระบวนการต้องผ่านการพิจารณาจากกระทรวงมหาดไทย ครม. และนำกลับมาสู่สภา กทม.พิจารณาอนุมัติ.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น