โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คุยกับ วรญา มาคล้าย เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าหญิงหนึ่งเดียวของกุยบุรี

WWF-Thailand

เผยแพร่ 10 ต.ค. 2562 เวลา 17.01 น.

“เพราะการที่เราเกิดมาเป็นเพศอะไร ไม่ได้เป็นตัวกำหนดอาชีพของเรา” คุยกับ วรญา มาคล้าย เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าหญิงหนึ่งเดียวของกุยบุรี

.

.

ด้วยความฝันตั้งแต่เด็ก ๆ ประกอบกับความรักอิสระ และความมุ่งมั่นอันแรงกล้าว่าจะทำงานที่ได้ใช้ชีวิตกับผืนป่า ถึงแม้ว่าจะมีเสียงวิจารณ์ของใครต่อใครหลายคนที่บอกว่า “ผู้หญิงทำงานเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าไม่ได้หรอก” เธอได้ทลายกรอบอาชีพที่มีเส้นแบ่งระหว่างเพศเอาไว้ และพิสูจน์ให้เราเห็นในวันนี้ว่า วรญา มาคล้าย หรือ “ขวัญ” คือหนึ่งในเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าหญิงของไทย ที่ทำงานบนเส้นทางนี้มานานกว่าหนึ่งทศวรรษ

.

.

เส้นทางชีวิตของเหล่าผู้พิทักษ์ผืนป่า ต่างจากชีวิตของใครหลายคนอย่างลิบลับ นอกจากในหนึ่งเดือน เหล่าฮีโร่จะต้องค้างแรมในป่ากว่า 15 วันแล้ว ชีวิตของพวกเขายังต้องเสี่ยงอันตรายจากสัตว์ป่า และการบุกทำร้ายจากนักล่าผู้เป็นมนุษย์ด้วยกันเอง ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากชีวิตที่เสี่ยงอันตรายแล้ว สิ่งที่ต้องแลกมากับการประกอบอาชีพดังกล่าวที่อยู่เบื้องหลังการปกป้องผืนป่าราวกับปิดทองหลังพระ คือ “เวลา” ที่จะได้อยู่กับครอบครัวอีกด้วย จากการสำรวจทั่วพื้นที่ทวีปเอเชีย และแอฟริกากลางเมื่อปี 2017 พบว่า 1 ใน 7 ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าได้รับบาดเจ็บรุนแรงระหว่างปฏิบัติหน้าที่

.

.

แน่นอนว่าคุณขวัญ รับรู้ความจริงข้อนี้ดี แต่นั่นก็ไม่สามารถหยุดความมุ่งมั่นของเธอที่จะเป็นเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าได้ “พี่ทำงานที่กุยบุรีมา 4 ปีเศษ ส่วนแก่งกระจานอีก 7 ปีครึ่ง ที่ตัดสินใจมาทำงานนี้ คำตอบเดียวเลยก็คือ เพราะว่าชอบ ชอบงานสไตล์ลุย ๆ และเป็นอิสระ คือบางอย่างเราสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่มีใครมาตั้งกฎเกณฑ์กับเราได้ สิ่งที่พี่ชอบที่สุดในการทำงานคือ พี่ชอบการพักแรมในป่า ชอบธรรมชาติ”

.

.

“ตอนที่เดินในป่า เขาเรียกว่า Smart Patrol คือการเดินลาดตระเวินเชิงคุณภาพ หนึ่งคือเริ่มจากการมาส์กจุด และเก็บข้อมูลทุก ๆ 30 นาที ทั้งข้อมูลเชิงบวก และข้อมูลเชิงลบ ทุก ๆ วัน เราต้องส่งรูป และข้อมูลเข้าไปในระบบ SMART PATROL ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าสามารถวางแผนการเดินลาดตระเวนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” คุณขวัญบรรยายถึงการทำงานในป่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

.

.

เมื่อถูกถามว่าการต้องเข้าไปใช้ชีวิต และทำงานในป่านั้นยากลำบากแค่ไหน คุณขวัญตอบอย่างมั่นใจโดยที่ไม่ต้องคิดแม้แต่วินาทีเดียวว่า “ไม่ยากเลยค่ะ การใช้ชีวิตในป่าสำหรับเราคือง่ายมาก ถามว่ากลัวไหม สัตว์ป่าทุกชนิดมันก็น่ากลัวหมดอยู่แหละ แต่พี่ชอบแล้วก็ผูกพันกับมันมากกว่า พี่ถือว่าพี่ไม่ได้มาทำร้ายเขา แต่มาดูแลรักษาเขามากกว่า”

.

.

นอกจากการเดินลาดตระเวนในป่าแล้ว คุณขวัญยังทำงานเป็นหนึ่งในไกด์ชุมชนให้กับนักท่องเที่ยวเวลามาเที่ยวชมดูฝูงช้างป่า และกระทิง ณ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เธอได้อธิบายอย่างละเอียดเกี่ยวกับสัตว์ป่า ไม่ใช่เฉพาะช้างป่าเท่านั้น แต่เธอได้เล่าให้นักท่องเที่ยวฟังถึงประสบการณ์การทำงาน และเรื่องราวสุดตื่นเต้นของการเข้าป่าในแบบที่น้อยคนนักจะเคยได้สัมผัส

.

.

จากการทำงานในพื้นที่กุยบุรีแห่งนี้ สิ่งหนึ่งที่คุณขวัญรู้สึกคือ หลายคนผ่านมากุยบุรีเพียงเพื่อจะดูฝูงช้างป่า แต่สิ่งที่เธออยากให้หลายคนได้รับกลับไปยามที่ได้มาเยือนสถานที่สุดพิเศษแห่งนี้คือ “อยากปลูกฝังให้ทุกคน โดยเฉพาะเด็ก ๆ รักป่ามากขึ้น ไม่ใช่ว่ามากุยบุรีเพื่อสัตว์ป่าอย่างเดียว แต่อยากให้ทุกคนได้เห็นความสำคัญของพื้นที่ที่เรารัก และใช้ชีวิตเพื่อปกป้องผืนป่าแห่งนี้ให้ลูกหลานของเรายังมีโอกาสได้เห็นกัน”

.

.

คุณขวัญได้ทำให้เราเห็นว่า ไม่ว่าคนเราจะเกิดมาเป็นเพศอะไร หรือไม่ว่าใครจะวิจารณ์แบบไหน “เรา” คือคนที่รู้หัวใจตัวเองดีที่สุด และหากเรารักในการทำสิ่งใด ก็จะทำให้เราทำสิ่งนั้นออกมาได้ดีที่สุดในแบบของตัวเอง

.

.

WWF-ประเทศไทย ขอขอบคุณคุณขวัญสำหรับความเหน็ดเหนื่อยตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีในการทำงานอนุรักษ์ผืนป่า และเป็นฮีโร่ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของงานอนุรักษ์

#แพนด้าทำอะไร #WWFThailand #TogetherPossible

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0