โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

วิธีเก็บเงินอย่างไรให้ได้ 1,000,000 บาทแรก

เด็กการเงิน DekFinance

อัพเดต 06 มิ.ย. 2564 เวลา 10.22 น. • เผยแพร่ 06 มิ.ย. 2564 เวลา 10.22 น.

เราคงเคยได้ยินกันมาแล้ว ว่าล้านแรกนั้นยากที่สุด เพราะอะไร? เพราะมุมมองต่อเงินเรานั่นเอง หากสามารถเก็บได้ถึง 1 ล้าน นั่นหมายความว่าได้ก้าวข้ามผ่านมุมมองต่อเงินมาระดับหนึ่งแล้ว มีความคิดที่จะเก็บเงินแบบจริงจัง มันอาจจะยากมากสำหรับใครหลายคน หรือมันอาจจะง่ายสำหรับบางคน ขึ้นอยู่กับรายได้และสภาพแวดล้อมต่างๆ แต่สิ่งที่คนมี 1 ล้านมีเหมือนกันคือ เก็บเงิน!! หากหามาได้เยอะแต่ไม่เก็บเลย มันก็คงมีไม่ถึง หรือมีเกือบถึงแต่ก็หมดไปแบบรวดเร็ว

เราอ่านหนังสือกันมาหลายเล่ม หาวิธีเก็บเงินที่ดีที่สุด ดูเว็บต่างๆ กูรูต่างๆ พูดกันถึงเรื่องการออมเงิน แน่นอนว่ามันมีหลากหลายวิธีมากมายที่จะทำให้เราเก็บเงินหรือบริหารเงินได้แบบยั่งยืน

1. เราสามารถใช้เท่าที่ต้องใช้ก่อน แล้วเหลือเท่าไหร่คือเก็บไว้ลงทุน

2. เรากันเงินเก็บออกก่อนเลย เหลือเท่าไหร่แล้วค่อยใช้

3. การจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย

เราคงเห็นแล้วว่ามันมีหลายวิธีมาก แต่สุดท้ายแล้วการเก็บเงินที่ดีคือการเก็บเงินที่เรามีความสุขไปด้วย เรามักจะได้ยินคำพูดว่า อดปรี้ยวกินหวาน อดทนเก็บเงินตอนนี้จะได้สบายภายหน้า แน่นอนว่าคนรุ่นใหม่เมื่อได้ยินคำนี้แล้วคงส่ายหัวว่าไม่เอาล่ะสบายตอนนี้ด้วยไม่ได้หรอ คำตอบคือ ได้ !! เราสามารถเก็บเงินไปด้วยและมีความสุขกับมันไปด้วย พูดง่ายๆ คือเราสามารถเก็บเงินส่วนหนึ่งขณะที่ยังมีเงินไปเที่ยวต่างประเทศได้ เพราะชีวิตคนเรานั้นสิ่งที่ต้องการคือความสุขและเวลา หากตอนนี้ยังพอมีเวลาและแข็งแรงก็ควรทำในสิ่งที่อยากทำ เรามาดูวิธีเก็บออมง่ายด้านล่างกันเลย

วิธีการเก็บเงินที่มีความน่าสนใจและคิดว่าสามารถทำได้ง่ายนั่นก็คือ วิธี 50-20-30 (หรือ 50-30-20)

มาจากหนังสือ “All Your Worth: The Ultimate Lifetime Money Plan” โดยจะต้องแบ่งเงินทุกเดือนดังนี้

1. 50% ใช้กับสิ่งจำเป็น เช่น ค่าอาหาร ค่าไฟฟ้า ค่าเดินทางไปทำงาน ค่าน้ำมันรถ

2. 20% ใช้กับสิ่งที่ต้องการ เช่น ค่ามือถือเครื่องใหม่ ค่าทริปไปเที่ยวต่างประเทศ ค่าเสื้อผ้า Mid-year sale หรือสิ่งของที่อยากได้

3. 30% เก็บออม เงินที่เก็บไว้ลงทุนและออมไว้สำหรับเป้าหมายทางการเงิน ไม่ว่าจะเกษียณหรือซื้อสินทรัพย์

สูตรนี้ก็มีความยืดหยุ่นนะตามปัจจัยส่วนบุคคลเช่น เป้าหมายทางการเงิน อายุ รายรับ ร่ายจ่าย หนี้สิน แต่คิดว่าการแบ่งเงินแบบนี้น่าจะทำตามได้ไม่ยาก

คำถามต่อมาคือ หากไม่ใช้กฎ 50-30-20 แล้วเราควรเก็บเงินเท่าไหร่ดี?

การเก็บเงินขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละคน รวมถึงภาระและสภาพแวดล้อมอื่นๆ โดยส่วนใหญ่แล้วทุกคนควรเก็บเงินอย่างน้อย 20% ของรายรับ หรืออาจจะสามารถเก็บได้สูงถึง 50% ขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละคน ไม่มีสูตรสำเร็จว่าเราควรเก็บเงินกี่ % แบบเป๊ะ ๆ สิ่งที่สามารถทำได้คือเก็บเงินพอประมาณในสัดส่วนที่เรายังมีความสุขและสามารถทำได้แบบยั่งยืนไม่กดดันตัวเองมากเกินไป

แล้วมีอะไรต้องทำอีกบ้าง?

หากใช้วิธี 50-30-20 แล้วมันก็ยังมีสิ่งที่เรายังทำได้อีกเช่น

1) กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน

2) เริ่มวางแผน

3) ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น

4) เพิ่มรายได้ ไม่พึ่งพิงรายได้แห่งเดียว

5) มีวินัยในการทำตามแผนและทบทวนแผนตลอด

การลดรายจ่ายบางคนอาจจะมองว่ายาก แต่เราสามารถทำได้ง่ายๆ จากสิ่งรอบตัว วันนี้จะยกตัวอย่าง TV shows ของเมืองนอกที่มีความน่าสนใจมาก อย่าง Shop Well For Less / Eat Well for Less ซึ่งเป็นรายการทีวี โดยเขาจะไปหาครอบครัวที่ต้องการความช่วยเหลือในการเก็บเงิน พิธีกรเข้าไปและดูพฤติกรรมการใช้จ่ายของแต่ละคน จากนั้นรายการจะสลับของใช้ที่ใช้ประจำ กับของที่รายการเลือกมาโดยเอาแบรนด์ออก เพื่อทดลองว่าคนนั้นจะจำได้ไหม และตัดสินใจเปลี่ยนของที่ใช้เดิมไหม หากไม่ดูที่แบรนด์ หลายคนพอลองใช้ของที่รายการเลือกมาซึ่งเป็นแบบประหยัด บางอย่างก็ทำให้บางคนรู้สึกว่าคุณภาพไม่ต่างกันมาก หากเลือกประหยัดเงินได้ก็อาจจะเปลี่ยน มันคงไม่ใช่ทุกอย่างที่อยากเปลี่ยน จนตอนสุดท้ายรายการจะมาเฉลย คนส่วนใหญ่จะอึ้งไปเลยว่าของที่ใช้นั้นไม่ใช่แบรนด์ปกติของตัวเอง หรือบางคนรู้สึกได้แต่ยอมที่จะเปลี่ยนเพราะคุณภาพของถูกก็ไม่ได้แย่ “ของที่ดีไม่จำเป็นต้องแพง ของแพงไม่จำเป็นว่าดีจนคุ้มค่าเสมอไป”

ขอยกคำพูดอันนึงที่รู้สึกว่าโดนมากๆ “Whatever your income, always live below your means” ของ Thomas J. Stanley คนเขียนหนังสือ Millionaire Next Door

รู้วิธีการออมเงินง่ายๆตามด้านบนแล้ว คำถามต่อมาคือต้องเก็บเงินกี่บาทต่อปีถึงมีล้านแรก ?

รู้หรือไม่? ผลตอบแทนในตลาดหุ้นทั่วโลกโดยเฉลี่ยเติบโตปีละ 8%

หากคุณเก็บเงินดังนี้ก็จะมี 1,000,000 ได้แน่นอน

1) เก็บเงินปีละ 24,000 บาท (เดือนละ 2,000 บาท/ปี) จะใช้เวลาเก็บเงินทั้งสิ้นราว 19 ปี

2) เก็บเงินปีละ 36,000 บาท (เดือนละ 3,000 บาท/ปี) จะใช้เวลาเก็บเงินทั้งสิ้นราว 15 ปี

3) เก็บเงินปีละ 60,000 บาท (เดือนละ 5,000 บาท/ปี) จะใช้เวลาเก็บเงินทั้งสิ้นราว 11 ปี

4) เก็บเงินปีละ 96,000 บาท (เดือนละ 8,000 บาท/ปี) จะใช้เวลาเก็บเงินทั้งสิ้นราว 8 ปี

5) เก็บเงินปีละ 120,000 บาท (เดือนละ 10,000 บาท/ปี) จะใช้เวลาเก็บเงินทั้งสิ้นราว 7 ปี

**ผลตอบแทนไม่ได้คิดเงินลงทุนตั้งต้น และไม่ได้คิดแบบรายเดือน โดยระยะเวลาอาจจะนานกว่านี้หากเจอวิกฤติเศรษฐกิจ**

 

ติดตามบทความทางการเงินดีๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/dekfinance101

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0