หลายครั้งเวลาที่คุณรู้สึกดิ่งลงเหว ปั่นป่วนสับสน ใจไม่นิ่งและเหวี่ยงสุดๆ
สิ่งสุดท้ายที่คุณต้องการ คือใครสักคนที่มาบอกคุณว่า
‘คุณควร หรือไม่ควรรู้สึกยังไง’
ที่มาปัดความรู้สึกคุกรุ่นในใจคุณออกไปแล้วบอกว่า
‘คิดมากน่ะ’
ไม่มีอะไรหรอก
แถมยังมาชี้วิธี แนวทางอะไรสักอย่างให้คุณยึดตาม
ด้วยความเชื่อจากเขาว่าสิ่งนี้น่ะดี ช่วยเหลือได้ทุกอย่าง
- ไม่ว่าจะเจตนาดีหรือแอบแฝง
การพยายามเยียวยาจิตใจใครสักคนโดยยึดหลักของ ‘คนที่พยายามช่วย’
แทนที่จะเอา ‘ความรู้สึก’ ของคนที่ใจพังเป็นหลัก
หลายครั้ง มันไม่ได้ทำให้คนนั้นรู้สึกดีขึ้นหรอก
แต่มันกลับทำให้รู้สึกว่า ความรู้สึกพังๆ ที่มีอยู่
มันไม่ได้ถูกรับฟัง ‘หรือเราไม่มีค่าพอ แม้กระทั่งจะรู้สึกอะไรที่จริงสักอย่างเลยเหรอ?’
ตรงนี้แหละ therapist เลยเข้ามา
สามอาชีพที่เราบอกไป ไม่ว่าจะเป็น therapist, life coach หรือหมอดู
เราเชื่อว่า ถ้าทำด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์จริงๆ
สิ่งที่พวกเขาหวังจะมอบให้คนที่เข้ามาหา
ก็คือ ‘ความยินดีช่วยเหลือจากใจ’
แต่อาจด้วยกระบวนการที่ต่างกันออกไป
เราไม่ได้เขียนเรื่องนี้ เพื่อจะสาดโคลนใส่อีกสองอาชีพนั้น
แต่เราแค่จะพูดจากจุดที่เรายืนอยู่ นั่นคือการเป็น therapist ว่า
ในมุมมองของ therapist สิ่งแรกและแทบจะสำคัญที่สุดที่เรามอบให้คนไข้
คือการ ‘เข้าใจ และช่วยเขาในฐานะที่เขาเป็นเขา’
เราเลยไม่ค่อยเชื่อในวิธีของการ ‘ยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง ว่าตัวเองมีความรู้เยอะ ว่าตัวเองเก่งที่สุด ว่าตัวเองสามารถเห็นอนาคต’ ทั้งหมดทั้งมวลนั้น เพื่อใช้สิ่งที่ตัวเองมี บอกคนที่มาหาเป๊ะๆ ว่าควรต้องทำอะไรเพื่อให้คนที่มาหารู้สึกดีขึ้นและพ้นทุกข์ซะที
เราเข้าใจว่า วิธีแบบนี้ มันง่ายต่อการมีหลักอะไรมั่นคง ให้ความคิดที่วุ่นวายของคนที่มาหา
ได้เกาะและยึดเหนี่ยวไว้ในเวลาอันรวดเร็ว เปลี่ยนพฤติกรรมการปฏิบัติตัวเองตามคำสั่งเพื่อให้เข้าถึงความโล่งใจว่าได้ทำอะไรสักอย่างให้รอดจากความทุกข์แล้ว
สำหรับเรา
นี่อาจเป็นวิธีที่ทำให้คุณมีความสุขขึ้นมาได้
และพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพมาแล้วกับคนหลายคน ใช่ มันใช้ระยะเวลาอันสั้นแต่อาจเป็นการแก้ปัญหาผิวเผินจากปลายเหตุสำหรับบางคน
เราเชื่อในการใช้เวลารักษาระยะยาว
ค่อยๆ กะเทาะเปลือกที่คนไข้สร้างขึ้นเพื่อปกคลุมปิดบังรากของปัญหาที่แท้ในใจเขา
ไม่เร่งรัด
ไม่บีบบังคับ
ฟังเขาอย่างไม่ตัดสิน
ทุกอย่างเป็นไปตามระยะทางที่คนไข้รู้สึกว่ากำลัง ‘สบายใจ’
นั่นคือเหตุผลที่การมาหานักจิตบำบัด มันไม่สามารถเห็นผลได้ภายในชั่วโมงเดียว
‘มันคือการเดินทาง’
ที่ถึงแม้เราจะอยากให้มันราบรื่นขนาดไหน
มันก็ต้องมีบางช่วงที่ขรุขระ อาจเสียน้ำตา ความรู้สึกอาจระเบิด –เปราะบาง
เมื่อปมในใจถูกเปิด ความจริงที่น่าเกลียดบางอย่างอาจถูกค้นพบ
และมันยังไม่จบแค่นั้น เพราะเรายังต้องใช้เวลาปรับตัวอยู่กับความจริงนั้นได้โดยไม่ให้มันมารบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
ต้องใช้พลัง ต้องใช้ความกล้าหาญ
ในฐานะ therapist, เราอยากมั่นใจว่าปมที่เคยฝังแน่นในใจของคนไข้
ได้คลายและรับการเยียวยาเรียบร้อยแล้ว
ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า เขาจะสามารถตัดภาพเหตุการณ์หรือความรู้สึกที่เคยสั่นคลอนจิตใจออกไปได้ โดยสิ้นเชิง
เขาตัดอะไรแบบนั้นออกไปไม่ได้ เพราะยังไงนั่นก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำเขาไปแล้ว
สิ่งที่ทำได้ก็คือ ทำความเข้าใจ เรียนรู้ มองมันด้วยมุมมองใหม่ และช่วยกันสร้างทักษะฝึกปรือให้เขาดูแลความคิดลบๆ ของเขาให้ได้
เราคอยประคองเป็นเพื่อนเขาไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งที่ เขาไม่ต้องการเราแล้ว
เขาควบคุมรู้ทันละเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก การกระทำทั้งหลายของเขาด้วยตัวเองแล้ว
ให้เขาอยู่ได้โดยไม่ต้องยึดเราเป็นที่พึ่งอีกต่อไปแล้ว
‘นั่นคือความภูมิใจของเรา’
แต่เหนือสิ่งอื่นใด
‘มันไม่มีอะไรจะสำคัญไปกว่า เรื่องราวชีวิตที่พิเศษของคนไข้’
ถ้าเป็นมุมมองของจิตแพทย์สมัยก่อน เขาจะยึดหลักว่าจิตแพทย์เองเป็นเหมือนโค้ชที่สอนคนไข้ให้เป็นไปในแบบที่เขาเห็นว่าควรจะเป็น (คล้ายๆ life coach ตอนนี้นั่นแหละ)
แต่ตอนนี้เกือบทุกที่ รวมทั้งเรา ได้ใช้หลัก post-modern therapy ในการรักษา
นั่นคือเรามอบ power ทั้งหมดแก่คนไข้
และค่อยๆ เยียวยาไปตามจังหวะที่คนไข้ต้องการ
เพราะฉะนั้นคนไข้แต่ละคน จะไม่มีทางใช้วิธีรักษาหรือแนวทางความคิด การพูดจาเหมือนกันเป๊ะได้หมดเลย
คนไข้แต่ละคนมีความพิเศษเฉพาะตัว และเราให้เกียรติในแต่ละตัวตนของพวกเขา
ท้ายสุดที่เราอยากฝากไว้คือ
คุณไม่จำเป็นต้องรู้สึก ‘เป็นบ้า’ ถึงจะมาหา therapist ได้
แต่แค่รู้สึกว่ามีความรู้สึกบางอย่าง กระทบกระเทือนจิตใจแทบจะทุกวินาที
กระทบกระเทือนการใช้ชีวิตประจำวันของคุณ
หรือกระทบความสัมพันธ์ของคุณกับคนรอบข้างเป็นอย่างมาก
คุณก็เข้ามาคุยกับ therapist ได้แล้ว
เมื่อเรารู้สึกป่วย ไม่สบายบางอย่างทางร่างกายเราก็รีบไปหาคุณหมอแล้ว
นี่มันลึกเข้าไปข้างในความคิดและจิตใจเลยนะ ทำไมเราจะไม่ให้โอกาสหัวใจของเราได้รับการเยียวยาให้หายดีบ้าง
ติดตามบทความของ Beautiful Madness by Mafuang ได้บน LINE TODAY ทุกวันอังคาร
ความเห็น 4
นับว่าเป็นวิชาทางการแพทย์อย่างหนึ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ดีเป็นอย่างมาก เพราะว่านั่นสามารถที่จะโน้มน้าวจิตใจและชี้นำผู้ที่ป่วย เพื่อที่ให้ผ่อนคลายเพื่อให้เป็นไปในทางที่ดีได้เหมือนกัน.
03 ก.ย 2562 เวลา 23.39 น.
Rainny L.(อิมกึมบี)🌦
ใช่แล้วค่ะ อย่าพยายามเป็นหมอจิต เพราะคุณไม่ใช่ค่ะ แค่นั่งรับฟังเขาก็ถือว่าดีแล้ว เพราะเราไม่ใช่เขา เราไม่ได้ไปรับรู้ เห็นเหตุการณ์นั้นๆอย่างลึกซึ้ง และที่สำคัญ คุณไม่ใช่หมอ ไม่มีความรู้พอที่จะไปช่วยเขาได้ค่ะ
03 ก.ย 2562 เวลา 13.35 น.
เห็นด้วยกับการสนับสนุนให้มีจิตแพทย์คอยให้คำปรึกษาโดยไม่ถูกกล่าวหาว่าบ้า
03 ก.ย 2562 เวลา 13.32 น.
Liyunhoong
เขียนดีค่ะ ขอชื่นชมความอดทนของคุณหมอ อ่านแล้วรู้ว่าคุณหมอมีจิตที่ต้องการเข้าถึงคนไข้และเพื่อหาวิธีเยียวยาจนคนไข้ดำเนินชีวิตต่อไปได้
03 ก.ย 2562 เวลา 13.08 น.
ดูทั้งหมด