โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"เรียนถูกที่ ชีวิตแฮปปี้" เปิดใจ 4 รุ่นพี่วิทยาการคอมฯ ม.เกษตรฯ เรียนคอมฯ แบบรู้ลึก รู้จริง เพิ่มโอกาสทำงานต่างประเทศ

Dek-D.com

อัพเดต 08 ก.พ. 2567 เวลา 02.10 น. • เผยแพร่ 07 ก.พ. 2567 เวลา 03.24 น. • DEK-D.com
เพราะที่วิทยาการคอมพิวเตอร์ มีเรื่องราวน่าสนใจทั้งวิชาเรียน ทุนการศึกษา ฯลฯ พี่ๆ นิสิตจึงมาแชร์ประสบการณ์
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ใครๆ ก็อยากเรียนด้านคอมพิวเตอร์ แต่คำถามที่ยาก คือ จะเลือกเรียนทางไหนดี เพราะมีทั้งวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ แต่ละด้านก็มีจุดเด่นในการเรียนและการทำงานแตกต่างกัน ซึ่งใครที่อยากเรียนด้านนี้ก็ต้องค้นหาตัวเองว่ามีความชอบด้านไหนเป็นพิเศษ และทำความเข้าใจหลักสูตรให้ดี เพราะเป็นพื้นฐานที่จะนำไปต่อยอดสู่อาชีพเป้าหมายได้

ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน ได้เริ่มจัดการเรียนการสอนด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ โดยจะรับนิสิต เป็นรุ่นที่ 40 ในปีการศึกษา 2568 มีการพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัย มีความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำ และห้องปฏิบัติการเฉพาะทางของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เรียกว่ามาเรียนคอมฯ ได้รับทั้งวิชาการและทักษะที่อัดแน่น เหมาะกับน้องๆ ที่ชอบทั้งด้าน ซอฟต์แวร์ คอมพิวเตอร์กราฟิก และ AI เหมือนกับ 4 รุ่นพี่จากวิทยาการคอมพิวเตอร์ ม.เกษตรฯ ไปทำความรู้จักกับพี่ๆ ทั้ง 4 คน ที่มาเล่าประสบการณ์การเรียนที่ CSKU บางเขน กัน!

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ม.เกษตรศาสตร์ มีอะไรน่าสนใจบ้าง

ในสายงานด้านคอมพิวเตอร์ มีหลากหลายสาขาให้น้องๆ เลือกเรียน แต่ถ้าใครชอบด้านซอฟต์แวร์ ตลอดจนเทคโนโลยี AI ที่สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ม.เกษตรศาสตร์ ช่วยให้ฝันน้องๆ เป็นจริงได้

หลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์ ม.เกษตรศาสตร์ ชูจุดเด่น 3 ด้านที่น้องๆ จะได้เรียน ซึ่งครอบคลุมทักษะจำเป็นในสายงาน คือ

  • Software Developmentคือ สร้างทักษะด้านโปรแกรมมิ่ง การพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาควิชามีความเข้มแข็งมากว่า 36 ปี
  • Computer Graphics ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี Metaverse, Virtual Reality, Augmented Reality, Animation และ การพัฒนาเกม โดยมีเครื่องมือที่ทันสมัย และอาจารย์ที่มากประสบการณ์
  • Artificial Intelligence (AI) คือ การสร้างปัญญาประดิษฐ์ และนำ AI มาใช้ในการเรียนการสอน

ตลอด 4 ปีที่เรียนในสาขานี้ น้องๆ จะไม่เจอวิชาวิทยาศาสตร์ให้ปวดหัว และได้เรียนคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ และ คอมพิวเตอร์ กันตั้งแต่ปี 1 เลยทีเดียว พร้อมด้วยวิชาเลือกที่น่าสนใจหลากหลายสาขา ให้เลือกเรียนได้ตามความถนัด ดังนั้นใครที่จบจากวิทยาการคอมพิวเตอร์ ม.เกษตรศาสตร์ ก็จะจบไปทำงานอย่างมั่นใจ เพราะให้ทั้งประสบการณ์ทั้งในและนอกห้องเรียน มีโอกาสได้ฝึกงานที่ต่างประเทศซึ่งได้ส่งนิสิตไปฝึกงานในต่างประเทศมากกว่า 10 ปี โดยมีงบสนับสนุนจากภาควิชา/คณะ/มหาวิทยาลัย ให้ได้ไปเก็บเกี่ยวความรู้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายเลยทีเดียว และก่อนจบก็ยังมีโปรเจคจบ ที่ต้องประมวลความรู้จากการเรียน 4 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าบัณฑิตที่จบจาก จะเก่งรู้รอบด้าน ตัวจริง เสียงจริง!

4 ที่มาของความฝัน กับการเลือก "วิทยาการคอมฯ ม.เกษตรฯ" ต่อยอดให้ฝันเป็นจริง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

พี่ทีน : สวัสดีครับ ผมทีน ธิติ ทวีสิน ปัจจุบันอยู่ชั้นปี 4 สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ภาคปกติตอนที่เลือกคณะ ผมชอบเรียนคอมพิวเตอร์ และอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ ก็หาข้อมูลสาขาที่เกี่ยวกับคอมฯ ไว้หลายที่ แต่เลือกที่ ม.เกษตรศาสตร์ เพราะวิชาเรียนน่าสนใจ ทั้งด้านเว็บ เทคโนโลยีต่างๆ คิดว่าจะทำให้เราเป็นโปรแกรมเมอร์ที่เก่งได้

พี่โอปอล์ :สวัสดีค่ะ ชื่อรินลดา ติระศิริชัย หรือโอปอล์ นะคะ ตอนนี้อยู่ ปี 4 วิทยาการคอมพิวเตอร์ ภาคพิเศษค่ะ ตอน ม.ปลาย เคยลงเรียนเขียนโปรแกรมพื้นฐานแล้วสนใจด้านนี้ อยากเรียนซอฟต์แวร์ ซึ่งดูหลักสูตรแล้วก็ตรงกับที่เราอยากเรียน ที่สำคัญ ไม่ต้องเรียน ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยาซึ่งเป็นวิชาที่เราไม่ถนัด ทำให้ได้ใช้เวลาไปเรียนกับวิชาที่จำเป็นจริงๆ ซึ่งได้เรียนคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ปี 1 เลย

พี่แน็ท : สวัสดีครับ ผมแน็ท ปริภัทร์ มะลีแก้ว อยู่ชั้นปี 3 วิทยาการคอมพิวเตอร์ ภาคพิเศษครับ ผมก็มีความฝันว่าอยากเรียนและทำงานด้านคอมพิวเตอร์ตั้งแต่เด็กเหมือนกัน และจะทำคะแนนได้ดีในวิชาคอมพิวเตอร์ ตอนที่ตัดสินใจว่าจะเข้าที่ไหนดี ได้มีโอกาสมาที่กรุงเทพฯ บ่อย ช่วงปิดเทอม ก็ได้ลองเข้ามาใน ม.เกษตรฯ ก็ชอบบรรยากาศของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มากๆ และวิชาเรียนก็มีให้เลือกเยอะ เดินทางสะดวก หลายๆ เหตุผลรวมกัน ผมก็ตัดสินใจที่จะเรียนครับ ผมยื่นตั้งแต่รอบ 1 เลย แต่ตอนนั้นไม่ติด มาติดรอบ 2 โควตา

พี่จีโน่ : สวัสดีครับ ผมชื่อ ชญานิน รติรุ่งโรจน์ ชื่อเล่น จีโน่ครับ ผมอยู่ปี 1 สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ภาคปกติครับ ผ่านเข้ามาจากรอบ Portfolio ตอน ม.ปลาย ผมชอบไปแข่งขันด้านฮาร์ดแวร์ เลยคิดว่าเราอยากเพิ่มทักษะด้านซอฟต์แวร์เข้าไปด้วย ก็มองว่าที่ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ม.เกษตรศาสตร์ น่าจะซัพพอร์ตผมได้ดีที่สุด ซึ่งตอนสัมภาษณ์ผมก็ได้พูดคุยกับอาจารย์ ยิ่งทำให้มั่นใจขึ้น

บอกเล่าประสบการณ์วิชาเรียนที่ชอบในห้องเรียน

พี่ทีน : วิชาเรียนมีความน่าสนใจมาก เพราะเปิดกว้างและมีหลายศาสตร์ให้เลือกเรียนของผมชอบตั้งแต่วิศวกรรมซอฟต์แวร์เบื้องต้นเลย เพราะได้เรียนเกี่ยวกับการบริหารจัดการ การพัฒนาซอฟต์แวร์ ทำยังไงถึงสามารถสร้างซอฟต์แวร์ให้มีประสิทธิภาพ ตรงเวลา และหาวิธีวัดผลว่าโปรแกรมมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นวิชาที่สำคัญมาก

พี่โอปอล์ :ตอนที่เข้ามาเรียนปี 1 ต้องปรับตัวเยอะมาก มีเรียนวิชากึ่งฮาร์ดแวร์บ้าง ซึ่งเราไม่ถนัดก็จะรู้สึกว่ายากในช่วงแรก แต่พอเรียนมาจนถึงชั้นปีสูง ได้เรียนวิชาเกี่ยวกับ XR (Extended Reality) เกี่ยวกับการทำเกม หรือใช้เทคโนโลยี เช่น VR/AR การพัฒนา VR/AR ก็ทำให้เราสนุกขึ้น จนรู้สึกได้ว่านี่เป็นทางของเราแล้วค่ะ และถ้ามีโอกาสทำงานก็จะทำงานสายนี้ต่อไป

พี่แน็ท : ของผมจะแตกต่างจากคนอื่นนิดหน่อย เพราะชอบไปทางวิชา Business เรียนเกี่ยวกับการคิดแบบธุรกิจ ได้เลือกตอนอยู่ปี 3 ก็ทำให้เราฝึกทักษะด้านอื่น และยังได้เจอเพื่อนเก่งๆ อีกด้วย ซึ่งผมก็ชอบบรรยากาศการเรียนด้วย เพราะเพื่อนๆ ช่วยกันเรียนครับ

พี่จีโน่ : ส่วนของผมวิชาที่ชอบจะเป็นวิชาด้านโปรแกรม เพราะชอบฮาร์ดแวร์มากกว่า ได้ลงมือปฏิบัติจริง และมีโอกาสได้ทำงานกับอาจารย์ที่คณะด้วย เป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ ครับ

ประทับใจอะไรที่สุดตั้งแต่เรียนมา

พี่ทีน :สิ่งที่ประทับใจ คือ ภาควิชามีหลายวิชาให้เลือกเรียนมากๆ โดยเฉพาะวิชาเฉพาะเลือก ที่เลือกเรียนได้ตามความถนัด เช่น เขียนโปรแกรม ถ้าไม่ชอบการเขียนโปรแกรม ก็มีสายกราฟฟิก หรือสายบริหารก็มีด้วย

พี่โอปอล : คิดเสมอว่ามาเรียนคือดีที่สุด เป็นคนชอบเขียนโปรแกรม ก็ได้เรียนเขียนโปรแกรม ได้โฟกัสวิชาที่ชอบ และได้แตกความรู้ไปหลายๆ ด้าน เรียนที่เดียวครบ!

พี่แน็ท :การเรียนด้านคอมพิวเตอร์ เครื่องมือดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ที่ภาควิชามีเครื่องมือที่ทันสมัย และเอื้อต่อการเรียนมากๆ ตอนมัธยมอยากทำอะไร ต้องหาเอง แต่เมื่อมาเรียน การซัพพอร์ตจากภาควิชา ทำให้สะดวกสบายและใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ใครไม่มีคอมฯ ยืมภาควิชาฯ ได้ด้วย

พี่จีโน่ : ที่ผมประทับใจที่สุดในทุกๆ วิชาที่เรียนคือ อาจารย์ให้ความรู้และให้ความเป็นกันเอง อะไรที่ไม่เข้าใจ สามารถถามได้ตลอด อย่างอื่นก็เหมือนที่รุ่นพี่บอก มีเครื่องมือให้พร้อม มีคอมพิวเตอร์ให้นิสิตได้เรียนสบายๆ

มีอะไรอีกบ้างที่ได้จากวิทยาการคอมพิวเตอร์ ม.เกษตรฯ แล้ว "ว้าว" สุดๆ

พี่ทีน :ผมยกให้เรื่องของอาจารย์ที่ปรึกษาครับ นิสิตทุกคนจะมีอาจารย์ที่ปรึกษา ที่สามารถปรึกษาได้ทุกเรื่อง รวมถึงเรื่องทุนการศึกษา ที่อื่นอาจจะเป็นทุนค่าครองชีพ แต่มีทุนหลายประเภท มีทุนให้เรียนภาษาที่ 3 ด้วยครับ ทำให้เราจบออกไปมีพื้นฐานภาษาที่ 3 โดยไม่ต้องออกเงินเรียนเองข้างนอก ซึ่งจะได้เรียนภาษาที่ 3 จากโครงการของมหาวิทยาลัย เช่น ภาษาจีน ภาษาฝรั่งเศส ภาษาญี่ปุ่น ฯลฯ เป็นนโยบายของมหาวิทยาลัยเพื่อให้นิสิตได้ภาษาที่ 3 ด้วย ถ้าใครสนใจก็บอกอาจารย์ได้เลย

พี่โอปอล :ของโอปอล์ก็จะเป็นเรื่องสหกิจที่สามารถขอไปฝึกงานที่ต่างประเทศได้ และให้ทุนมาจำนวนหนึ่งเพื่อให้เราใช้ชีวิตที่ต่างประเทศ โดยมหาวิทยาลัยที่ไปฝึกงานก็จะเป็นมหาวิทยาลัยที่ทำ MOU กับภาควิชาไว้ ซึ่งมีหลายที่มาก จึงไม่ต้องวุ่นวายหาเอง และเมื่อไปถึงก็มีอาจารย์ดูแลอย่างดี รวมถึงได้ฝึกงานกับอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ เป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ ค่ะ

ในแต่ละปี มีทุนให้ไปฝึกงานสหกิจที่ต่างประเทศหลายทุน หากมีจำนวนที่มากเกินกว่ากำหนด ก็จะมีกระบวนการคัดเลือก โดยดูจาก ทักษะการเขียนโปรแกรม, GPAX และความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ รวมถึงด้านจิตใจ ว่ามีความพร้อมที่จะไปต่างประเทศหรือไม่

พี่แน็ท :ผมคิดเห็นเหมือนพี่ๆ ครับ เรื่องทุนมีเยอะมากๆ หลากหลายประเภท ทุกคนสามารถขอได้ ไปต่างประเทศก็ขอทุนซัพพอร์ตได้อีก นอกจากนี้ ยังสามารถฝึกทำงานจริง เพราะที่ภาควิชาฯ จะรับงานนโยบายจากมหาวิทยาลัย มีงานจากมหาวิทยาลัยมาให้ทำเป็นประจำ เช่น ทำ Application, Website ฯลฯ ใครที่อยากได้ประสบการณ์การทำงานจริง และได้ทำงานร่วมกับอาจารย์ก็สามารถร่วมทำงานชิ้นนั้นได้ ซึ่งดีมากๆ เพราะได้รายได้ด้วย

นอกจากนี้ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ยังสนับสนุนการแข่งขัน ประกวด หรือทำกิจกรรมนอกห้องเรียน ในแต่ละปีส่งนิสิตไปแข่งได้รับรางวัลกลับมามากมาย ทำให้ได้ประสบการณ์นอกห้องเรียนสามารถนำมาใช้กับการเรียนและการทำงานในอนาคตได้ ซึ่งในระยะสามปีต่อจากนี้ ทางภาควิชาจะสนับสนุน Startup อย่างเต็มที่ อีกด้วย

โครงการปริญญาตรีสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ภาคพิเศษ ได้จัดกิจกรรมและให้การสนับสนุนนิสิตภาคพิเศษ ในหลากหลายรูปแบบ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

1) ทุนการศึกษาสำหรับนิสิตชั้นปีที่ 1 ใน 2 ภาคการศึกษา หากนิสิตเรียนไม่ช้าไปกว่าแผนการเรียนที่กำหนดไว้

2) ทุนผลการเรียนดีเด่น ได้ A 3 รายวิชา และ 5 รายวิชา

3) การหาที่ฝึกสหกิจศึกษาให้

4) โครงการความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อเพิ่มโอกาสในการหางานให้กับนิสิต เช่น SCB, SaleForce, CP All, CPF ฯลฯ

5) ทุนสนับสนุนการไปฝึกสหกิจศึกษาในต่างประเทศ (ประมาณ 15-30 ทุน)

6) สามารถสมัครเข้าโครงการแลกเปลี่ยน ในต่างประเทศ (ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อินเดีย และ ญี่ปุ่น)

7) หากสนใจไปเรียนต่อต่างประเทศ มีบริการหาอาจารย์ที่ปรึกษาและทุนการศึกษาให้

8) ทุนนำเสนอผลงานทางวิชาการ ทั้งในและต่างประเทศ

9) ทุนผู้ช่วยสอน ทุนผู้ช่วยวิจัย

10) ทุน Summer Camp ต่างประเทศ 2 สัปดาห์

พี่จีโน่ : พูดถึงเรื่องการซัพพอร์ต สนับสนุนจริงทุกด้าน ของผมจะเรียนและทำงานด้าน IOT ก็มีสนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์ที่ใช้เรียนตลอดทั้งเทอม

ประสบการณ์การฝึกงาน เป็นยังไงบ้าง

พี่ทีน :ผมได้ฝึกงานทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ในประเทศไทยฝึกงานที่ บริษัท SS&C เป็นบริษัทเกี่ยวกับไฟแนนซ์ระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นพันธมิตรกันมากว่า 10 ปี มีระยะการฝึกงานเป็นเวลา 3 เดือน เมื่อฝึกเสร็จก็ได้ไปฝึกงานที่ National Central University เป็นมหาวิทยาลัยที่มี Ranking ในอันดับ 5-6 ของไต้หวัน ได้ฝึกงานการเขียนเว็บไซต์ Front End Developer กับห้องแลปด้านคอมพิวเตอร์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของ NCU ซึ่งการฝึกงานที่ต่างประเทศ ทำให้ผมได้ภาษาที่ 3 กลับมาด้วย

สำหรับสถานที่ฝึกงาน ทางภาควิชามีบริษัทชั้นนำทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ให้นิสิตสามารถส่งใบสมัครเข้าไปฝึกงานได้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจ เทรดดิ้ง ธนาคาร และ กลุ่มบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งหลังจากฝึกงานแล้ว ก็มีโอกาสที่บริษัทเล็งเห็นความสามารถและรับเข้าทำงานได้

พี่โอปอล์ :เทอมที่แล้วได้ไปฝึกสหกิจที่ประเทศเกาหลีใต้ ที่ National Kyungpook University ฝึกงานในส่วนของห้องแลบที่ได้รับโจทย์จากบริษัทต่างๆ ในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งช่วงที่ไปนับว่าโชคดีที่ได้ปูความรู้เรื่อง XR มาค่อนข้างแน่นจากรายวิชาที่เรียน ทำให้เราต่อยอดทำงานได้เลย ด้วยระบบการทำงานของเกาหลี ที่มีความกดดันสูง ก็สามารถผ่านไปได้ด้วยดีและได้รับคำชมจากอาจารย์ว่ามีทักษะสูง และยังมีโอกาสได้ทำงานวิจัยส่งงานประชุมวิชาการที่ต่างประเทศ ICCT2023 ณ.Sunway University, Malaysia และได้รับรางวัล Best paper award นับว่าเป็นการฝึกงานที่คุ้มค่าและประทับใจมากค่ะ

แล้วน้องๆ ที่ยังไม่ได้ฝึกงาน วางแผนไว้ยังไงบ้าง

พี่จีโน่ :ผมคงจะฝึกงานกับบริษัทที่ภาคควิชาฯได้จัดหาไว้ให้แล้ว เพราะมั่นใจเรื่องคุณภาพและสถานประกอบการที่เป็นพันธมิตรของภาควิชาและมหาวิทยาลัยครับ

พี่แน็ท : ส่วนของผม อยากหาบริษัทเองครับ ตำแหน่งที่อยากทำไม่ได้มีแค่ด้าน Software แต่อยากทำงานด้าน Data และ Business ด้วย ตอนนี้ก็ดูๆ ไว้หลายบริษัทครับ ซึ่งที่ภาควิชาก็ซัพพอร์ตให้ ถ้าหาบริษัทเอง ภาควิชาก็จะช่วยสกรีนให้ว่าบริษัทเหมาะสมหรือไม่ เนื้อหางานที่ต้องทำเป็นอย่างไร ทำให้มั่นใจว่าเราจะได้ที่ฝึกงานที่ดีและเหมาะสมกับความรู้และศักยภาพของเรา

รู้หรือไม่! ที่วิทยาการคอมพิวเตอร์ ม.เกษตรฯ มีความร่วมมือกับบริษัทต่างๆ ในการรับนิสิตเข้าฝึกงาน หรือ หากนิสิตมีความประสงค์ฝึกงานในบริษัทใดเป็นพิเศษ ก็สามารถหาบริษัทฝึกงานเองได้

อยากฝากอะไรถึงน้องๆ ที่กำลังค้นหาตัวเองและเลือกที่เรียนอยู่

พี่ทีน : น้องๆ ที่อยากเรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์หรือด้านเทคโนโลยี เลือกได้เลย นอกจากไม่ต้องเรียนฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา แล้ว วิชาแคลคูลัสก็เรียนเท่าที่จำเป็น น้องๆ จะได้ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ปี 1 และเมื่อปีสูงขึ้นก็ได้เลือกเรียนวิชาที่เราสนใจ มีครบทุกอย่างครับ!

พี่โอปอล์ : วิทยาการคอมพิวเตอร์ ม.เกษตรฯ ไม่ได้มีแค่ Coding อย่างเดียว ชอบอะไร แบบไหน มาเลือกเรียนได้เลย

พี่แน็ท :อัตราการแข่งขันสูง เพื่อนๆ ที่เข้ามาก็เพียบพร้อม มีความสามารถ ทำให้ระหว่างเรียน เพื่อนช่วยกันเรียน นอกจากนี้ยังมีอาจารย์ที่ใจดี รุ่นพี่น่ารัก เครื่องมือและห้องปฏิบัติการก็รองรับนิสิตได้ เรียกว่าเรียนได้อย่างสบายใจ ก็ขอชวนน้องๆ มาสมัครกันเยอะๆ ครับ

พี่จีโน่ :ใครสนใจซอฟต์แวร์แต่ก็ยังสนใจฮาร์ดแวร์ด้วย มาเรียนได้ครับ มาตรฐานเรื่องหลักสูตร ดีมากๆ ครับ!

เป็นยังไงบ้างคะ พี่มิ้นท์ได้พูดคุยกับน้องๆ ทั้ง 4 คน ก็รับรู้ได้ว่าน้องๆ ได้เลือกเรียนในสาขาที่ถูกต้องและถูกใจจริงๆ แม้ว่าทั้ง 4 คน จะมีความฝันและความชอบกันคนละด้าน แต่เมื่อมาอยู่ที่สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ม.เกษตรศาสตร์ ก็พบว่าสามารถสนับสนุนความฝันให้ทุกคนได้จริง ไม่ว่าจะเป็นความรู้ การเสริมทักษะหลายๆ ด้าน ทุนสนับสนุน ความเชี่ยวชาญของอาจารย์ เครื่องมือที่ทันสมัย ตลอดจนนโยบายในการจัดหาแหล่งฝึกงานทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งปีหน้าจะเป็นการเฉลิมฉลองของการเข้าสู่ปีที่ 40 ของการเรียนการสอน วิทยาการคอมพิวเตอร์ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งจะเป็นการรวมพลังครั้งสำคัญของศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน สถานประกอบการ และ มหาวิทยาลัยพันธมิตรในต่างประเทศ

หากถ้าน้องๆ คนไหนกำลังมองหาสาขาที่สอนด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ก็มาสมัครได้เลย เปิดรับทุกรอบ! มีทั้งภาคปกติ-ภาคพิเศษ ซึ่งทั้ง 2 ภาคนี้ เรียนโดยใช้หลักสูตรเดียวกัน! สำหรับรอบโควตา จะเปิดรับสมัคร 15 ก.พ. - 21 มี.ค.67 นี้ และรอบ Admission สมัคร 6-12 พ.ค.67