โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

NFT Books ประตูธุรกิจใหม่ของ “นักเขียน”

นิตยสารคิด

อัพเดต 05 ต.ค. 2564 เวลา 03.41 น. • เผยแพร่ 05 ต.ค. 2564 เวลา 03.41 น.
NFT-book-cover
NFT-book-cover

ใครที่ยังไม่รู้จัก “NFT” หรือ Non-fungible Token ต้องบอกว่า คำนี้เริ่มฮิตขึ้นมาในโลกของการลงทุนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2021 อันเป็นเสมือนภาคต่อของ “บล็อกเชน” และ“สกุลเงินคริปโต” เพราะ NFT คือการนำผลงานศิลปะดิจิทัลมาขายในลักษณะโทเค็นที่มีหนึ่งเดียว ไม่สามารถมีอะไรมาแทนที่ได้ เหมือนกับงานศิลปะจับต้องได้ที่ผลงานต้นฉบับมีเพียงชิ้นเดียวบนโลก เพราะอาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนทำให้ NFT สามารถเข้ารหัสพิสูจน์ตัวตนได้ว่าเป็นของแท้ และไม่สามารถแฮ็กเปลี่ยนข้อมูลกันได้ง่าย ๆ โดยผู้ซื้อจะใช้สกุลเงินคริปโตในการซื้อ NFT (ปัจจุบันที่นิยมใช้เข้าซื้อที่สุดคือสกุล ETH อีเธอเรียม)

ที่ผ่านมา NFT ฮิตมากในวงการดิจิทัลอาร์ต ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เพลง เกม กระทั่ง ‘มีม’ ก็นำมาขายได้ ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะงงว่า เมื่อขายไปแล้ว ภาพดิจิทัลเหล่านั้นจะถูกกวาดล้างออกจากอินเทอร์เน็ต นำมาโพสต์ใหม่กันไม่ได้แล้วหรือเปล่า คำตอบก็คือ “ไม่ใช่” เพราะโลกอินเทอร์เน็ต ทุกอย่างสามารถกด ‘copy’ และ ‘save as’ ได้ทั้งนั้น เพียงแต่ NFT ช่วยให้ศิลปินดิจิทัลได้ขายงานที่เทียบได้กับ “ของแท้” และแฟน ๆ หรือนักสะสมสามารถอ้างตัวได้ว่าตนเป็น “เจ้าของ” งานของแท้นั้น (โดยศิลปินยังคงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อยู่ เหมือนกับงานศิลปะแบบจับต้องได้)

cropped-image-young-smiling-woman-holding-bitcoin-metal-coin-golden-color-future-currency-sit-white-desk.jpg

หนังสือ NFT ไม่เหมือนกับ e-Book
ด้วยคอนเซ็ปต์ดังกล่าว ทำให้ NFT ถูกนำมาใช้กับอะไรก็ได้ รวมถึง “หนังสือ” ด้วย ในกรณีของหนังสือดิจิทัล ความแตกต่างจาก e-Book คือ หากผู้ซื้อซื้อสิทธิ์อ่านบน e-Book ผู้ซื้อจะเข้าถึงหนังสือเล่มนั้นได้ไปจนกระทั่งแพลตฟอร์มหมดสัญญากับเจ้าของหนังสือและลบหนังสือเล่มนั้นออกไป และทุกคนที่คลิกเข้ามาอ่านจะได้อ่านไฟล์เดียวกัน ไม่มีใครสัมผัสถึงความเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง

แต่หนังสือ NFT จะเปรียบได้กับการซื้อ “หนังสือจับต้องได้” ผู้ซื้อจะมีสิทธิ์ครอบครองตลอดไป (หรือจนกว่าจะขายต่อ) เพราะเป็นโทเค็นที่มีจำกัด นักเขียนหรือผู้ขายสามารถกำหนดได้ว่าจะจัดทำหนังสือ NFT กี่เล่ม เช่น มีจำกัดเพียง 100 เล่ม (โทเค็นจะมีเลขกำกับเพื่อรันไว้ว่าเป็นเล่มที่เท่าไรในล็อตนี้) เหมือนกับการพิมพ์หนังสือจับต้องได้ที่มีการ “พิมพ์ครั้งแรก” และมักจะพิมพ์จำนวนน้อย เพื่อให้นักสะสมหรือแฟน ๆ ได้สะสมหนังสือที่พิมพ์ครั้งแรกเพราะความที่มีจำกัด และมีคุณค่าสูงกว่า

หนังสือ NFT จึงทำงานในเชิง “ของสะสม” มากกว่าการซื้อไปเพื่ออ่านจริง ๆ ไม่เหมือนกับ e-Book ที่มีวัตถุประสงค์เดียวคือใช้อ่าน ซึ่งนั่นอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ปัจจุบันวงการหนังสือยังทำรายได้ 80% จากหนังสือพิมพ์เป็นเล่ม ทั้งที่มี e-Book มาให้ความสะดวกแล้ว เพราะนักอ่านและแฟน ๆ ยังต้องการหนังสือเล่มมาตอบสนองความต้องการสะสมด้วย

เปิดโลกหนังสือ NFT วิธีทำเงินตั้งแต่ท่ามาตรฐานถึงระดับ "สุดล้ำ"
เมื่อเห็นแล้วว่าหนังสือ NFT เทียบได้กับหนังสือพิมพ์เล่ม ทำให้กลยุทธ์จัดทำผลิตภัณฑ์ NFT ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือก็จะคล้าย ๆ กับหนังสือเล่ม เช่น การจัดทำแบบ Limited Edition มีจำนวนจำกัด, เวอร์ชั่นปกพิเศษ, เวอร์ชันมีลายเซ็นนักเขียน, หรือมีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องอย่างเช่นแผนที่ รูปวาด สิ่งของที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ทำมาแบบดิจิทัล, ตอนพิเศษ spin-off สำหรับแฟนคลับ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือของสะสมแบบท่ามาตรฐานที่แฟน ๆ มักจะต้องการครอบครอง ขึ้นอยู่กับจินตนาการของนักเขียนและทีมบริหารว่าจะสร้างสรรค์อะไรออกมา

แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ NFT ทำให้นักเขียนสร้างประสบการณ์ร่วมที่ล้ำไปกว่านั้นได้ โดยการใช้เทคโนโลยี NFT เป็นเครื่องมือ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

เบลก บัตเลอร์ นำหนังสือเรื่อง Decade มาขายผ่าน NFT หนังสือเล่มนี้ไม่เคยพิมพ์มาก่อน ทำให้แทนที่จะขายหนังสือตรง ๆ เขาเลือกแคปเจอร์ภาพสกรอลหน้าจอผ่านหน้าเอกสาร Words ต้นฉบับของหนังสือแบบเร็ว ๆ แล้วนำมาทำเป็นภาพ GIF ขายบน NFT ใครที่ซื้อภาพ GIF นั้นไปจะได้รับไฟล์ PDF ของหนังสือไปอ่านเป็นของแถม ปรากฏว่าชั่วข้ามคืนมีคนซื้อไปในราคา 5 ETH ซึ่งคิดเป็นเงินราว 227,000 บาท ณ ขณะนั้น

เร็กซ์ แชนนอน นำหนังสือเรื่อง CPT-415 มาขายแบบ “แยกหน้า” และเมื่อไหร่ที่มีคนซื้อ NFT ของหน้านั้น ๆ เขาจะปล่อยหน้านั้นให้สาธารณชนได้อ่าน ทำให้การเข้าซื้อหมายถึงการช่วยให้หนังสือถูกปลดล็อก เป็นการเล่นกับแฟนคลับออนไลน์ที่น่าสนใจ

Screenshot (629).png

นวนิยาย NFT เรื่อง CPT-415 ที่วางจำหน่ายแบบแยกหน้าบนแพลตฟอร์ม OpenSea

เอมิลี่ ซีกัล (และนักเขียนอีกมากมาย) เข้าสู่แพลตฟอร์ม Mirror ซึ่งเป็นแหล่งระดมทุนให้กับหนังสือ NFT เพื่อรับเงินทุนไปเขียนหนังสือเล่มต่อไปของเธอ เธอระดมทุนได้ 25 ETH ซึ่งคิดเป็นเงินประมาณ 1.95 ล้านบาท ณ ขณะนั้น ประโยชน์ที่ผู้ลงทุนจะได้รับคือหนังสือเล่ม Limited Edition และสิ่งของเมอร์ชานไดซ์ที่แถมให้

Screenshot (630).png

Mirror แพลตฟอร์มระดมทุนของหนังสือ NFT โดยเฉพาะ

หมัดเด็ดปิดท้ายของโลก NFT คือ งานศิลปะ NFT ทุกชิ้น (ไม่เฉพาะหนังสือ) สามารถติดตามการ “ขายต่อ” (resale) ได้ตลอด และศิลปิน/นักเขียนที่นำผลงานลง NFT สามารถระบุข้อเงื่อนไขไว้ตั้งแต่แรกว่าต้องการ “เก็บเปอร์เซ็นต์” จากกำไรการขายต่อเท่าไร ซึ่งส่วนใหญ่ในตลาดจะเก็บกันที่ 10-15% ทำให้ผู้สร้างได้ส่วนแบ่งแน่นอนและเก็บเกี่ยวได้ตลอดเส้นทางไปของผลงาน

ทิโมธี เอส. เบาเชอร์ นักเขียนชาวแคนาดา เคยให้ภาพชัด ๆ ไว้ว่า การเข้าสู่วงการหนังสือ NFT ทำให้เขาระดมเม็ดเงินได้มากกว่าเพราะ “เพียงแค่ 2 ชั่วโมงหลังจากผมออกหนังสือ NFT ผมก็รับรายได้มากยิ่งกว่าที่ผมเคยได้จากการขายหนังสือเล่มพิมพ์และ e-Book รวมกันในระยะเวลาตั้ง 1 ปีครึ่ง”

woman-outdoors-street-coffee-shop-cafe-sitting-with-laptop-pc-computer-hold-bitcoin-metal-coin-golden-color.jpg

ธุรกิจมีการ “ลงทุน” ทั้งจากตนเองและจากทรัพยากรโลก
จากวิธีทำเงินทั้งหมด วงการนักเขียนจึงเริ่มมองว่า NFT อาจมาช่วยปลดล็อกให้นักเขียนเป็นนายตนเองมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องพึ่งพิงสำนักพิมพ์เป็นด่านกรองว่าอะไรจะขายได้หรือไม่ได้ แต่ตีพิมพ์ผลงานของตนเองและรับความเสี่ยงเองได้เลย

ถึงตรงนี้นักเขียนหลายคนน่าจะเริ่มเปิดเว็บไซต์ Rarible หรือ OpenSea ขึ้นมาหาช่องทางสมัครแล้ว แต่เดี๋ยวก่อน เพราะภาพอันสวยหรูย่อมมาพร้อมกับสิ่งที่พึงคำนึงถึงเช่นกัน

วิธีทำเงินรูปแบบนี้ใช้ว่าไม่มีต้นทุนใด ๆ เพราะการ ‘mint’ ผลงาน เจ้าของต้องควักกระเป๋าตัวเองด้วย (*mint เป็นศัพท์เฉพาะของวงการ หมายถึงการนำผลงานลงระบบเป็น NFT) เนื่องจากการกระทำการที่เกี่ยวกับระบบเงินคริปโตจะต้องเสีย “ค่าแก๊ส” (Gas Fee) ซึ่งก็คือค่าธรรมเนียมนั่นเอง กรณีการลงงานเป็น NFT ก็ต้องเสียค่าแก๊สด้วย และค่าแก๊สจะขึ้นลงตลอดเวลา ยิ่งมีจำนวนการทำธุรกรรมพร้อมกันมากในช่วงเวลานั้น ค่าแก๊สก็จะยิ่งสูง

เท่าที่พบจากการสืบค้นปรากฏว่า ค่าแก๊สของศิลปินที่ mint งานคำนวณออกมาแล้วมีตั้งแต่ 30-150 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 900-4,500 บาท) และอาจจะขึ้นไปได้เรื่อย ๆ ถ้าเงิน ETH มีผู้เทรดกันมาก นั่นเท่ากับว่า การตัดสินใจลงขายงาน ต้องเตรียมต้นทุนส่วนนี้เพิ่มเข้าไปด้วย ไม่เฉพาะต้นทุนการสร้างผลงานเท่านั้น และถ้าผลงานยังขายไม่ออกก็แปลว่าศิลปินต้องยอมทุนจมไปก่อน

ดังนั้น สำหรับนักเขียนที่จะเข้าวงการ NFT มักจะต้องเป็นนักเขียนที่มีฐานแฟนระดับหนึ่งมาก่อน ไม่จำเป็นต้องโด่งดังเป็นวงกว้าง แต่ควรจะมีแฟนพันธุ์แท้ที่พร้อมตามมาซื้อผลงาน ให้มั่นใจว่าการลงทุนครั้งนี้จะขายได้

อีกต้นทุนแฝงหนึ่งที่นักเขียนควรคำนึง คือค่าแก๊สที่ว่านี้ไม่ได้ตั้งชื่อเล่น ๆ แต่มาจากการเปรียบเทียบกับการขับรถซึ่งต้องใช้เชื้อเพลิง เมื่อธุรกิจ NFT บูม นั่นคือการสร้างดีมานด์ซัพพลายสำหรับตลาดเงินอีเธอเรียม ทำให้มีการทำธุรกรรมมากขึ้น และการเข้ารหัสในบล็อกเชนเหล่านี้ต้องการใช้พลังงานสูงมาก 

เว็บไซต์ Digiconomist มีการจัดทำ Ethereum Energy Consumption Index พบว่า การทำธุรกรรมของสกุลเงิน ETH เพียงครั้งเดียวได้ฝากรอยเท้าคาร์บอนไว้ถึง 37.29 กิโลกรัม เทียบเท่ากับการดู YouTube นานถึง 6,215 ชั่วโมง การจะเข้าร่วมวงการ NFT จึงต้องพึงตระหนักไว้เสมอว่า คุณกำลังเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่ดูดกลืนทรัพยากรโลกมหาศาล

สรุปแล้ว NFT สำหรับวงการหนังสือและนักเขียนจึงเป็นมิติใหม่ที่ทั้งน่าตื่นเต้นและท้าทาย อยู่ที่ศิลปินว่าจะตัดสินใจอย่างไรกับกระแสใหม่ของโลกใบนี้!

ภาพ : ViDIstudio / Freepik

ที่มา :
บทความ “NFTs for Writers: How NFTs Can Shape the Book Publishing Sector?” จาก 2muchcoffee.com
บทความ “NFTS FOR BOOKS: HOW THIS EMERGING TECH CAN REWARD AUTHORS & READERS” โดย Emily Wenstrom จาก bookriot.com
บทความ “The Rise of the Crypto Writers? On What Literary NFTs Might Mean for the Book World” โดย Walker Caplan จาก lithub.com
บทความ “Publishing Books as NFTs is Gaining Popularity and Authors are Cashing In” โดย MJ Banias จาก thedebrief.org
บทความ “PUBLISHING BOOKS AS NFTS IS GAINING POPULARITY AND AUTHORS ARE CASHING IN” โดย MJ Banias จาก medium.com
บทความ “9 Ways Writers Can Use NFTs” จาก thejohnfox.com
บทความ “NFTs for Authors: How They Can Help Make More Money from Books (An Example)” โดย จาก writerontheside.com
บทความ “ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของ NFTs” จาก ecommerce-platforms.com

เรื่อง : พัฐรัศมิ์ ว่องไชยกุล

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0