โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

รายงานการศึกษา : เกมของคน..ชอบเรื่องผี

MATICHON ONLINE

อัพเดต 11 มิ.ย. 2566 เวลา 10.14 น. • เผยแพร่ 11 มิ.ย. 2566 เวลา 02.50 น.
1

รายงานการศึกษา : เกมของคน..ชอบเรื่องผี

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) พระนคร เร่งพัฒนากำลังคนให้พร้อมเป็น “นวัตกรบูรณาการ” ที่มีความรอบรู้ มีความสามารถในการปรับตัว และรับมือกับความท้าทายได้อย่างรวดเร็ว จึงผลักดันศักยภาพนักศึกษาผ่านการเรียนการสอน โดยจุดประกายความคิด สร้างแรงบันดาลใจ และสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีสำหรับโลกแห่งอนาคตในทุกมิติ เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกฝน และลงมือปฏิบัติจริง เตรียมความพร้อมก้าวเข้าสู่โลกของการทำงาน

ล่าสุด สาขาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน จัดนิทรรศการ Multimedia Exhibition แสดงผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 นำเสนอผลงานที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการนำ เทคโนโลยีโลกเสมือน Virtual Reality (VR) มาสร้างสรรค์ผลงานเทคโนโลยีความจริงเสมือนบ้านผีไทย ผลงานของ น.ส.สิรินลักษณ์ ตั้งวัฒนดิลกกุล และ น.ส.ณพิชชา สมดังใจ

สิรินลักษณ์ เล่าว่า โลกของ Metaverse เป็นเทคโนโลยีโลกเสมือนจริงที่มีอิทธิพลต่อภาคธุรกิจอย่างหลากหลาย อาทิ การทำงาน การศึกษา ความบันเทิง และโลกของเกม จึงมีแนวคิดทำเกมบ้านผีไทย โดยใช้เทคโนโลยีความจริงเสมือนเข้ามาใช้ในการเล่นเกม ผู้เล่นจะได้เดินสำรวจภายในบ้านของครอบครัวหมอผี และมีภารกิจปลดปล่อยกุมารที่ถูกขังไว้ในบ้านหลังนี้ ผ่านการเล่นในรูปแบบ VR ซึ่งจะเพิ่มความสนุกให้กับผู้เล่น ตัดขาดออกจากสภาพแวดล้อมปัจจุบัน และเข้าไปสู่ภาพที่จำลองขึ้นมา สามารถสัมผัสสิ่งต่างๆ ผสมผสานกับบรรยากาศ และเสียงที่ใช้ประกอบ เพื่อเพิ่มความตื่นเต้น ผู้เล่นมีความรู้สึกร่วมกับสิ่งเหล่านั้นได้

“ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของการทำเกม มาจากความชอบอ่านเรื่องผี และมองว่าปัจจุบันคนไทยเริ่มค่อยๆ ลืมเรื่องราวพื้นบ้านที่เป็นตำนานเล่าขานกันมา เช่น ผีท้องถิ่น ตำนานพื้นบ้าน ปัจจัยหนึ่งเป็นเพราะความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ที่ทำให้คนในสังคมบางกลุ่มมองว่าเป็นเรื่องงมงาย เรื่องราวเหล่านี้เป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทย ที่น่าเผยแพร่ให้รู้จักมากขึ้นถึงเรื่องราวความเป็นมาของตำนานนั้นๆ ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นไทย” สิรินลักษณ์ กล่าว

ณพิชชา เสริมว่า การทำงานครั้งนี้ใช้เวลาถึง 8 เดือน มีขั้นตอนการศึกษาข้อมูลของผีพื้นบ้านไทย การเขียนบท การปั้นตัวละคร การปั้นโมเดลที่ใช้ในฉาก บันทึกเสียงพากย์ ทำเสียงประกอบฉาก และเข้าสู่กระบวนการทำเกม ผลงานดังกล่าวต้องใช้ความรู้จากในห้องเรียน และนอกห้องเรียนนำมาประกอบกัน โดยเฉพาะเครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาอย่างโปรแกรม Unreal engine ใช้สำหรับสร้างตัวพิพิธภัณฑ์ VR โปรแกรม Blender ใช้ในการปั้นตัวนักแสดง และสุดท้ายชุด VR ใช้สำหรับการทดสอบงาน ซึ่งบางส่วนได้เรียนพื้นฐานจากในห้องเรียน แต่บางส่วนจะต้องเรียนเพิ่มเติมจากโลกออนไลน์ เพื่อเสริมทักษะในการทำงาน

“การทำโปรเจคในครั้งนี้ เป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งที่ได้ใช้ความรู้ ความสามารถ และความอดทนในการทำงาน รวมถึง ได้รู้จักตนเองมากขึ้นว่าชอบทำงานประเภทไหนอีกด้วย” ณพิชชา ทิ้งท้ายด้วยความภูมิใจ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น