มติ ครม.ล็อตใหญ่ หั่นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์-สถานบันเทิง ชูไทยฮับ “ใช้จ่าย-ท่องเที่ยว”
เมื่อวันที่ 2 มกราคม นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ประกอบด้วย 2 มาตรการ ดังต่อไปนี้ 1.การปรับปรุงโครงสร้างและอัตราภาษีสุราเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยสรรพสามิต ได้มีการปรับปรุงอัตราภาษีสินค้าสุราแช่ และภาษีสุราแช่พื้นบ้าน อาทิ อุ กระแช่ สาโท เป็นอัตราภาษีตามมูลค่า 0% และอัตราภาษีตามปริมาณ 150 บาท ต่อปริมาณ 1 ลิตรต่อ 100 ดีกรี โดยลดลงจากอัตราภาษีตามมูลค่า 10% และอัตราภาษีตามปริมาณ 150 บาทต่อปริมาณ 1 ลิตรต่อ 100 ดีกรี
นายลวรณกล่าวว่า ส่วนสุราแช่ที่มีสุรากลั่นผสม อาทิ โซจู ตั้งเป็นพิกัดใหม่แยกจากสุราแช่ โดยมีอัตราภาษีที่ อัตราภาษีตามมูลค่า 0% และอัตราภาษีตามปริมาณ 255 บาท ต่อปริมาณ 1 ลิตรต่อ 100 ดีกรี ขณะที่อัตราภาษีไวน์และไวน์ผลไม้ โดยยกเลิกการจัดเก็บภาษีจากการแบ่งชั้นของราคา และกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีเป็นอัตราเดียว เพื่อสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยอัตราใหม่คือ อัตราภาษีตามมูลค่า 5% และอัตราภาษีตามปริมาณ 1,000 บาทต่อปริมาณ 1 ลิตรต่อ 100 ดีกรี ส่วนไวน์ผลไม้ (ฟรุตไวน์) อัตราภาษีตามมูลค่า 0% และอัตราภาษีตามปริมาณ 900 บาทต่อปริมาณ 1 ลิตรต่อ 100 ดีกรี
นายลวรณกล่าวว่า นอกจากนี้ สรรพสามิต ยังมีการปรับปรุงอัตราภาษีสถานบริการซึ่งประกอบกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ จาก 10% ของรายรับของสถานบริการโดยไม่หักค่าใช้จ่ายเป็น 5% ของรายรับของสถานบริการโดยไม่หักค่าใช้จ่ายมาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการระยะสั้นมีกำหนดระยะเวลาประมาณ 1 ปี หรือสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิดกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งและส่งเสริมการท่องเที่ยว สำหรับกรมศุลกากรได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างภาษีศุลกากรสินค้าไวน์ให้สอดคล้องมาตรการ โดยยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าไวน์ รวม 21 รายการ จากเดิมที่มีอัตราอากร 54% และ 60%
นายลวรณกล่าวว่า 2.การปรับปรุงหลักเกณฑ์การตรวจสินค้าเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของนักท่องเที่ยว (VAT Refund for Tourists) เพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 1.การปรับเพิ่มวงเงินซื้อสินค้าที่ต้องแสดงต่อศุลกากร จากเดิมตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไป เป็น 20,000 บาทขึ้นไป 2.การปรับเพิ่มมูลค่าสินค้าที่ต้องนำไปแสดงต่อสรรพากร 9 รายการ อาทิ เครื่องประดับ นาฬิกา จากเดิมมูลค่าต่อชิ้นตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป เป็น 40,000 บาทขึ้นไป
นายลวรณกล่าวว่า ของที่สามารถถือขึ้นเครื่องได้ (carry-on) จากเดิมมูลค่าต่อชิ้นตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป เป็น 100,000 บาทขึ้นไป ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ใหม่นี้จะช่วยลดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องแสดงสินค้าลงจาก 1.2 แสนรายต่อปี เหลือประมาณ 3 หมื่นรายต่อปี ลดลงไปกว่า 70% โดยมาตรการข้างต้น จำเป็นต้องตราเป็นกฎกระทรวงและประกาศกระทรวงการคลังตามลำดับ จะได้เร่งดำเนินการให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วภายในเดือนมกราคม 2567 ทั้งนี้ ในภาพรวมมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว จะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นสุทธิประมาณ 401 ล้านบาทต่อปี และเศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.0073% เทียบกับกรณีไม่มีมาตรการ รวมทั้ง ยังเพิ่มรายได้ภาคการท่องเที่ยวจาก 1.492 ล้านล้านบาท เป็น 1.495 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.9 พันล้านบาท
………………..
ความเห็น 0