โรคทางกายหลายโรค มีสาเหตุมาจากการใช้ชีวิตประจำวัน และที่พบบ่อยในวัยทำงาน วัยรุ่น และสูงวัย คือ ปวดหลัง ปวดคอ อาการเหล่านี้ มีสาเหตุจากการเล่นสมาร์ทโฟน การนั่งนานๆ ยกของหนัก ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคเกี่ยวกับกระดูกคอ และกระดูกสันหลังได้
อาการ ปวดคอ ปวดหลัง รวมไปถึงบ่า ไหล่ ซึ่งมีสาเหตุหนึ่งจากการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นสมาร์ทโฟน การนั่งทำงานนานๆ ยกของหนัก นั่งงอหลังเป็นเวลานาน หรือกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงกระแทก ปัจจัยเหล่านี้ นำไปสู่อาการของ โรคกระดูกคอเสื่อม โรคของกระดูกและกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด เช่น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท และ กระดูกสันหลังเสื่อม เป็นต้น
ผู้ป่วย กระดูกคอเสื่อม เพิ่ม 4 เท่า
จากสถิติการรักษาของ โรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟพบว่า ตั้งแต่ปี 2561 -ปัจจุบัน มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วย โรคกระดูกคอเสื่อมมากขึ้นถึง 4 เท่า โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น และวัยทำงาน สาเหตุเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงมาจากการใช้คอ ใช้กล้ามเนื้อแผ่นหลังที่ผิดลักษณะ เช่น การนั่งเล่นสมาร์ทโฟนนานๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนวัยทำงานที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ
โดยกลุ่มนี้มักมีปัญหาเรื่องปวดคอ บ่า ไหล่ และจะมีอาการปวดแปล๊บเหมือนไฟช็อตลงไปที่แขน มีอาการชา บางรายอาจอ่อนแรง ทำให้เสียความสามารถในการทำงาน ด้วยพฤติกรรมเหล่านี้ ล้วนเป็นสาเหตุของการเกิดโรคกระดูกคอเสื่อมทั้งสิ้น ทำให้แนวโน้มของคนไทยเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคกระดูกคอเสื่อมมากขึ้นจนเป็นอัตราที่น่าเป็นห่วง
แนวทางการรักษา "กระดูกคอเสื่อม"
นพ. ดิตถพงษ์ บุญอำพล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังและระบบประสาท เปิดเผยว่า หากคนไข้อาการไม่รุนแรงแนะนำให้ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไม่ก้มเล่นโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน อย่าลืมที่จะเปลี่ยนอิริยาบถท่าทางบ้าง
เพราะร่างกายมนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อก้มหรือทำงานให้หนักขนาดนั้น แต่หากไม่ดีขึ้นแพทย์จะทำการรักษาโดยการให้ยาร่วมกับการทำกายภาพบำบัด ท้ายที่สุด หากมีอาการเรื้อรังเป็นเวลานาน แพทย์จะทำการผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนคอทางด้านหลัง
ปัจจุบัน มีเทคนิคPSCD (Percutaneous Stenoscopic Cervical Decompression) คือ การรักษาด้วยการเจาะรูส่องกล้องด้วยเทคนิค PSCD การผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนคอทางด้านหลัง เพื่อขยายช่องกระดูกสันหลังส่วนคอ โดยแพทย์จะนำกล้องเอ็นโดสโคปที่มีความละเอียดสูงเข้าไปในช่องว่างภายในกระดูกคอ เพื่อนำหมอนรองกระดูกที่กดทับเส้นประสาทออกมา
สำหรับทางเลือกการรักษาด้วยวิธีนี้ ข้อดีคือ แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กมาก เพียง 0.5 เซนติเมตร สูญเสียเลือดน้อย ฟื้นตัวเร็ว นอนโรงพยาบาลเพียง 1 คืนก็สามารถกลับบ้านได้ ซึ่งต่างจากเทคนิคเดิมที่มีแผลขนาดใหญ่และต้องมีการเชื่อมกระดูก ทำให้คอหันได้ลำบาก
โรคกระดูกและกล้ามเนื้อ
ขณะเดียวกัน "ปวดหลัง" เป็นอีกหนึ่งอาการที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถพบได้ทั้งในวัยทำงานและผู้สูงอายุ โดยสาเหตุหลัก ๆ ส่วนใหญ่ล้วนเกิดจากรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ยกของหนัก นั่งงอหลังเป็นเวลานาน หรือกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงกระแทก และโรคของกระดูกและกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด เช่น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท และ กระดูกสันหลังเสื่อม เป็นต้น
แนวทางการรักษา
นพ.วีระพันธ์ ควรทรงธรรมผู้อำนวยการศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลนครธน กล่าวว่า การรักษาอาการปวดหลัง ปวดคอ มีตั้งแต่การทานยา กายภาพบำบัดเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง การฉีดยาระงับปวด ไปจนถึงการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ซึ่งในรายที่รักษาด้วยการทานยา หรือกายภาพบำบัดแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีอาการหนักมาตั้งแต่แรก เมื่อแพทย์ประเมินแล้วว่าการักษาดังกล่าวอาจจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร อาจพิจารณาให้รักษาด้วยการไม่ผ่าตัด เช่น การฉีดยาเข้ากระดูกสันหลังหรือการรักษาด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (RFA) และการผ่าตัดผ่านกล้องเอ็นโดสโคป โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางประจำศูนย์ฯ จะให้คำแนะนำในการรักษาและให้ทางเลือกกับคนไข้เป็นผู้ตัดสินใจ
เทคโนโลยีผ่าตัด ด้วยกล้องเอ็นโดสโคป
ผู้อำนวยการศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลนครธน อธิบายว่า การผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคปเป็นเทคนิค และวิธีการผ่าตัดที่ทำให้คนไข้บอบช้ำน้อยที่สุด โดยกล้องเอ็นโดสโคปซึ่งมีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลาง 8 มิลลิเมตร โดยเลนส์ของเอ็นโรสโคปจะติดอยู่ที่ปลายกล้อง เปรียบเสมือนดวงตาของศัลยแพทย์อยู่ในตัวผู้ป่วย ทำให้แพทย์สามารถมาองเห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจน แม่นยำ
นอกจากนี้ยังมี O-arm navigation เครื่องเอกซเรย์ 3 มิติ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่เข้ามาช่วยเพิ่มความแม่นยำให้กับศัลยแพทย์ในการผ่าตัดทำให้สามารถเลือกตัดออกเฉพาะส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาได้โดยไม่ต้องตัดเลาะกล้ามเนื้อส่วนที่ดีออก ทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก อาการปวดแผลผ่าตัดน้อย ความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ ช่วยลดการทำลายเนื้อเยื่อส่วนดีที่อยู่รอบบริเวณผ่าตัด ผู้ป่วยฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็วและสามารถกลับบ้านได้ภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งต่างจากการผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบมาตรฐานโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ ที่ศัลยแพทย์ต้องเลาะเนื้อเยื่อส่วนที่ดี เพื่อเปิดทางให้เข้าไปตัดหมอนรองกระดูกส่วนที่กดทับเส้นประสาท ทำให้เกิดแผลขนาดใหญ่และพักฟื้นร่างกายนาน
ป้องกันอย่างไร ไม่ให้ปวดหลัง
ทั้งนี้ การป้องกันอาการปวดหลังหรือสาเหตุที่อาจส่งผลให้เกิด โรคกระดูกสันหลัง ควรเพิ่มปัจจัยบวก เช่น สร้างความแข็งแรงและความยืดหยุ่นกล้ามเนื้อบริเวณหลังและลำคอ และลดปัจจัยลบ โดยการสังเกตพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ท่านั่งในการทำงานควรปรับให้เหมาะสมไม่นั่งหลังงอ
หรือหากคนไข้มีอาการปวดคอ ปวดหลัง บริเวณเอว ปวดร้าวลงแขนลงขา หรือมีอาการชาบริเวณแขน หรือ ขาข้างใดข้างหนึ่ง คนไข้เหล่านี้มีโอกาสเป็นอาการของโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท โดยสาเหตุหลักเกิดจากการเสื่อมของกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกสันหลัง
"ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการมีอายุที่มากขึ้น และการใช้งาน เช่น มีการยกของหนัก ก้มเงยบ่อย นั่งนาน ๆ หรือเล่นกีฬาบางประเภทที่ทำให้เกิดการกระแทกกับกระดูกสันหลัง ฉะนั้นหากมีอาการปวดเรื้อรังร่วมกับอาการชาหรือการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน” นพ.วีระพันธ์ แนะนำเสริม
ความเห็น 0