โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

รู้จักโรคพิษสุนัขบ้า

new18

อัพเดต 07 ต.ค. 2565 เวลา 09.39 น. • เผยแพร่ 07 ต.ค. 2565 เวลา 09.39 น. • new18
รู้จักโรคพิษสุนัขบ้า
รู้จักโรคพิษสุนัขบ้า

รู้จักโรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้า ถือเป็นโรคติดต่อร้ายแรงชนิดหนึ่ง เกิดจากการที่ร่างกายได้รับเชื้อไวรัสเรบี่ส์ (Rabies) ผ่านบาดแผลที่เกิดจากการโดนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กัด ข่วน สัมผัสน้ำลายหรือสารคัดหลั่งจากสัตว์ ดังนั้นแม้มันจะชื่อว่าโรคพิษสุนัขบ้าก็จริง แต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ ทั้ง แมว หนู วัว ค้างคาว ฯลฯ ล้วนมีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ทั้งนั้น นอกจากโดนกัดแล้วเชื้อพวกนี้อาจติดต่อจากการกินได้ด้วย เพราะถ้ามีบาดแผลภายในช่องปาก ซึ่งถ้ากินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อเข้าไป ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เหมือนกัน

ติดเชื้อแล้วอาการเป็นอย่างไร ?

พอได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายในช่วง 2-3 วันแรก ผู้ป่วยจะปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีไข้ คันหรือปวดบริเวณรอยที่ถูกกัด ทั้งที่แผลอาจหายเป็นปกติแล้ว ต่อมาจะหงุดหงิด กระสับกระส่าย ตื่นเต้นไวต่อสิ่งเร้ารอบกาย ไม่ชอบแสง ลม มีน้ำลายไหล กล้ามเนื้อคอกระตุก เกร็งขณะพยายามกลืนอาหารหรือน้ำ ซึ่งตรงนี้เรียกว่าอาการ “กลัวน้ำ" ต่อมาจะเริ่ม เพ้อคลั่ง สลับกับอาการสงบ ชัก บางคนอาจเป็นอัมพาต โดยมีอาการแขนขาอ่อนแรง หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด โดยอาการเหล่านี้มักเป็นอาการที่เกิดจากสมองอักเสบและเยื่อสมองอักเสบซึ่งคือการแสดงอาการของโรค

หากติดเชื้อ จะรักษาได้อย่างไร ?

ในปัจจุบันยังไม่มีทางรักษาให้หายได้ การดูแลจึงทำได้เพียงรักษาประคับประคองไปตามอาการเท่านั้น โดยแยกผู้ป่วยให้ปราศจากสิ่งเร้าต่าง ๆ เช่น หาห้องที่สงบ ไม่มีเสียงรบกวน ให้สารอาหารแบบน้ำเข้าทางเส้นเลือด เนื่องจากผู้ป่วยมักจะกินอาหารไม่ได้ ส่วนคนดูแลก็ต้องป้องกันการติดเชื้อจากผู้ป่วยด้วยการสวมเสื้อผ้ามิดชิด ใส่แว่นตา รวมทั้งผ้าปิดจมูก

ดังนั้นการป้องกันโรคนี้ที่ดีที่สุดก็คือ ระวังอย่าให้ถูกสุนัขหรือแมวกัด เพราะการติดเชื้อ ส่วนใหญ่จะมาจากน้ำลายสัตว์ที่เป็นโรคอยู่แล้ว จึงควรพาสุนัขและแมวที่บ้านไปฉีดวัคซีนประจำปีอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันมีการผลิตวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าสำหรับคนออกมาอีกด้วย

เราสามารถฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าก่อนสัมผัสได้ โดยเฉพาะคนที่มีโอกาสโดนกัดหรือข่วน แต่ถ้าบังเอิญโดนสุนัขหรือแมวกัด อันดับแรกให้ล้างแผลด้วยน้ำให้ลึกถึงก้นแผล และฟอกด้วยสบู่หลาย ๆ ครั้ง จากนั้นเช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เพราะถ้าถูกน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น ไลโซล ฟอร์มาลีน แอลกอฮอล์ ทิงเจอร์ไอโอดีน และโพวีโดนไอโอดีน และสบู่หรือผงซักฟอก เชื้อจะตายภายในเวลารวดเร็ว แล้วรีบไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ประเมินอาการ และดูบาดแผล แพทย์อาจให้วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าหลังจากสัมผัสเชื้อ และอาจได้รับอิมมูโนโกลบูลิน ซึ่งเป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันเพื่อไปทำลายไวรัสที่จะพยายามเข้ามาในร่างกายและไปในระบบประสาทได้ อย่าลืมว่าหากแผลสกปรก ใหญ่ หรือได้รับวัคซีนบาดทะยักมานานแล้ว อาจมีความจำเป็นต้องรับวัคซีนบาดทะยักอีกด้วย
สำหรับสัตว์ที่กัดนั้นให้กักขังเพื่อสังเกตว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่อย่างน้อย 15 วัน แต่ถ้าสัตว์ตายเสียก่อนให้นำซากหรือส่วนหัว ไปชันสูตรยืนยันที่ห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจสอบยืนยันว่ามีเชื้ออยู่มั้ย จะได้รู้ว่าต้องทำอย่างไรต่อไป เพียงแต่ระหว่างเก็บซากสัตว์ต้องทำอย่างระมัดระวัง ด้วยการสวมถุงมือ หรือใช้ถุงพลาสติกหุ้มมือให้มิดชิด และล้างมือให้สะอาดหลังจากเก็บซาก

อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด

สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0