โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ชัวร์ก่อนแชร์: ในสหรัฐฯ เผาไบเบิลไม่ผิด แต่เผาธงสีรุ้งผิด จริงหรือ?

ชัวร์ก่อนแชร์

อัพเดต 24 มิ.ย. เวลา 04.56 น. • เผยแพร่ 23 มิ.ย. เวลา 21.56 น. • สำนักข่าวไทย อสมท
ชัวร์ก่อนแชร์: ในสหรัฐฯ เผาไบเบิลไม่ผิด แต่เผาธงสีรุ้งผิด จริงหรือ?

24 มิถุนายน 2567
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล

ข้อมูลที่ถูกแชร์ :

มีข้อความสร้างความเข้าใจผิดเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในสหรัฐอเมริกา โดยอ้างว่ากระแสสนับสนุนผู้มีความหลากหลายทางเพศในสหรัฐฯ กำลังทำให้ Pride Flag หรือธงสีรุ้งของชาว LGBT ได้รับการปกป้องยิ่งกว่าคัมภีร์ไบเบิลของศาสนาคริสต์ เพราะขณะที่การเผาคัมภีร์ไบเบิลได้รับการปกป้องด้านเสรีภาพทางการแสดงออก แต่ผู้ที่เผาธงสีรุ้งของชาว LGBT กลับถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

บทสรุป :

  • การเผาคัมภีร์ไบเบิลหรือเผาธงสีรุ้งต่างได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ว่าด้วยเสรีภาพการแสดงออก
  • แต่บริบทของการเผาคัมภีร์และธงสีรุ้งอาจละเมิดกฎหมายข้ออื่น ส่งผลให้ผู้กระทำผิดต้องถูกดำเนินคดีเช่นเดียวกัน

FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :

จากการตรวจสอบพบว่า ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ในบัญญัติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 1 การเผาคัมภีร์ไบเบิลหรือเผาธงสีรุ้ง ต่างได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีเสรีภาพด้านการแสดงออกและการนับถือศาสนา อย่างไรก็ดี บริบทของการเผาคัมภีร์และธงสีรุ้งอาจละเมิดกฎหมายข้ออื่น ส่งผลให้ผู้กระทำผิดต้องถูกดำเนินคดีเช่นเดียวกัน

แม้กฎหมายรัฐธรรมนูญจะขัดขวางไม่ให้รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐออกกฎหมายห้ามการเผาสิ่งของเพื่อการประท้วง แต่บริบทของการกระทำที่ถูกตีความว่าเป็นการทำลายทรัพย์สิน ทำให้เกิดอันตรายโดยประมาท หรือ การก่ออาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง อาจทำให้ผู้กระทำถูกดำเนินคดีได้

ดักลาส เลย์ค็อก ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ให้ความเห็นว่า การเผาธงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วง ได้รับการปกป้องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ถ้าผู้เผาเป็นเจ้าของธงและไม่ละเมิดกฎหมายข้ออื่น ๆ เช่น การซื้อธง Pride Flag มาเผาโดยไม่ก่ออันตรายต่อผู้คนหรือทรัพย์สิน อาจไม่เข้าข่ายการก่ออาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง แต่หากมีการเผาธง Pride Flag โดยมีเจตนามุ่งร้ายต่อชาว LGBT เพราะสถานะของพวกเขา อาจจะเป็นการกระทำที่เข้าข่ายการก่ออาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง

มีคดีที่เป็นกรณีศึกษาที่หญิงรายหนึ่งทำการเผาธง Pride Flag ที่แขวนอยู่หน้าภัตตาคารในนครนิวยอร์ก ส่งผลให้เธอถูกดำเนินคดีในข้อหาทำให้เกิดอันตรายโดยประมาท เพราะมีความเสี่ยงที่ภัตตาคารจะถูกไฟไหม้ และชายที่ถูกจำคุก 15 ปี จากการขโมยธง Pride Flag จากโบสถ์แห่งหนึ่ง เพื่อไปเผาที่หน้าคลับเปลื้องผ้าที่รัฐไอโอวา

ในทางตรงกันข้าม การเผาศาสนวัตถุเช่นคัมภีร์ไบเบิลมีความซับซ้อนทางคดีมากกว่า

เบิร์ต นูบอร์น ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์ ชี้แจงว่า ต่อให้มีการนำศาสนวัตถุส่วนตัวมาเผา ความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีก็มีสูง นอกจากบริบทของการกระทำแล้ว ความเห็นทางกฎหมายต่อประเด็นดังกล่าวก็ยังไม่ชัดเจน โดยปี 2003 ผู้พิพากษาศาลสูงสหรัฐฯ เคยอนุญาตให้แต่ละรัฐสามารถออกกฎหมายห้ามการเผาไม้กางเขนได้ หากพิจารณาว่าเป็นการกระทำที่สื่อถึงการข่มขู่คุกคาม

เบิร์ต นูบอร์น ยกตัวอย่างว่า การเผาศาสนวัตถุในที่สาธารณะอาจจะได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่หากไปเผาศาสนวัตถุในระหว่างกิจกรรมทางศาสนา อาจมีความผิดในการละเมิดการประกอบกิจกรรมทางศาสนาของผู้อื่น แต่หากมีการเผาศาสนวัตถุด้านนอกศาสนสถาน ก็ยังต้องมีการพิจารณาเพิ่มเติมว่าจะมีความผิดกฎหมายข้อใดหรือไม่

ข้อมูลอ้างอิง :

https://www.reuters.com/article/factcheck-burning-pride-flag/fact-check-burning-bible-or-pride-flag-is-protected-in-us-absent-other-crimes-idUSL1N37N1L5
https://www.bbc.com/news/world-us-canada-50861259

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น