โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

นโยบายสหรัฐอเมริกาต่อพม่า และความสำคัญของไทย โดย ลลิตา หาญวงษ์

MATICHON ONLINE

อัพเดต 27 ม.ค. 2566 เวลา 06.31 น. • เผยแพร่ 27 ม.ค. 2566 เวลา 06.00 น.
ภป-นโญบายสหรัฐพม่าต่อไทย

เมื่อ โจ ไบเดน ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐได้ไม่ถึงเดือน ก็เกิดรัฐประหารขึ้นในพม่า ไฮไลต์ของนโยบายสหรัฐที่มีต่อพม่าจึงเป็นมาตรการตอบโต้คณะรัฐประหารและมาตรการสนับสนุนให้พม่ากลับเข้าสู่ภาวะปกติแบบไม่ต้องสงสัย หลังเกิดรัฐประหาร รัฐบาลไบเดนไม่รอช้าเร่งออกมาตรการคว่ำบาตรคณะรัฐประหาร และสั่งอายัดเงินฝากมูลค่าราว 1,000 ล้านเหรียญ (ประมาณ 30,000 ล้านบาท) ตั้งแต่นั้นมา รัฐบาลสหรัฐก็ไม่ได้มีมาตรการที่เป็นกิจจะลักษณะอื่นๆ เพื่อกดดันคณะรัฐประหารพม่า มีเพียงกล่าวลอยๆ ว่าจะเป็นส่วนช่วยให้พม่ากลับมาเป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว และยังส่งสัญญาณไปถึงอาเซียนให้ร่วมกดดันพม่าด้วย (ซึ่งอาเซียนก็ทำตามด้วยดี แต่กลับไม่มีประโยชน์โภชผลมากนัก)

สิ่งหนึ่งที่สหรัฐและอาเซียนประสบความสำเร็จร่วมกันคือการไม่อนุญาตให้พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ในฐานะผู้นำคณะรัฐประหาร เข้าประชุมผู้นำอาเซียนได้ รวมทั้งส่งเดเรก โชลเลท (Derek Chollet) เจ้าหน้าที่การทูตอาวุโส ไปเยือนหลายประเทศในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย และสิงคโปร์ ตั้งแต่ตุลาคม 2022 โชลเลทเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายกลาโหมของสหรัฐ และเคยทำงานในตำแหน่งสำคัญๆ ทั้งในฐานะที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศ และในฐานะที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐในปัจจุบัน นอกจากนี้ เขายังมีความเชี่ยวชาญด้านนโยบายของสหรัฐที่มีต่อนาโต ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกาอีกด้วย

แม้ว่ารัฐประหารในพม่าจะไม่ได้เป็นข่าวตูมตามในสื่อของสหรัฐ แต่ก็เป็นส่วนสำคัญในนโยบายต่างประเทศในยุคประธานาธิบดีไบเดน ท่ามกลางการแข่งขันอย่างเข้มข้นระหว่างสหรัฐ ในฐานะผู้นำโลกประชาธิปไตยเสรี (liberal democracy) กับจีนหรือรัสเซียที่ปวารณาแนวทางอำนาจนิยม สหรัฐจำเป็นต้องแสดงให้โลกเห็นว่าตนยังเป็นผู้นำของโลกเสรี โลกเสรีไม่ได้อ่อนแอลงแต่อย่างใด พม่าจึงเป็นเหมือนเวทีประลองกำลังภายในระหว่างโลกที่ยังแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว ฝ่ายหนึ่งยืนยันหลักการกดดันให้พม่ากลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบเดิม และอีกฝ่ายหนึ่งให้การสนับสนุนรัฐประหารพม่าไม่ว่าจะเป็นแบบเปิดเผยมาก (ในกรณีของรัสเซีย) และเปิดเผยน้อยหน่อย (ในกรณีของจีน)

ด้วยสถานการณ์ที่ผู้นำรัฐประหารพยายามสานสัมพันธ์กับรัสเซียและจีนเป็นพิเศษ สหรัฐจึงต้องให้ความสนใจพม่ามากขึ้นแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้พม่าอยู่ใต้เงาของจีนมากจนเกินไป ส่วนกรณีของรัสเซียนั้นไม่น่าห่วงมากเกินไปนัก เพราะรัสเซียต้องการขายอาวุธให้กับพม่าและไม่ได้มีชายแดนติดพม่า หลายฝ่ายมองว่าหากรัฐบาลสหรัฐ “ซีเรียส” กับกรณีพม่าจริงก็จำเป็นต้องให้การสนับสนุนรัฐบาลคู่ขนาน NUG รวมทั้งจัดหาอาวุธให้กับกองกำลังประชาชน PDF เพื่อให้เผด็จศึกกองทัพพม่าได้โดยเร็ว แต่เราอย่าลืมเชียวว่าสหรัฐเคยเข้ามาทำสงครามในภูมิภาคนี้หลายครั้ง แม้บางครั้งไม่ได้เข้าไปร่วมรบโดยตรง แต่ต้องถือว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นของแสลงสำหรับสหรัฐ ตั้งแต่ความพ่ายแพ้ที่เวียดนาม และการไม่สามารถสกัดกั้นฝ่ายคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนได้ ดังนั้น การจะลงไปช่วยเหลือกองกำลังฝ่ายประชาชนให้รบกับกองทัพพม่า ที่มี่แสนยานุภาพต่างกันราวฟ้ากับเหว จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐคิดหนัก

ไม่น่าเชื่อว่าประเทศเล็กๆ ที่เหมือนจะไม่มีความสำคัญมากนักอย่างพม่ากลายเป็นพื้นที่ต่อสู้ระหว่างมหาอำนาจสองขั้วได้ คณะรัฐประหารพม่าก็ได้รับอานิสงส์จากภูมิทัศน์การเมืองโลกที่เปลี่ยนแปลงไป การเข้าหารัสเซียมากขึ้น ไม่ได้มีประโยชน์เพียงการซื้ออาวุธแบบครบวงจรเท่านั้น แต่ยังมีตำแหน่งแห่งที่ของรัสเซียในสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งรัสเซียมีสิทธิวีโต้ สำหรับจีน กองทัพพม่าก็ได้ประโยชน์จากสิทธิวีโต้ของจีนเช่นกัน แต่ที่แตกต่างออกไปคือกองทัพพม่าไม่เคยไว้ใจจีนมากนัก และหวาดระแวงว่าจีนจะเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในพม่ามาโดยตลอด ท่าทีของพม่าที่มีต่อจีนในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาจึงเป็นไปในแนวแบ่งรับแบ่งสู้

ในมุมมองของจีนเองก็รู้สึกเบื่อการบริหารของคณะรัฐประหารชุดนี้เป็นอย่างยิ่ง ในช่วงแรก จีนไม่ได้ออกมาประณาม หรือสนับสนุนรัฐประหาร ได้แต่เพียงกล่าวว่ารัฐประหารในพม่าเป็นเพียง “การปรับคณะรัฐมนตรี” ธรรมดาๆ

ในสถานการณ์แบบนี้ พม่าจึงถูกโดดเดี่ยวออกมา แต่ถามว่าผู้นำกองทัพพม่ารู้สึกเป็นกังวลมากแค่ไหน ก็บอกได้เลยว่าแทบจะไม่กังวล เพราะพม่ามีประสบการณ์ปิดประเทศ และเป็น “ฤๅษีแห่งเอเชีย” มากว่า 2 ทศวรรษในยุคเน วิน แต่นี่คือปี 2023 ที่การเมืองโลกแตกต่างจากยุคสงครามเย็นที่พม่าสามารถวางตัวเป็นกลางได้แบบชิล..ชิล และยุคที่จีนเองก็ใช้แนวทางสังคมนิยมแบบเข้มข้น ไม่ใช่จีนที่กระตือรือร้นหาทรัพยากรและจีนที่ทำสงครามการค้ากับสหรัฐอยู่ในปัจจุบัน

ในปี 2023 นี้ นโยบายของสหรัฐที่มีต่อพม่าตามหลักการยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่ปัจจัยที่ทำให้ 2023 แตกต่างจากปีก่อนๆ คือในปีนี้พม่าจะมีการเลือกตั้ง ในบทสัมภาษณ์เดเรก โชลเลท ล่าสุดที่ปรากฏใน Voice of America (VOA) เขามองว่าการเลือกตั้งในปีนี้ไม่ได้มีความสำคัญใดๆ สำหรับประชาคมโลก เพราะเป็นเพียงช่องทางให้คณะรัฐประหารใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ครองอำนาจต่อไปได้ โชลเลทยังมองต่อไปว่าคณะรัฐประหารไม่ควรคิดจัดให้มีการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้จะยากลำบากและไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของพม่า เนื่องจากคณะรัฐประหาร/กองทัพพม่าควบคุมพื้นที่ทั้งประเทศได้เพียง 50 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ในสภาพการณ์ที่กำลังมีการสู้รบขึ้นทั่วประเทศ

ก่อนหน้านี้ สื่อไม่ได้ให้ความสนใจนโยบายสหรัฐที่มีต่อพม่าเป็นพิเศษ แต่จะสนใจนโยบายของอาเซียน จีน หรือรัสเซียมากกว่า เพราะมองว่ามีส่วนได้ส่วนเสียกับพม่าโดยตรง แต่จากบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ของโชลเลท อย่างน้อยเราเห็นว่าสหรัฐมีนโยบายต่อพม่าและการส่งเสริมให้เกิดประชาธิปไตยในพม่าเข้มข้นขึ้น ผ่านการให้ความช่วยเหลือรัฐบาลคู่ขนาน NUG และกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์บางส่วน

สหรัฐพยายามใช้สันติวิธีเพื่อแก้ปัญหาในพม่า และจัดหาความช่วยเหลือทุกประเภท (ที่ไม่ใช่อาวุธ หรือที่เรียกว่า non-lethal aid) ให้กับขบวนการต่อต้านรัฐประหาร และความพยายามร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านของพม่า รวมทั้งอาเซียนเพื่อร่วมกันแก้ไขวิกฤตในพม่า เมื่อไม่นานมานี้ โชลเลทเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของคณะรัฐประหาร โดยมีไทยช่วยเป็นสื่อกลางให้ แม้ว่าอาเซียนจะมีจุดยืนคว่ำบาตรผู้นำระดับสูงของรัฐบาลคณะรัฐประหาร

แนวทางของโชลเลทที่เข้าหาพม่าโดยผ่านไทยและอาเซียนเป็นแนวทางที่น่าสนใจ ในบทสัมภาษณ์ของ VOA โชลเลทตั้งใจไม่เอ่ยถึงการพบกันระหว่างผู้นำกองทัพของไทยและพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย และยังไม่ได้กล่าวถึงเรื่องอื้อฉาวของบุตรชายมิน อ่อง ลาย ที่เป็นประเด็นที่สังคมไทยจับตามองอย่างใกล้ชิดในปัจจุบัน นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่าท่าทีของสหรัฐในปัจจุบันเข้าหาไทยมากขึ้น และหลีกเลี่ยงไม่กล่าวถึงไทยในแง่ลบ เพราะไม่ต้องการสร้างความขุ่นข้องหมองใจให้กับผู้นำของไทย เพราะรู้ดีว่าความช่วยเหลือที่รัฐบาลสหรัฐมีให้ฝ่ายต่อต้านคณะรัฐประหารในพม่า ยังไงเสียก็ต้องทำโดยผ่านไทย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0