โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

แม่และเด็ก

เมื่อลูกวัยซนไม่ยอมนอน: 5 เทคนิค พบกันครึ่งทาง ปรับ 'เวลางีบ' ให้เป็น 'เวลาเงียบ'

Mood of the Motherhood

เผยแพร่ 15 พ.ค. 2565 เวลา 15.18 น. • Features

เมื่อลูกเข้าสู่วัยอนุบาล การให้ลูก 'นอนกลางวัน' หรืองีบหลับ ก็กลายเป็นเรื่องยากมากขึ้นเรื่อยๆ ประสบการณ์นี้ของคุณพ่อคุณแม่ ตรงกับข้อเท็จจริงของ Rosalee Lahaie Hera ที่ปรึกษาด้านการนอนหลับของเด็กอายุ 0-6 ปี แห่งเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ที่กล่าวว่า เด็กส่วนมากจะเริ่มต่อต้านการงีบหลับหรือพยายามเข้านอนช้าลงเมื่ออายุ 3 ปีขึ้นไปแต่ถึงอย่างนั้น เด็กวัยนี้ก็ยังควรต้องนอนกลางวันอย่างน้อยวันละ 30–60 นาที เพื่อเติมพลังให้กับร่างกาย อารมณ์ และการทำงานสมอง ดังที่ Dr.Rebecca Spencer นักวิทยาศาสตย์ด้านการวิจัยด้านการเคลื่อนไหวของระบบประสาท โดยเฉพาะการหลับนอนของเด็กเล็ก ระบุว่า ‘เด็กที่งีบหลับตอนกลางวัน และนอนหลับสบายตอนกลางคืน จะส่งผลดีต่อการเรียนรู้ และอารมณ์ ช่วยพัฒนาสมองในส่วนการจดจำและเก็บข้อมูลได้ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้งีบหลับถึง 10%’นอกจากประโยชน์ต่อลูกแล้ว ช่วงเวลางีบหลับของลูกยังเป็นเหมือนช่วงเวลาทองที่คุณพ่อคุณแม่จะได้ใช้ทำอะไรส่วนตัวบ้าง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คุณพ่อคุณแม่จะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกน้อยงีบหลับตอนกลางวัน ในขณะเดียวกันลูกก็พยายามทำทุกทางเพื่อที่จะข้ามช่วงเวลานั้นไปให้ได้โดยไม่ต้องนอนหลับเช่นกันเมื่อความต้องการไม่ตรงกัน เราจึงต้องพบกันครึ่งทางคือยอมเปลี่ยนเวลางีบของลูกให้เป็นแค่ช่วงเวลาเงียบของบ้าน ที่คุณพ่อคุณแม่จะปล่อยให้ลูกได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองอย่างสงบ (แต่จะงีบหรือไม่ ก็ค่อยมาว่ากันอีกที) ด้วย 5 เทคนิค ต่อไปนี้1. สร้างพื้นที่ส่วนตัวและปลอดภัยให้กับลูก

ทุกพื้นที่เป็นอันตรายสำหรับเด็กซนได้เสมอ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องแน่ใจว่า พื้นที่ส่วนตัวของลูก หรือห้องที่จะให้ลูกงีบหลับตามลำพังนั้นมีความปลอดภัยมากพอ เช่น เฟอร์นิเจอร์ต้องยึดให้มั่นคงและแข็งแรง ป้องกันการปีนป่ายเก็บอุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นระเบียบเรียบร้อยพ้นจากมือลูก และสุดท้ายต้องไม่ลืมที่จะประเมินว่ามีสิ่งใดที่จะเป็นอันตรายต่อลูกได้อีกหรือไม่เมื่อพื้นที่ปลอดภัยดีแล้ว อาจสร้างบรรยากาศชวนพักผ่อนมากขึ้นด้วยของตกแต่งที่ลูกชอบ เพิ่มความอุ่นใจให้ลูกด้วยการสร้างมุมที่ลูกและคุณพ่อคุณแม่สามารถมองเห็นกันและกันได้ง่าย เพื่อให้ลูกไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้งตอนอยู่คนเดียวหรืองีบหลับนั่นเอง2. ปรับลูกเข้าโหมด ‘เงียบและช้าลง’

คำแนะนำของ Susie Allison คุณแม่ลูกสาม นักเขียน และบล็อกเกอร์ชื่อดังในเว็บไซต์ Busy Toddler ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการบอกให้ลูกเข้าใจว่า “เวลาที่เงียบสงบ คือสิ่งที่ร่างกายต้องการ”ก่อนถึงเวลา นอนกลางวัน ของลูก คุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มจากปรับบรรยากาศของบ้านให้สงบเงียบ ด้วยการปิดเสียงโทรศัพท์ ปิดเครื่องมือสื่อสาร เปิดหน้าต่างรับแสงธรรมชาติ ชวนลูกพูดคุยในเรื่องต่างๆ หรือหยิบนิทานเล่มโปรดมานั่งๆ นอนๆ อ่านด้วยกัน เปลี่ยนให้ลูกเป็นฝ่ายเล่าแทน หรือทำกิจกรรมที่เป็นการส่งสัญญาณให้ลูกรู้ว่าเรากำลังเตรียมตัวเข้าสู่ความเงียบสงบ แล้วค่อยๆ ขยับตัวเองออกมาจากพื้นที่ของลูก เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกใช้เวลาอยู่เงียบๆ ด้วยตัวเองต่อไป3. ส่งเสริมให้ลูกได้อยู่กับตัวเอง ผ่านการเล่นอย่างอิสระ

ในพื้นที่แห่งความเงียบของลูก ควรมีของเล่นที่ลูกชื่นชอบไว้สร้างความผ่อนคลาย อาจเป็นสมุดระบายสี ตัวต่อ สมุดภาพเล่มโต บ้านตุ๊กตา หรือแป้งโดว์ ที่ลูกสามารถใช้เวลาเล่นอยู่คนเดียวได้นาน4. สอนให้ลูกรู้จักเวลา ด้วย ‘นาฬิกาทราย’

สำหรับเด็กเล็ก เวลาคือนามธรรมที่ยากเกินกว่าจะเข้าใจได้ แต่เพื่อสอนให้ลูกรู้จักเวลาในรูปแบบของสิ่งที่จับต้องและมองเห็นได้ชัดเจนที่สุด แอลลิสันจึงแนะนำให้ใช้นาฬิกาทราย มาช่วยให้ลูกเข้าใจเรื่องเวลาได้เห็นภาพมากขึ้น เช่น คุณแม่อาจบอกให้ลูกเข้าใจว่าลูกจะต้องเล่นเงียบๆ คนเดียว จนกว่าทรายในนาฬิกาทรายจะไหลลงมาอีกข้างจนหมดและเมื่อลูกทำได้ ให้คุณพ่อคุณแม่โอบกอดและชื่นชมลูก จากนั้นจึงชวนลูกทำกิจวัตรประจำวันอื่นๆ ต่อไป5. กำหนด ‘กฎเกณฑ์’ ที่ชัดเจนให้ลูก และต้องทำจนเป็น ‘กิจวัตรประจำวัน’

ภารกิจเปลี่ยนเวลางีบเป็นเวลาเงียบนี้จะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีต้องมีกฏเกณฑ์ เช่น กำหนดเป็นช่วงเวลาเดิมทุกวัน อยู่ในพื้นที่ที่กำหนด และลูกจะต้องอยู่อย่างสงบในช่วงเวลานั้นๆ เว้นแต่จะต้องการความช่วยเหลือหรือต้องการเข้าห้องน้ำ ซึ่งคุณแม่จะอนุญาตให้ตามจำนวนครั้งที่ตกลงกันไว้เท่านั้น และกฎเกณฑ์นี้จะต้องทำซ้ำๆ จนกลายเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวัน เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับลูกแม้ช่วงแรกอาจจะต้องเหนื่อยกับการพยายามรักษากติกาและรบรากับการต่อต้านของลูก แต่อย่าเพิ่งยอมแพ้นะคะ ขอให้ทำต่อไปเรื่อยๆ ไม่ช้าลูกจะเข้าใจและยอมรับกิจวัตรใหม่นี้ได้เป็นอย่างดีที่มาtodaysparentsleepladydailymom

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0