คำพูดที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” เป็นเสมือนแนวทางที่ในการอบรมเด็กที่ “ผู้ใหญ่” ในบ้าน ในเมืองของไทยเชื่อถือ และปฏิบัติสืบกันมา เครื่องมือที่ใช้ทำโทษอย่าง “ไม้เรียว” ก็ได้รับการยกย่องว่ามีส่วนช่วยสร้างคน เพราะทำให้จดจำได้ว่า สิ่งใดควรทำไม่ควรทำ
หากเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี หรือ ครูเทพ กลับเห็นต่างออกไป
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (พ.ศ. 2419-2486) ชื่อเดิม สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา เจ้าของนามปากกา “ครูเทพ” ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในวงการศึกษา ที่เคยเป็นทั้งครูสอนหนังสือ เป็นผู้บริหารในตำแหน่งต่างๆ เช่น เจ้ากรมแบบเรียน, เสนาบดีกระทรวงธรรมการ, รัฐมนตรีกระทรวงธรรมการ, ประธานสภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ และยังเป็นผู้ริเริ่มให้มีการเล่นฟุตบอลในโรงเรียนต่างๆ โดยเริ่มจากโรงเรียนฝึกหัดครู, ริเริ่มการอาชีวศึกษา ฯลฯ
เมื่อ พ.ศ. 2477 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีแต่งกลอนชื่อว่า “ไม้เรียว” เพื่อนำเสนอมุมมองในการใช้ไม้เรียว ว่า “ให้โทษมากกว่าคุณ” ด้านผู้ใช้ไม้เรียวส่วนใหญ่มักมีโทสจริต ใช้อำนาจประหนึ่งศาลเตี้ย ทั้งยืนยันว่าการเฆี่ยนตี “เป็นยาพิษมิให้ใช้บำรุง” ดังกลอนบางส่วนที่ยกมานี้
ให้เหตุผลครอบงำย่อมทำได้ เด็ก ผู้ใหญ่ ครูศิษย์ ไม่ผิดที่
อบรมด้วยเหตุผลได้คนดี น้ำรักมีเมตตาเป็นยาพอ
เก็บไม้เรียวห่อไว้ในตู้เหล็ก สำหรับเด็กเกกมะเหรกและเหลือขอ
ทารกอ่อนเชาวน์ไวใช้ลูกยอ แล้วหุ้มห่อด้วยรักจักมีชัย
ครูเป็นผู้เพ่งจิตตวิทยา ใช้วิชาด้วยวิธีที่แจ่มใส
เพื่อศิษย์ล้วนร่าเริงบันเทิงใจ ได้เจริญเชาวน์ไวในชีวิต
การเฆี่ยนตีเป็นวิธีทำลายขวัญ โทษมหันต์ คุณมีกะจี้หริด
ห้ามก้าวหน้าพาหู่อยู่เป็นนิตย์ เป็นยาพิษมิให้ใช้บำรุง
ผู้เฆี่ยนตีโดยมากไม่อยากคิด โทสจริตครอบงำทำให้ยุ่ง
มีอำนาจก็จะใช้ไม่ปรับปรุง ตั้งศาลเตี้ยตามมุ่งแต่ใจตน
เหตุฉะนั้นการตีมีแต่ห้าม ไม่ต้องตามยุยงส่งเสริมผล
ก็สงครามใครตามไปปรือปรน มีแต่คนคอยห้ามสงครามไว้
โบราณว่าเสียดายไม้เป็นภัยแก่ ยุวชนนั้นแน่หรือไฉน?
เดี๋ยวนี้โลกเจริญมากหากเปลี่ยนไป เป็นขอให้เสียดายพร้อมออมไม้เรียว
อารยชนไม่ชอบหวาย, ฉันใด ลูกของเขาไม่ชอบไม้หวดเควี้ยวๆ
อันนี้เป็นเช่นกันฉันนั้นเทียว พึงเฉลียวเลือกใช้ให้ชอบ เทอญฯ
[สั่งเน้นข้อความโดยผู้เขียน]
อ่านเพิ่มเติม :
ข้อมูลจาก :
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว : ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียนไทย, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก เมษายน 2565
ชลธิรา สัตยาวัฒนา. ครูเทพ, โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, พิมพ์ครั้งที่ 1 2526
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤษภาคม 2565
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี-นักการศึกษาคนสำคัญ ตำหนิไม้เรียว-ผู้ใช้ไม้เรียว
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com
ความเห็น 0