สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี), กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ลงมติในการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับระบบเตือนภัยของประเทศตามมาตรฐานสากล นั่นคือ เทคโนโลยี Cell Broadcast Service หรือ ระบบสื่อสารข้อความตรงไปที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชน อย่างเฉพาะเจาะจงพื้นที่
ระบบนี้มีความเหมาะสมกับการนำมาใช้เพื่อแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน อย่างเป็นสากลในต่างประเทศ เนื่องจากสามารถส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือที่รองรับตั้งแต่ 4G ขึ้นไป ทุกเครื่องที่อยู่ในพื้นที่ครอบคลุมของสถานีฐานบริเวณนั้นๆในเวลาเดียวกัน ด้วยรูปแบบของการแสดงข้อความที่หน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Pop UP Notification) แบบ Near Real Time Triggering เพื่อให้สามารถรับรู้สถานการณ์ต่างๆได้ทันที
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ขอน้อมรับข้อท้วงติงจากประชาชนกรณีการสื่อสารจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อเวลาประมาณ 13.20 น. ของวันนี้
โดยยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. ทุกคนไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีการประชุมเร่งด่วนทันที แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จะเป็นผู้กำหนดข้อความ และส่งมายังสำนักงาน กสทช. ขอให้ประสานผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือช่วยส่งข้อความสั้น (SMS ) แจ้งเตือนประชาชน
ดังนั้น หาก ปภ. ส่งข้อความมาล่าช้า หรือส่งข้อความหลายครั้งจำนวนมาก ก็จะทำให้การส่ง SMS มีความล่าช้าออกไปมากขึ้น เพราะระบบการส่ง SMS ของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือมีข้อจำกัดจำนวนการส่งต่อครั้งไม่เกินประมาณ 200,000 เลขหมาย
นายไตรรัตน์ ยืนยันว่า การสื่อสารส่งต่อข้อความของ ปภ. ไปถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ สำนักงาน กสทช. ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด เพราะเป็นเหตุการณ์ร้ายที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และได้มีการประสานผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในทันทีหลังได้รับข้อความจาก ปภ.
เช่นกรณีเหตุการณ์ในวันนี้ ปภ. ได้ส่งข้อความสั้นที่ต้องการให้ส่งต่อไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจำนวน 4 ครั้ง คือ ครั้งแรก เวลา 14.30 น. จากนั้นส่งมาอีกครั้งในเวลา 16.00 น. จำนวน 2 ข้อความ และครั้งสุดท้ายส่งมาในเวลา 16.30 น. ซึ่งสำนักงาน กสทช. ก็ได้ส่งข้อความต่อให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในทันที
ส่วนกรณีระบบเตือนภัย (Cell Broadcast) ผู้ที่เป็นหลักในการจัดทำระบบจัดหาผู้ดำเนินการ และผู้กำหนดข้อความ คือ ปภ. ส่วนสำนักงาน กสทช. เป็นเพียงผู้สนับสนุนงบประมาณ ซึ่งขณะนี้ทางด้านผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือพร้อมในเรื่องระบบแล้ว เหลือรอระบบจาก ปภ. หากยังดำเนินการไม่ได้ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือก็ยังดำเนินการไม่ได้ เพราะระบบจะเชื่อมต่อกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2567 โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการในส่วนของ Cell Broadcast Entity (CBE)
และให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) รับผิดชอบด้านการเชื่อมต่อและระบบ Cloud Server และการเชื่อมต่อระหว่าง Cell Broadcast Entity (CBE) และ Cell Broadcast Center (CBC) รวมถึงการจัดการอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบการแจ้งเตือนภัยนี้ และทำหน้าที่ประสานกับสำนักงานกสทช.
โดยที่ผ่านมา บอร์ดกสทช.ได้อนุมัติกรอบวงเงินที่จะนำมาหักลดหย่อนรายได้ที่ต้องจัดสรรเพื่อนำไปใช้ในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) จากการจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินฯ เฉพาะเงินสนับสนุนระบบ Cell Broadcast Center (CBC), Core Network, Radio Network และค่าบำรุงรักษาระบบ จำนวน 3 ปี มูลค่าราว 1,030 ล้านบาท ให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้แก่ บริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) และบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) เหลือบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ทดสอบระบบเตรียมความพร้อมแล้ว และพร้อมเชื่อมกับระบบสั่งการของรัฐบาลที่จะเป็นผู้แจ้งเตือนภัยผ่านผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รอเพียงทางปภ. ดำเนินการส่วนของตัวเองให้แล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าในโตรมาสที่ 2 ปี 2568 ระบบ Cell Broadcast จะพร้อมใช้งานจริงได้ในบางพื้นที่ของประเทศ