โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ในวันที่ ‘บ้าน’ ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยเสมอไป ทำยังไงให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวเดินต่อได้

The MATTER

อัพเดต 08 มี.ค. 2563 เวลา 13.28 น. • เผยแพร่ 08 มี.ค. 2563 เวลา 10.10 น. • Lifestyle

คุณสามารถเลิกราหย่าร้างกับคู่รักได้ คุณสามารถเลิกคบเพื่อนที่สร้างความไม่สบายใจให้ชีวิตได้ แต่คุณจะทำอย่างไรต่อไปถ้าความทุกข์ที่เกิดขึ้นมาจากพ่อแม่ หรือคนในครอบครัว…

แน่นอนว่าประเด็นครอบครัวเป็นประเด็นที่บอบบางและละเอียดอ่อนพอสมควร เราเติบโตมากับครอบครัว ใช้ชีวิตกับครอบครัว ครอบครัวในอุดมคติคือบ้านที่พร้อมโอบรับและเยียวยา เป็นบ้านที่มีแต่ความอบอุ่น แต่บางครั้งพื้นที่ภายในบ้านที่ควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเด็กๆ มากที่สุด กลับกลายเป็นสถานที่ที่สร้างบาดแผลทางจิตใจได้บาดลึกที่สุดเช่นเดียวกัน

และหากเด็กๆ เติบโตมาพร้อมกับครอบครัวที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้ลูกๆ แสดงความคิดเห็นกับพ่อแม่ได้อย่างตรงไปตรงมา ด้วยขนบหรือวัฒนธรรมบางอย่างที่ทำให้กำแพงระหว่างวัยสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ยิ่งส่งผลให้บ้านไม่ใช่ที่ที่สบายใจสำหรับทุกคนอีกต่อไป

ว่าด้วยสาเหตุของช่องว่างระหว่าง ‘พ่อแม่-ลูก’

พ่อแม่ คือบุคคลทรงอิทธิพลกับลูกๆ มากที่สุด และพ่อแม่ก็มักจะถูกแปะป้ายมาพร้อมกับการมอบความรักแบบไม่มีเงื่อนไขต่อลูกๆ ด้วย ซึ่งบางครั้งความรักแบบไม่มีเงื่อนไข และลำดับชั้นระหว่างพ่อแม่และลูกก็กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่เข้าไปลดทอนความพยายามในการทำความเข้าใจกัน จนส่งผลถึงพฤติกรรมการเลี้ยงดูที่บังคับให้ลูกๆ ต้องเคารพคำสั่งและการตัดสินใจของพ่อแม่ โดยที่พวกเขาไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างที่ควรจะเป็น

บทความจาก life labs ชวนเราไปทำความเข้าใจถึงลักษณะของพ่อแม่ที่พวกเขาเรียกว่า ‘parent toxic’ ว่า จริงๆ แล้วสาเหตุที่ทำให้พ่อแม่เหล่านี้ส่งต่อพฤติกรรมการเลี้ยงลูกที่ขาดความเข้าอกเข้าใจมีสาเหตุมาจากวัยเด็กของพวกเขาที่ถูกทำร้าย ทอดทิ้ง หรือเกิดจากบาดแผลทางจิตใจจากความเครียดในภายหลัง บางคนเกิดจากพฤติกรรมการใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติด และบางครั้งพวกเขาก็หยิบเอาประสบการณ์การเลี้ยงดูที่ได้รับในวัยเด็กมาใช้กับลูกๆ ของตัวเอง โดยที่ไม่ได้ชั่งน้ำหนักถึงบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

ความน่าสนใจอยู่ที่พ่อแม่หลายๆ บ้านเลือกหยิบรูปแบบการอบรมที่เคยได้รับมาใช้กับบุตรหลานของตัวเอง ซึ่งในบทความระบุว่า สิ่งนี้เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบกับพฤติกรรมของเด็กๆ โดยตรง การที่พวกเขาเลือกใช้วิธีการเดิมที่อาจจะไม่ได้ดีมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดทักษะในการตัดสินที่จะเปลี่ยนแปลงแพทเทิร์นการเลี้ยงลูก เพราะไม่กล้าฉีกกรอบรูปแบบเดิมที่เคยได้รับมา

สิ่งที่น่าเป็นกังวลมากไปกว่านั้นก็คือ พ่อแม่ที่เคยผ่านช่วงวัยเด็ก และเคยสัมผัสช่วงเวลาอ่อนแอเปราะบางในวัยนั้นมาก่อน เมื่อวันหนึ่งพวกเขาต้องมารับบทบาทพ่อแม่ จึงไม่อยากให้ลูกๆ อ่อนแอ และต้องการให้เด็กๆ มีความแข็งแกร่งและผิดพลาดให้น้อยที่สุด ความกดดันและความคาดหวังจึงตกไปอยู่กับลูกๆ หากลูกประสบความสำเร็จก็จะเป็นเหมือนเงาสะท้อนมาถึงพ่อแม่อีกทีหนึ่งด้วย

นอกจากนี้ เรื่องของการทำข้อตกลงภายในบ้านที่มองเผินๆ แล้วก็ดูจะเป็นการสร้างระเบียบให้กับพื้นที่ภายในบ้านดี แต่บางครั้งการที่เด็กๆ ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงตลอดเวลาก็อาจทำให้พวกเขารู้สึกอึดอัดไม่สบายตัว ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ‘บ้าน’ ควรจะเป็นพื้นที่ที่เด็กๆ แสดงออกได้อย่างเป็นธรรมชาติมากที่สุด

ยกตัวอย่างเช่น การเสนอเงื่อนไขว่า พ่อแม่จะให้สิ่งนี้กับลูกก็ต่อเมื่อลูกๆ ทำสิ่งที่พ่อแม่ขอให้ได้ก่อน ตรงนี้เองที่ทำให้พ่อแม่อยู่ในสถานะของผู้มีอำนาจ และสามารถควบคุมเด็กๆ ได้เบ็ดเสร็จทั้งความคิด ความรู้สึก อารมณ์ ภาษา และพฤติกรรม วิธีการนี้ทำให้เด็กๆ อยู่ในกรอบอย่างที่พ่อแม่ต้องการก็จริง

แต่อีกนัยหนึ่งการเข้าไปควบคุมชีวิตแทบทุกมิติก็ทำให้เด็กๆ ไม่กล้าคิดหรือแสดงความรู้สึกนอกเหนือไปจากที่พ่อแม่ขีดเส้นไว้ ผลกระทบถัดจากนี้คือ ทำให้พวกเขาขาดวิจารณญาณในการกลั่นกรองเรื่องถูกผิดด้วยตัวเอง เด็กๆ จะขาดความมั่นใจหรือกล้าแสดงออกไปโดยปริยาย

ผลกระทบจากกรอบและเส้นแบ่งที่พ่อแม่วางไว้

เด็กๆ ที่เติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูแบบนี้มักจะเกิดความรู้สึกเหมือนตัวเองติดอยู่ในกับดัก และมีความกังวลที่จะทำผิดพลาด ทำให้สิ่งที่พวกเขาคาดหวังจะได้รับเมื่อตัดสินใจลงมือทำอะไรบางอย่างกลับกลายเป็นการลงโทษและการตัดสินแทนคำชื่นชม ซึ่งเด็กๆ จะให้ความหมายสองสิ่งนี้เท่ากับความรักและความสนใจที่พ่อแม่มีต่อตัวเขา

บทความจาก New Straits Times วิเคราะห์ไว้ว่า พฤติกรรมของพ่อแม่ที่ส่งผลกับความมั่นใจในการตัดสินใจของลูกๆ มากที่สุดคือ เด็กๆ ต้องเคารพการตัดสินใจของพ่อแม่ไม่ว่าพวกเขาจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม แม้พวกเขาโตขึ้นมากแล้ว แต่ความรู้สึกแบบนี้จะยังไม่หายไปไหน ความทะเยอทะยานที่เป็นลักษณะอันโดดเด่นของวัยรุ่นก็อาจจะถูกเบียดขับออกไปกับเด็กที่โตมาด้วยวิธีการเลี้ยงดูแบบนี้ด้วย

ส่วนผลกระทบในเชิงกายภาพ การเลี้ยงดูที่สร้างความทุกข์เรื้อรังให้กับเด็กจะส่งผลไปถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนอะดรีนาลีน (adrenalin) และคอร์ติซอล (cortisol) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลที่มีผลกับความจำ ระบบกระตุ้นอารมณ์ และความสามารถในการรับมือกับเหตุการณ์ที่ตึงเครียดหรือเจ็บปวด หากเด็กมีความเครียดมากๆ ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลก็จะหลั่งเพิ่มขึ้นผิดปกติทำให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง และอาจเกิดการอักเสบได้

อาการเจ็บปวดจากคำพูดหรือการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่มีผลกระทบกับจิตใจอย่างรุนแรงได้ส่งต่อมาจนถึงวัยผู้ใหญ่จนถึงวัยชราเลยก็มีเหมือนกัน บทความจาก The New York Times เปิดเผยถึงอาการซึมเศร้าของหญิงวัย 60 ปีที่เกิดจากความไม่ลงรอยกันระหว่างเธอและคุณแม่

เธอเล่าว่า ตัวเธอและพี่น้องมักจะได้รับคำพูดในเชิงดูแคลนจากแม่เสมอ ครั้งหนึ่งในวันเกิดของเธอแม่ฝากข้อความมาว่า ขอให้เธอมีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคใดโรคหนึ่ง ถึงอย่างนั้นเธอก็ยังพยายามรักษาและประคองความสัมพันธ์ไปในขณะเดียวกันเนื่องจากหลายปีมานี้แม่ของเธอมีอาการป่วยที่น่าจะเหลือเวลาชีวิตอีกไม่นานนัก

ส่วนอีกเคสหนึ่งเป็นชายหนุ่มที่ตัดสินใจ ‘come out’ กับพ่อแม่ผู้เคร่งศาสนามากๆ เขาเล่าว่า สิ่งที่แย่กว่าการไม่ยอมรับตัวตนคือ คำพูดอันเสียดแทงใจจากพ่อของเขาเองที่บอกว่า “มันจะดีกว่าถ้าเขาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อหลายปีก่อนแทนน้องชาย”

แม้จะเสียใจมากแต่ลึกๆ ก็ยังหวังว่าจะได้รับการยอมรับจากที่บ้าน และต้องการพูดคุยกับพ่อแม่ให้ยอมรับตัวตนในสักวันให้ได้ ซึ่งจิตแพทย์ที่ดูแลเคสของชายหนุ่มคนนี้ให้คำอธิบายว่า ตามทฤษฎีแล้วมนุษย์มักจะมีความรู้สึกผูกพันกับทั้งคน สัตว์ สิ่งของ ที่อยู่ในพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง แม้กับคนที่ไม่ได้ทำดีกับเราขนาดนั้นก็ตาม

สำหรับในวัยผู้ใหญ่ความรู้สึกแบบนี้จะไม่เป็นพิษต่อสมอง ผู้ใหญ่สามารถเรียนรู้และปรับตัวดำเนินชีวิตต่อไปได้ด้วยการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ รวมถึงการบำบัดและเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง จิตแพทย์ระบุว่า ความตึงเครียดที่ยืดเยื้อมีความสามารถฆ่าเซลล์ที่ชื่อว่า ‘ฮิปโปแคมปัส’ (hippocampus) ซึ่งเป็นพื้นที่สมองส่วนความจำ แต่ในวัยผู้ใหญ่สมองมีความสามารถสร้างเซลล์ประสาทใหม่ และพัฒนาให้เป็นปกติเหมือนเดิมได้

แล้วจะรับมือและโอบกอดความสัมพันธ์ต่อไปยังไง?

ถ้าเจอสถานการณ์หนักๆ รู้สึกรับไม่ไหว เราจะก้าวข้ามเรื่องพวกนี้ไปได้ยังไงนะ? ริชาร์ด เอ. ฟรีดแมน (Richard A. Friedman) ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์ แนะนำว่า สิ่งแรกที่ไม่ควรคิดถึงเลยก็คือ การตัดความสัมพันธ์กับครอบครัวออกไปดื้อๆ เขาเปรียบเทียบว่า มันเหมือนกับการตัดแขนขาทิ้ง แม้ว่าพ่อแม่ของคุณจะแย่แค่ไหนก็ตาม จริงอยู่ว่าคุณไม่จำเป็นต้องอดทนและยิ้มรับ แต่เราอาจจะให้เวลาตัวเองได้ ‘take a breath’ หรือถอยออกมาสักก้าวเพื่อให้เวลาตัวเองก่อน

จิตแพทย์แนะนำว่า ในเบื้องต้นให้ดูหัวข้อสนทนาระหว่างเรากับพ่อแม่ก่อนหากรู้แล้วว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่มักจะมีปากเสียงหรือกระทบกระทั่งกันบ่อยๆ ให้หลีกเลี่ยงการพูดถึงหรือสานต่อบทสนทนานั้นด้วยการตอบกลับเพียงสั้นๆ ไม่ลงรายละเอียดความคิดเห็น หรือเลือกรับโทรศัพท์บ้างในบางครั้ง เรียกว่า เป็นการเว้นช่องว่างระยะห่างเพื่อให้พื้นที่ทั้งกับตัวเรา และพ่อแม่เองด้วย

แต่ถ้าทำแบบนั้นแล้วยังไม่ดีขึ้น? เขาแนะนำให้ ปรึกษาพูดคุยกับเพื่อนสนิทหรือคนรัก หรือคนใกล้ชิดรอบๆ ข้างที่รับรู้สถานการณ์ หรือขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์โดยตรง และเน้นย้ำว่า การพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือน่าอายอะไร

ด้านโดโรธี โรว์ (Dorothy Rowe) นักจิตวิทยาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีงานวิจัยที่ระบุว่า แม่สามารถถูกแทนที่ได้ด้วยบุคลลสำคัญอื่นๆ เช่น ญาติอย่างป้าหรือน้า หรือแม้แต่ครูที่เราไว้วางใจมากๆ บุคคลสองประเภทนี้จึงอาจจะช่วยเป็นที่ปรึกษา ช่วยเราประคับประคองความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่-ลูกได้

คนรักเมื่อหมดรักก็เลิกกันได้ แต่กับคนในครอบครัวไม่ว่าจะดีหรือแย่ยังไง ก็คงไม่มีวันตัดกันขาดได้ง่ายๆ อยู่ดี ทำความเข้าใจ หันหน้าเข้ามาคุยกันให้มากขึ้น จับมือแน่นๆ เข้าไว้เพราะยังไงเราก็เป็นทีมเดียวกันไปตลอดชีวิตอยู่ดีแหละเนอะ

Illustration by Sutanya Phattanasitubon

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 5

  • P-NOTT
    จะทำยังไง เมื่อสื่อกลายเป็นสิ่งทิ่มแทง จากบริบทของผู้ผลิตสื่อที่ถูกเลี้ยงดูมาต่างกรอบกัน ..
    08 มี.ค. 2563 เวลา 19.27 น.
  • มาฆะ😇🙏🍻🎉✨
    เลี้ยงลูกจนได้ดีกันแล้ว ควรดูแลสุขภาพด้วย เวลาไปหาหมอควรดูด้วยว่าจบมาจากต่างประเทศรึเปล่าเพราะทุนวิจัยดีกว่าเมืองไทย ขนาดเชื่อหวัดยังพัฒนาตัวไปเรื่อยๆ ควรดูประวัติในเว็ปโรงพยาบาลที่ท่าสังกัดอยู่หาดูในกูเกิ้ลได้
    08 มี.ค. 2563 เวลา 23.51 น.
  • August
    บทความสื่อคณะส้ม สร้างความแตกแยกระหว่างวัย ☠️
    08 มี.ค. 2563 เวลา 19.22 น.
  • Unknow
    แปลไม่ได้เรื่อง
    08 มี.ค. 2563 เวลา 12.59 น.
ดูทั้งหมด