โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

พระขุนแผนเคลือบ กรุวัดใหญ่ชัยมงคล พระนครศรีอยุธยา

สยามรัฐ

อัพเดต 19 มิ.ย. 2563 เวลา 17.10 น. • เผยแพร่ 19 มิ.ย. 2563 เวลา 17.10 น. • สยามรัฐออนไลน์
พระขุนแผนเคลือบ กรุวัดใหญ่ชัยมงคล พระนครศรีอยุธยา

สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม วัชรประดิษฐ์

วัดใหญ่ชัยมงคล เป็นวัดเก่าแก่สำคัญของ จ.พระนครศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยอโยธยาก่อนการสถาปนากรุงศรี อยุธยา เดิมชื่อว่า “วัดพญาไทย” จนถึงสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้สถาปนาวัดพญาไทยเป็นที่ประทับของพระสังฆราชฝ่ายขวา ซึ่งเป็นฝ่ายอรัญวาสี หรือที่เรียกกันว่า “ฝ่ายวัดป่าแก้ว” พระสังฆราชวัดป่าแก้วจะมีสมณศักดิ์ว่า สมเด็จพระพนรัตน์ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

พิมพ์อกใหญ่ฐานเตี้ย หน้า
พิมพ์อกใหญ่ฐานเตี้ย หน้า

พิมพ์อกใหญ่ฐานเตี้ย หน้า
พิมพ์อกใหญ่ฐานเตี้ย หน้า

พิมพ์อกใหญ่ฐานเตี้ย หน้า
พิมพ์อกใหญ่ฐานเตี้ย หน้า

พระขุนแผนเคลือบ วัดใหญ่ชัยมงคล นับเป็นพระเครื่องอันเลื่องชื่ออันดับหนึ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้วยมูลเหตุการณจัดสร้าง ความงดงามของพุทธศิลปะ พุทธลักษณะ รวมถึงพุทธคุณที่เป็นเลิศครบครัน จัดเป็นต้นแบบของพระพิมพ์ขุนแผนที่ได้จัดสร้างกันต่อๆ มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งต่อมาภายหลัง ปรากฏพระขุนแผนเคลือบตามกรุอื่น อาทิ กรุโรงเหล้า กรุวัดเชิงท่า และกรุบางใหญ่ ซึ่งมีพุทธลักษณะเหมือนกับพระขุนแผนเคลือบ วัดใหญ่ชัยมงคล ทุกประการ จะต่างกันตรงความสวยงามสมบูรณ์ เคลือบหรือไม่เคลือบ ทำให้ค่าความนิยมลดหลั่นลงไป
ผู้สร้าง

ย้อนไปเมื่อคราว สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำสงครามยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชา พอเสด็จกลับมายังพระนคร จึงทรงโปรดฯ ให้สร้าง “พระมหาเจดีย์ใหญ่” ขึ้นไว้เป็นพุทธบูชาและเป็นอนุสรณ์แห่งการสงครามในครั้งนี้ที่ “วัดป่าแก้ว” และในการสร้างพระมหาเจดีย์ที่วัดป่าแก้วนี้ สมเด็จพระพนรัตน์ พระอาจารย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ท่านได้สร้างพระพิมพ์บรรจุไว้ในพระมหาเจดีย์หลายพิมพ์ทรง แต่ที่เป็นรู้จักกันเป็นอย่างดีและเป็นที่นิยมสะสมสูงในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่อง คือ “พระขุนแผนเคลือบ” ซึ่งนอกเหนือจากความทรงคุณค่าขององค์พระ ที่สร้างเพื่อเป็นพุทธบูชาในคราวที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงชนะสงครามยุทธหัตถี และปลุกเสกโดย สมเด็จพระพนรัตน์ พระอาจารย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อันนับได้ว่าเป็นพระเครื่องที่ทรงพุทธคุณครบครัน เป็นที่ปรากฏทั้งเมตตามหานิยม แคล้วคลาด คงกระพันชาตรีแล้ว ทั้งเนื้อหาและพุทธลักษณะขององค์พระยังมีความงดงามอย่างไม่มีที่ติอีกด้วย

พิมพ์อกใหญ่ฐานเตี้ย หลัง
พิมพ์อกใหญ่ฐานเตี้ย หลัง


การค้นพบ

สันนิษฐานว่า พระขุนแผนเคลือบได้แตกกรุออกมาตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา โดยมีผู้ลักลอบขุดกรุหาสมบัติหลายครั้งหลายหน จนเมื่อถึงปี พ.ศ.2478 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดใหญ่ชัยมงคลเป็นโบราณสถานของชาติ และเมื่อปี พ.ศ.2499 พระครูภาวนารังสี (เปลื้อง เริงเชียร) เป็นผู้บูรณปฏิสังขรณ์กุฏิ ศาลา รวมทั้งสร้างกุฏิเพิ่มเติมในบริเวณอุโบสถและวิหาร โดยทางกรมศิลปากรได้เข้ามาบูรณะพระมหาเจดีย์ จึงได้ขุดเจาะเพื่อสำรวจโครงสร้างและความแข็งแรงของรากฐาน ในปี พ.ศ.2500 การบูรณะเจดีย์วัดใหญ่ในครานั้นก็ได้พบพระขุนแผนเคลือบจำนวนหนึ่ง

พิมพ์อกใหญ่ฐานสูง
พิมพ์อกใหญ่ฐานสูง

จนเมื่อปี พ.ศ.2506 ได้มีการพบพระขุนแผนเคลือบที่วัดเชิงท่า จังหวัดนนทบุรี และเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2550 ยังปรากฏพระขุนแผนเคลือบแตกกรุออกมาอีกครั้ง ที่วัดบ้านกลิ้ง อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา อีกจำนวนสามสิบกว่าองค์ แต่มีพระแตกหักเสียหายไปหลายองค์ ซึ่งพระทั้ง 2 กรุนี้ ล้วนเป็นพระสร้างขึ้นที่วัดใหญ่ชัยมงคล ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทั้งสิ้น
เนื้อหามวลสาร

พระขุนแผนเคลือบ เป็นพระพิมพ์เนื้อดินละเอียด สีขาวนวล สันนิษฐานว่ากรรมวิธีการจัดสร้างตลอดจนขั้นตอนการเตรียมดิน ซึ่งแสดงให้เห็นพัฒนาการจากการทำเครื่องปั้นดินเผาของจีน เนื้อขององค์พระจึงละเอียดและขาวนวล นอกจากนั้น ยังมีการเคลือบด้วยนํ้ายาเคลือบโดยใช้เทคนิคการเคลือบชั้นสูงของจีน นํ้ายาเคลือบสีเหลืองทองหรืออมเขียวเล็กน้อย คล้ายกับการเคลือบโอ่งมังกรหรือถ้วยชามสังคโลก ในสมัยก่อน ถือเป็นพระกรุเพียงกรุเดียวที่มีการเคลือบด้วยนํ้ายา ซึ่งเป็นการอนุรักษ์เนื้อพระได้เป็นอย่างดีแทนการลงรักปิดทอง อันเป็นวิทยาการสูงสุดในสมัยนั้น

พระขุนแผนเคลือบ พิมพ์แขนอ่อน (พิมพ์เล็ก)
พระขุนแผนเคลือบ พิมพ์แขนอ่อน (พิมพ์เล็ก)

พุทธลักษณะ

พระขุนแผนเคลือบ มีพุทธลักษณะพิมพ์ทรง 5 เหลี่ยม องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย มีซุ้มเรือนแก้วเป็นปริมณฑล ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธชินราช แห่งเมืองพิษณุโลก นับเป็นประติมากรรมซึ่งแสดงให้เห็นศิลปะที่เน้นลายเส้นหนักเบา พลิ้วไหวแบบธรรมชาติ สร้างความสมดุลสวยงามตามหลักศิลปะแบบเดียวกับจิตรกรรมพู่กันจีน แต่คงความเป็นเอกลักษณ์แบบไทยไว้ได้อย่างสมบูรณ์ พระขุนแผนเคลือบ สามารถแบ่งพิมพ์ออกได้เป็น 3 พิมพ์ คือ

พิมพ์อกใหญ่ ฐานสูง

พิมพ์อกใหญ่ ฐานเตี้ย

พิมพ์อกเล็ก หรือที่เรียกว่า “พิมพ์แขนอ่อน”

พิมพ์อกเล็ก หรือที่เรียกว่าพิมพ์แขนอ่อนเป็นพระค่อนข้างหายากมาก ทำให้สนนราคาค่อนข้างสูง ต่อมาภายหลังปรากฏพระขุนแผนเคลือบตามกรุอื่น อาทิ กรุโรงเหล้า กรุวัดเชิงท่า และกรุบางใหญ่ ซึ่งมีพุทธลักษณะเหมือนกับพระขุนแผนเคลือบวัดใหญ่ชัยมงคลทุกประการ จะต่างกันตรงความสวยงามสมบูรณ์ เคลือบหรือไม่เคลือบ ทำให้ค่าความนิยมและสนนราคาด้อยกว่าค่อนข้างมากครับผม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0