ใครที่เป็นสายเกมเมอร์ คอมิก มังงะ อนิเมะญี่ปุ่น หรือหนังไซ-ไฟ น่าจะพอเดาออกว่าโลก Metaverse นั้นพอจะมีหน้าตาเป็นเช่นไร แต่เราคงไม่อาจนิยามหน้าตาของ Metaverse แต่ละแพลตฟอร์มได้อย่างเฉพาะเจาะจง เนื่องจากขึ้นอยู่กับผู้สร้างแพลตฟอร์มว่าอยากจะให้เป็นโลกนั้นมีหน้าตาแบบไหน มีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง แต่เชื่อว่าในอนาคตเราจะสามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระได้ในโลกเสมือนจริงนี้ อยากมีหน้าตา หุ่น สีผิว หรือเป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ไหนก็เลือกได้ตามต้องการ
แต่ก่อนจะไปถึงระดับนั้น เราได้กลับมาคุยถึงหนทางใหม่ โอกาสใหม่ ในการเติบโตในสายอาชีพศิลปิน และนักสร้างสรรค์กับ 'โน้ต’ - วัจนสินธุ์ จารุวัฒนกิตติ แห่งแกลเลอรี Palette Artspace อีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้คุยกับเขาในฐานะนักสะสมงานศิลปะ และเจ้าของแกลเลอรีที่เริ่มนำงานศิลปะเข้ามาจัดแสดงในแพลตฟอร์มออนไลน์ และอาจกล่าวได้ว่าเขาได้พาศิลปะเข้าสู่โลกของ Metaverseอย่างจริงจังคนหนึ่งเช่นกัน โดยเราได้เข้าไปพูดคุยกับเขาใน Palette Artspaceออนไลน์ บนเว็บไซต์ Cryptovoxels หนึ่งในแพลตฟอร์ม Metaverseนั่นเอง
Metaverseโลกเสมือนจริงที่กำลังกลายเป็นจริง
เมื่อเข้าเว็บไซต์มาแล้ว เราก็จะมีอวตาร์เป็นของตัวเอง สำหรับใน Cryptovoxels อวตาร์ของเรานั้นจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นตัวหุ่นไม้ที่เวลาศิลปินฝึกใช้ร่างแบบในการวาดภาพ ระหว่างที่ยืนรอเขามารับเราก็เดินดูนิทรรศการในโชว์รูมต่างๆ ไปพลางๆ จนนึกได้ว่าก่อนหน้านี้เขาก็จัดนิทรรศการออนไลน์อยู่บนอีกแพลตฟอร์มหนึ่ง เรียกว่า Virtual Exhibition หรือ นิทรรศการเสมือนจริง เมื่อเขาเดินเข้ามาหาเราจึงถามด้วยความสงสัยว่า สองสิ่งนี้แตกต่างกันอย่างไร
“เว็บไซต์ก่อนหน้านี้เราทำได้แค่เข้าไปแปะไฟล์ภาพผลงาน แต่ในแพลตฟอร์มของโลก Metaverse เราสามารถจัดห้องเอง สามารถออกแบบห้องให้เป็นไปธีมงานที่เรากำหนดขึ้นได้ นอกจากนี้ยังสามารถใส่เสียง วิดีโอ ใส่ลิงก์ข้อมูลเพื่อเชื่อมต่อกับเว็บไซต์อื่นๆ ได้ด้วย”
“บรรยากาศใน Metaverse จึงคล้ายกับว่าเรากำลังอยู่ในห้องที่จัดแสดงงานศิลปะในโลกความจริง ที่สำคัญคือ มีตัวตนเราอยู่ในนั้นด้วย เวลามีคนอื่นหรือแม้แต่ศิลปินเองอยู่ในงานเราก็จะเห็นเขาด้วย โดยวิธีการแยกแยะความแตกต่างคือ เมื่อเราล็อกอินเข้าเว็บไซต์ไป เราสามารถตกแต่งตัวละครของตัวเองได้”
แอบกระซิบไว้ว่าในนี้นอกจากเดินไปเดินมาจนพลาดตกน้ำไปหลายหนแล้ว เราสามารถบินได้ด้วยนะ หรือจะว่ายน้ำ (ทิพย์) ก็ได้ไม่ต้องกลัวจม เว้นเสียแต่ว่าจะขึ้นจากน้ำไม่เป็นเหมือนเรา
ระหว่างพาเดินลัดเลาะ ชมนิทรรศการแต่ละห้อง โน้ตเล่าให้ฟังว่า หลายคนที่ยังไม่กล้าเข้ามายังโลก Metaverse นั่นเพราะมีความยุ่งยากในการสร้าง เพราะตอนซื้อห้องเราจะได้มาแค่ห้องเปล่า นอกนั้นก็ต้องศึกษาเองว่าจะตกแต่งห้องอย่างไร
“อย่างที่ผมเห็น หลายคนเขาซื้อที่มาแล้วแต่ไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะเขาทำไม่เป็น แต่เราเป็นคนทำนิทรรศการอยู่แล้วก็เลยได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ตรงนี้”
Metaverse นั้นมีหลากหลายแพลต์ฟอร์มมากนอกจาก Cryptovoxels แล้วยังมี The Sandbox แม้จะยังไม่เปิดให้เข้าแต่ที่ดินก็ถูกซื้อไว้หมดแล้ว หรือ decentraland ก็ตาม เหมือนกับเว็บไซต์ที่ลงขายงาน NFT ที่มีหลายตลาด แต่เหตุผลหนึ่งที่เจ้าของแกลเลอรี่คนนี้เลือก Cryptovoxels ส่วนหนึ่งเพราะแพลตฟอร์มนี้ถูกออกแบบมาให้แล้วในรูปแบบของอาคาร เราเพียงแค่เข้ามาซื้อห้อง เหมือนกับซื้อคอนโดมิเนียมเท่านั้น ซึ่งตอบโจทย์ในการใช้จักนิทรรศการของเขาพอดี
บินชมนิทรรศการออนไลน์ สัมผัสใหม่แห่งการดูงานศิลปะ
เราบินลงมาหยุดอยู่ที่ห้องหนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยรูปดอกไม้ที่กำลังจัดแสดงอยู่ชื่อว่า Fabricating Bloomsหนึ่งนิทรรศการในโปรเจ็กต์ Shift Project ที่โน้ตชวนศิลปินจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มาร่วมจัดแสดงผลงาน โดยผลงานนี้เป็นของ วีระพงศ์ แสนสมพร ศิลปินที่สร้างงานขึ้นมาจากวัสดุโลหะ เช่น ทองแดง ทองเหลือง อลูมิเนียมเหล็ก และสเตนเลส ที่นำมาถักทอกันจนเกิดรูปทรงธรรมชาติ
“งานของวีรพงษ์จัดแสดงที่หอศิลป์กรุงเทพฯ หลายรอบแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่นักสะสมไม่รู้คือเบื้องหลังการทำงาน เขาต้องสเกตช์ภาพสามมิติขึ้นมาบนคอมพิวเตอร์ก่อนเพื่อดูมุมซ้าย มุมขวาว่าจะเป็นอย่างไรก่อนจะถักขึ้นมาเป็นรูปทรง ซึ่งภาพเหล่านั้นเขานำมาทำเป็น NFT จนกลายเป็นนิทรรศการในห้องนี้”
ส่วนอีกนิทรรศการอีกห้องหนึ่งในโปรเจ็กต์เดียวกันมีชื่อว่า Shift Project: Portrait of Monsoonผลงานของ อัฐพร นิมมาลัยแก้ว ศิลปินที่ทำงานจิตกรรมด้วยเทคนิคเฉพาะตัวคือ วาดภาพลงวัตถุโปร่งแสงหลายชั้นเพื่อสร้างผลงานสามมิติจากเทคนิคสองมิติ สร้างสรรค์เป็นงานจิตรกรรมที่มีมิติซับซ้อน
ระหว่างเดินดูผลงานไปคุยกับเจ้าของที่ไป อีกข้อดีหนึ่งของการชมนิทรรศการออนไลน์คือ เราสามารถพินิจพิเคราะห์ และพิจารณางานศิลปะได้สบายใจอย่างเต็มที่โดยที่ไม่ต้องคอยหลบกล้องจากคนอื่น อีกอย่างคือสามารถเข้าชมได้เมื่อไหร่ก็ได้โดยที่ไม่ต้องกังวลเวลาปิดเปิด แต่ก็มีอีกคำถามหนึ่งผุดขึ้นมาว่า หากศิลปิน แกลเลอรี และภัณฑารักษ์ทั้งหมดเข้ามาสู่ NFT หรือ Metaverse ก็ตาม แล้วต่อไปงานศิลปะในชีวิตจริงที่เราสามารถจับต้องได้จะเป็นอย่างไร
“จริงๆ จุดประสงค์ที่ผมเข้ามา NFT ไม่ได้ต้องการลงทุนเพื่อหากำไร แต่มาเพื่อโปรโมตให้กลับไปสู่งานที่จับต้องได้ ผมเลยเลือกที่จะไม่มินต์งานขาย NFT อย่างเดียว แต่ผมอยากจัดกิจกรรมให้ศิลปินได้มาพูด ให้คนได้เจอแล้วเข้าใจว่าเขาทำงานอย่างไร เพื่อต่อยอดกลับไปดูงานจริงที่จับต้องได้ของเขาด้วย
“ส่วนอีกข้อดีของคือผมสามารถจัดนิทรรศการคนเดียวได้ ถ้าเป็นสถานที่จริงผมต้องใช้ทีมงาน 3-4 คนในการติดตั้งงาน เตรียมสถานที่ แต่ Metaverse คือลงทุนครั้งเดียวในการซื้อสถานที่”
แต่แน่นอนด้วยความสงสัยว่า ตามปกติแกลเลอรีมักจะได้รายได้จากค่าจัดแสดงงาน ค่าอาหารเครื่องดื่มจากคาเฟ่ที่เปิด และส่วนแบ่งจากการช่วยศิลปินขายงาน แต่ในเมื่อเขาลงทุนซื้อที่ใน Metaverse เพื่อให้ศิลปินได้มีโอกาสจัดแสดงานในนี้ นอกจากได้ทำสิ่งที่รักแล้ว ผลตอบแทนอื่นได้อะไรบ้าง เขาตอบว่า “ได้สะสมผลงานศิลปะของศิลปินแต่ละคนเป็นการแลกเปลี่ยน” จากคำตอบของเขานี้ เชื่อว่าหลังจากนี้น่าจะมีศิลปินที่ทำงานด้วยผลงานจริง เข้ามาต่อคิวร่วมงานกับแกลเลอรีนี้ยาวๆ แน่นอน เพราะพวกเขาจะได้ทั้งพื้นที่จัดแสดงงาน และนักสะสมผลงานที่มาดู
ข้อกังขาที่ว่า NFT ทำให้คุณค่าของงานศิลปะลดลง
เราวาร์ปมาโผล่กันที่อีกห้องหนึ่ง (ใน Cryptovoxels จะมีจุดวาร์ปให้เราเดินทางไปยังเมืองอื่นๆ ในแผนที่ได้อย่างรวดเร็ว โดยตั้งชื่อเกาะตามเมืองใหญ่ต่างๆ ของโลก) ซึ่งเป็นที่จัดแสดงผลงานของ ‘โต๊ด โกสุมพิสัย’ เจ้าของลายเส้นการ์ตูนผีเล่มละบาท และเพื่อสร้างบรรยากาศในห้องนี้ให้เข้ากับผลงาน โน้ตจึงใส่ซาวน์เอฟเฟกต์ด้วยเสียงโหยหวนสร้างความวังเวงเข้าไปให้สมกับชื่อนิทรรศการ THAI GHOST EXHIBITION in Metaverse
แม้กระแสส่วนใหญ่จะพูดถึงข้อดีในการเกิดขึ้นของ NFT แต่ในเมื่อเหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ จึงมีผู้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ตั้งข้อสงสัย หรือมีความกังขากันว่า NFT ไม่ใช่งานศิลปะ แต่เป็นแค่การลงทุนที่กำลังลดคุณค่าของงานศิลปะลงหรือเปล่า ในฐานะคนที่คลุกคลีอยู่ในวงการศิลปะอยากรู้ว่าคุณคิดอย่างไรกับประเด็นนี้ เราถามด้วยความสงสัย
“ต้องบอกว่าจริงๆ แล้ว NFT ไม่ใช่งานศิลปะอยู่แล้ว แต่คือ digital asset ที่นำระบบ Blockchain เข้ามายืนยันว่าสินค้าดิจิทัลนี้มีตัวตนจริงแล้วเราเป็นเจ้าของได้ อย่างผลงานที่ดังช่วงแรกๆ คือ NFT ที่ดิน ของสะสม พวกการ์ด หรือไฟล์ภาพที่แลกเปลี่ยนเงินได้ พวกก้อนหิน คริปโตพังก์ หรือ NBA top shot นี่คือที่หลายคนสนใจในมูลค่ากัน”
“ต่อมาช่วงต้นปี มีการเผาผลงานจริงโดย Banksy เพื่อให้งานที่เป็นดิจิทัลนั้นมีอยู่เพียงชิ้นเดียว เลยทำให้หลายคนสนใจ และเริ่มมองว่าการทำงานศิลปะแขนงนี้ก็ขายได้ แต่จริงๆ คริปโตอาร์ตเป็นจุดเล็กๆ ใน NFT เท่านั่นเอง ดังนั้น เราต้องมองว่าเดิมทีคนที่สะสมคือนักลงทุนอยู่แล้ว NFT ไม่ได้แปลว่างานศิลปะจะถูกด้อยค่าในนี้ แต่มองว่าเรานำศิลปะไปหาเขาเอง ซึ่งเป็นเราเองที่ปรับตัวเพื่อไปหาเขา”
สำหรับชายคนนี้จึงไม่ได้ตั้งเป้าจะแสวงหากำไรในโลกใหม่นี้ แต่กลับกันเขาใช้โลกนี้เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการประชาสัมพันธ์แกลเลอรี งานศิลปะ และศิลปินที่มาร่วมทำงานกับเขา
“เมื่อเรามีพื้นที่แล้วก็ช่วยสนับสนุนศิลปินได้ ผมจึงเน้นทำกิจกรรม จัดนิทรรศการ เวิร์กช็อป เปิดพื้นที่ให้ศิลปินได้โชว์ผลงาน เพราะเดิมทีคนที่มาดูงานศิลปะในสถานที่จริงไม่ได้มีเยอะมาก แต่เราใช้ประโยชน์พื้นที่นี้ให้เขาได้เจอนักลงทุน ให้เขาสามารนำเสนอผลงานตัวเองได้ ถ้านักลงทุนสนใจเขาก็สะสม เมื่อเขารู้จักงานของศิลปินจาก NFT แล้ว เขาก็จะได้ตามไปเก็บงานจริงด้วย นี่คือสิ่งที่ผมคาดหวังในการเข้ามาในวงการนี้ ดังนั้น ผมไม่ได้มาเพื่อทำกำไร แต่ทำเพื่อใช้จุดเด่นมาเติมจุดด้อยของเรา”
ในเดือนพฤศจิกายนที่กำลังจะมาถึง เขามีอีกหนึ่งจัดกิจกรรมดีๆ มาฝากที่ Galleries' Night ณ สถานทูตฝรั่งเศส นั่นคือการประกวดผลงาน NFT โดยเชิญศิลปินมากประสบการณ์ ได้แก่ 'อาจารย์ตั้ม' - เกรียงไกร กงกะนันทน์, ‘วิค’ - วันชนะ อินทรสมบัติ และ ‘ปอม’ - สุวรรณวิชัย เสียงสุวรรณ มาเป็นกรรมการคัดเลือกผลงาน เนื่องจากต้องการให้ศิลปินสาย illustrator หรือคนที่ไม่ได้ทำศิลปะแบบจัดแสดงได้มีโอกาสมีประสบการณ์นี้ด้วย
ต่อให้บรรยากาศในห้อง THAI GHOST EXHIBITION in Metaverseจะหลอนหูหลอนตาเพียงใด แต่มุมมองที่เราได้ฟังจากเจ้าของสถานที่กลับทำให้อบอุ่นหัวใจอย่างเหลือล้น หวังว่ามุมมองของเขาอาจจะทำให้หลายคนเปิดใจกับช่องทางในโลก NFT และ Metaverse มากขึ้น
สามารถติดตามชมนิทรรศการจากหลากศิลปิน หลายประเภทผลงานได้ที่ Palette Artspaceออนไลน์ ได้ที่นี่
ความเห็น 0