นักวิเคราะห์มอง คำสั่งแบนแอปจีนอย่างติ๊กต็อกกับวีแชทของทรัมป์ เป็นการสร้าง "Great Firewall" เวอร์ชันสหรัฐ แถมเป็นการบีบให้เลือกระหว่างระบบนิเวศของสหรัฐกับจีน
หลายฝ่ายวิตกเกี่ยวกับระบบนิเวศของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในโลก หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ สั่งแบนแอปติ๊กต็อกและวีแชทของจีนด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง เพราะทำให้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตถอยห่างจากแนวคิดที่อเมริกาส่งเสริมมาตลอดว่าควรมีความเป็นสากลและเปิดกว้าง ทั้งยังอาจเชื้อเชิญให้ประเทศอื่นดำเนินรอยตาม
ผู้ก่อตั้ง Internet Governance Project ในสหรัฐ มองว่าการเคลื่อนไหวของทรัมป์เป็นความพยายามแบ่งแยกอินเทอร์เน็ตและสังคมข่าวสารในโลก ให้เป็นฝ่ายสหรัฐกับฝ่ายจีน และปิดกั้นจีนออกจากเศรษฐกิจสารสนเทศ
คำสั่งของทรัมป์เสมือนเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อสร้าง “Western firewall" คล้ายกับที่จีนมี Great Firewall หรือกำแพงอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียนในจีนถูกควบคุมและสอดส่องโดยรัฐบาลได้ง่าย
นอกจากนั้น การเคลื่อนไหวดังกล่าว อาจส่งผลเสียมาถึงบรรดายักษ์ใหญ่เทคโนโลยีของสหรัฐซึ่งครองโลกออนไลน์นอกประเทศจีน เพราะประเทศอื่นอาจอ้างทำนองเดียวกับสหรัฐว่าแอปเปิ้ล กูเกิล เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ กำลังดูดข้อมูลคนในประเทศของตนเองไป ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ขึ้นจริง บรรดาบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐจะถูกกันออกจากตลาดในประเทศต่างๆ
ทั้งนี้ คำสั่งแบนแอปจีนยอดนิยมของทรัมป์มีขึ้น หลังจากกระทรวงต่างประเทศสหรัฐประกาศโครงการ "Clean Network" เพื่อกันแอปและบริการที่ไม่น่าไว้วางใจของจีน ไม่ให้มีการติดตั้งในอุปกรณ์ต่างๆ ในสหรัฐ
นักวิเคราะห์มองว่าการเคลื่อนไหวนี้ อาจนำไปสู่การแข่งขันและความสับสนในหลายพื้นที่ของโลก ที่ถูกบีบให้เลือกระหว่างระบบนิเวศของสหรัฐกับจีน พร้อมเสริมว่าช่องว่างทางดิจิทัลระหว่างจีนกับตะวันตกกำลังลดลง และประเทศที่อยู่ตรงกลางระหว่างจีนกับตะวันตก คือชาติต่างๆ ในทวีปแอฟริกากับเอเชีย จะต้องตัดสินใจว่าอยากอยู่ข้างไหน
นักวิเคราะห์แห่ง Council on Foreign Relations ระบุว่าการกระทำของสหรัฐเป็นไปในทิศทางของการสร้าง “อธิปไตยบนไซเบอร์” ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนส่งเสริม แต่สหรัฐคัดค้านมาตลอด
มีการมองด้วยว่าการกระทำของทรัมป์ ยืนอยู่บนกระแสวิตกที่คลุมเครือด้านความมั่นคงและความคิดผิดๆ เกี่ยวกับการคานอำนาจที่กำลังเพิ่มขึ้นของจีน รัฐบาลทรัมป์คิดว่าตัวเองสามารถสกัดพัฒนาการของจีน ไม่ให้ขึ้นมามีอำนาจทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ด้วยการตัดหนทางต่างๆ ซึ่งไม่น่าจะเป็นแนวทางที่ส่งผลดี