‘โคกหนองนา’ ไทยโชว์เวที ‘ยูเอ็น’ โมเดลพัฒนายั่งยืน
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงพื้นที่ไปดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.เชิงดอย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ น้ำ ป่า อาชีพ และการใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชนตามแนวทางพระราชดำริ
จากนั้นให้สัมภาษณ์ถึงการเดินทางไปร่วมประชุมสหประชาชาติ ที่กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 18-26 กันยายนนี้ว่า ถ้ามีโอกาสจะนำ โมเดลโคกหนองนา ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปเสนอในเวทียูเอ็นถึงภาพรวมของโครงการ เพราะแน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องความน่าภาคภูมิใจของคนไทยที่ต้องนำไปเสนอ
ด้วยเห็นว่า“โคกหนองนา” หรือ “อารยเกษตร” สามารถช่วยประชาชนชาวไทยได้มากมาย
สำหรับ อารยเกษตร เกิดขึ้นจากพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ ที่รัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้มากกว่า 40 ทฤษฎี โดยนำมาสู่การขับเคลื่อนให้พี่น้องคนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาและมีความเข้าใจในเรื่องของการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่มาใช้ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
พระองค์ทรงปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่างในการสืบสาน รักษา และต่อยอดคุณค่าและอารยธรรมของแผ่นดินให้กับปวงชนชาวไทยอย่างเป็นรูปธรรมของการพัฒนาตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียง โดยได้พระราชทานพื้นที่จัดทำโคกหนองนา หรืออารยเกษตร ณ บริเวณพระตำหนักเรือนต้น พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต แก่ข้าราชบริพารในพระองค์ได้นำไปใช้ต่อยอดเพื่อความยั่งยืนของชีวิตในอนาคต
พระองค์ เสด็จฯไปทรงขุดดินริเริ่มโคกหนองนา ในพระราชวังดุสิตด้วยพระองค์เอง พร้อมพระราชธิดา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และพระราชโอรส สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร
“อารยเกษตร พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต” จึงเป็นดั่งหมุดหมายของการก้าวสู่อารยประเทศ ที่มั่นคง มั่งคั่ง จากวัฒนธรรมและภูมิปัญญาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสเรื่อง “อารยเกษตร” เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ความตอนหนึ่งว่า “โคกหนองนา นอกจากเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทางด้านเกษตรกรรม แล้วยังเป็นศิลปะ เป็นแบบฝึกหัดที่ดี ในการที่จะรวมเกษตรที่หลากหลายให้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ในเวลาเดียวกัน รักษาความหลากหลาย แต่ความหลากหลายนั้นก็เกื้อกูลซึ่งกันและกัน…”
“…โคกหนองนา ความหมายดีอยู่แล้ว ก็คือเกษตรเพื่อความอุดมสมบูรณ์ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน และชีวิตของพวกเรา เพราะว่าประเทศของเรานี้ไม่หนีเรื่องการเกษตรคือปากท้อง และเป็นชีวิตของเราตามพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานมา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณมามากมายในเรื่องของเกษตร ในเรื่องของการพัฒนา อันนี้ก็เป็นการรวม หรือแสดงตัวอย่าง และเป็นตัวอย่างที่ใช้งานได้จริงๆ นำไปใช้ได้ ไม่ใช่เป็นโมเดลที่แสดงไว้ในตู้ อยู่คงที่ แต่เป็นโมเดลที่ใช้งานได้จริงๆ นำไปใช้ได้อย่างอ่อนตัว อย่างใช้งานได้จริงๆ แล้วก็หลากหลายได้”
“โคกหนองนา นำความหลากหลาย และความอ่อนตัวมารวม เพื่อใช้งานในเรื่องปากท้องและการเกษตรซึ่งเป็นเศรษฐกิจของเรา เพราะฉะนั้น ก็ขอชมเชยท่านทั้งหลายที่มีความคิด มีความกระตือรือร้น มีความรักในวิชาหรือรักในการเกษตร การนำเกษตรมารวมเป็น โคกหนองนานี้ ไม่ได้จะมาบอกว่าต้องทำเป็นแบบนี้ แบบนั้น มันมีหลักการกว้างๆ มีเป้าหมายที่แน่นอนคือ ความอุดมสมบูรณ์ ความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร และการเสริมคุณภาพชีวิต หัวใจคือคุณภาพชีวิตของเรา การเกษตร เป็นอาหาร เป็นสิ่งที่เป็นหลักของชีวิตของเรา นี่ก็คือ คำว่า โคกหนองนา โมเดล คือหลากหลายแต่ก็มีหลักการ เป็นแบบนี้ แบบนั้น แต่หลักการก็ไม่ได้มาผูกมัดพวกเรา เรียกว่า Check List คือเป็นสิ่งที่พวกเราจะต้องนำมาพิจารณาไปสู่ความหลากหลาย และความสมบูรณ์ ของการเกษตรของประเทศ…”
“…ในยุครัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง ในยุคนี้คือเกษตร เกษตรคือประเทศ ก็คือผืนดิน (Sustainable Agronomy) คือ อารยประเทศ เกษตรประเทศ ก็คืออารยประเทศ ทำได้โดยประยุกต์หลายๆ ทฤษฎีที่ได้ทรงรับสั่งไว้ อารยะคือเจริญแล้ว เจริญแล้วก็ต้องเจริญในใจก่อน ประเทศเรารวยที่สุดคือ อารยธรรม เรียกได้ว่าเป็น Cultural Heritage เมืองไทยมีวัฒนธรรม คนไทยใจดี มีเมตตา ธรรมะ ธัมโม มีความรู้เรื่องศาสนา มีศาสนาต่างๆ ที่รักษาไว้ ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะต่างๆ ที่รักษาไว้ วัฒนธรรมของเรา มี Culture หรือการเป็นคนไทย ประเทศอื่นไม่มี บ้านเรามีวัฒนธรรม มีความเป็นคนไทยเราจึงรอด แต่ไม่ใช่เราคร่ำครึ ประเทศที่มีวัฒนธรรม ไม่ใช่เอาของต่างชาติมาใช้หมด เทคนิคของต่างชาติ เทคโนโลยีของต่างชาติก็ดี แต่เราก็ต้องนำมาใช้ให้เหมาะสมในบ้านเรา”
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้จัดให้มีโครงการนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงอำเภอนำร่อง : Change Agents for Strategic Transformation Program (CAST) เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการสร้างต้นแบบของทีมคนทำงาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ที่มีจิตอาสา มีความเสียสละ ประกอบด้วย ภาคีเครือข่าย ทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ให้เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาในพื้นที่อำเภออย่างยั่งยืน
โดยมี “นายอำเภอ” ในฐานะนายกรัฐมนตรีของอำเภอ ดึงศักยภาพและความมุ่งมั่นของทีมงานออกมาอย่างเต็มที่ ร่วมกันทำงานเป็นทีม ช่วยกัน Change for Good ให้เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีความทุกข์น้อยลง มีความสุขมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางและวิธีการที่จะนำการเปลี่ยนแปลงในระดับอำเภอได้อย่างยั่งยืน ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาราษฎรอย่างยั่งยืนตลอดไป
ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการอำเภอนำร่องคัดเลือกจาก 878 อำเภอ ให้เป็นตัวแทน 76 จังหวัด ต่อมาคัดเลือกเป็นตัวแทน 18 กลุ่มจังหวัด และมาคัดเลือกเข้ารอบสุดท้าย 10 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่ใจ จ.พะเยา, อ.เมือง จ.ขอนแก่น, อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี, อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์, อ.เทพา จ.สงขลา, อ.เมือง จ.ยะลา, อ.เมือง จ.พิษณุโลก, อ.วังเจ้า จ.ตาก, อ.หันคา จ.ชัยนาท และ อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี
โครงการนี้ มี สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นแม่ทัพในการขับเคลื่อนอำเภอนำร่อง บำบัดทุกข์ บำรุงสุข โดยทั้ง 10 อำเภอมีผลงานที่โดดเด่นในเชิงประจักษ์ ก่อเกิดประโยชน์ ประชาชนมีพื้นที่ทำกินและพื้นที่ใช้ประโยชน์ ทำให้หมู่บ้าน/ชุมชน มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น สามารถพึ่งตนเองได้ มีอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มีความสุขเพิ่มขึ้น และมีหนี้ลดลง
จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทย จะนำโมเดล โคกหนองนา ไปเสนอในเวทียูเอ็น ให้ทั่วโลกได้รับรู้ เป็นการแชร์ประสบการณ์และความสำเร็จให้ชาติต่างๆ นำไปปรับใช้ อันจะเกิดประโยชน์กับประชาชนของชาตินั้นๆ ต่อไป
ความเห็น 0