โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

‘ก้าวไกล’คาใจ 5 ปมนขนย้ายกากแคดเมียมกลับตาก จี้‘ทส.’กล้าฟันบริษัทต้นกำเนิดมลพิษ-ฝืน EIA

แนวหน้า

เผยแพร่ 17 เม.ย. เวลา 17.00 น.

‘ก้าวไกล’ข้องใจ5ประเด็นขนย้ายกากแคดเมียมกลับจ.ตาก แจงปมโรงงานเก็บกากเป็นญาติ‘สก.เนอส’หลักฐานชัดเจน ไม่มีเรื่องอะไรต้องสงสัย ว่าไปตามกฎหมาย กระทุ้ง‘กระทรวงทรัพย์ฯ’กล้าฟันบริษัทต้นกำเนิดมลพิษ-ฝืนEIA

เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2567 ที่รัฐสภา สส.พรรคก้าวไกล ในนามกลุ่ม ‘ก้าวกรีน’ นำโดยนายเดชรัต สุขกำเนิด ผอ.สถาบันวิจัยนโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) นายคริษฐ์ ปานเนียม สส.ตาก นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สส.สมุทรสาคร และน.ส.ภัสริน รามวงศ์ สส.กทม. ร่วมกันแถลงข้อห่วงใยกรณีการขนย้ายกากแคดเมียม กลับไปยัง จ.ตาก

โดยนายเดชรัตน์ กล่าวว่า คาดว่าการขนย้ายแคดเมียมกลับ จ.ตาก จะใช้เวลาขนย้ายประมาณ 480 กว่าเที่ยวคันรถ และใช้เวลา 1-2 เดือน ทางพรรคจึงมีความกังวลต่อการปฏิบัติและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมตั้งข้อสังเกต 5 ประเด็น คือ

1.กากแคดเมียมที่พบทั้งหมดในปัจจุบันและกำลังจะขนกลับไป ยังไม่ครบจำนวน 13,800 ตัน เพราะปัจจุบันยังค้นไม่พบ ขาดอยู่จำนวน 1,265 ตัน คาดการณ์ว่าอาจจะเกิดจากความชื้นที่ลดลง หรือการคำนวณน้ำหนักที่ไม่แน่ชัด ซึ่งพรรคก้าวไกลกังวลว่าอาจจะมีการกักเก็บในพื้นที่อื่นๆ ที่ยังไม่ทราบในบางพื้นที่ เช่น กรณีที่พบที่เขตบางซื่อ มีแคดเมียม 150 ตัน ดังนั้นอีก 1,265 ตันอาจจะกระจายอยู่ในพื้นที่อื่นได้ หรืออาจเป็นไปได้ว่ามีการหลอมแคดเมียมไปแล้วบางส่วน โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.สมุทรสาครและชลบุรี จึงอยากให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทราบอย่างโปร่งใส

2. ขอให้รัฐบาลตรวจสอบสารปนเปื้อนทั้งในร่างกายและสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมพร้อมกับกำหนดมาตรการฟื้นฟูเยียวยาโดยไม่อ้างข้อติดขัดใดๆ ทั้งสิ้น และขอให้ประกาศพื้นที่ควบคุมมลพิษ

3.การขนส่งกากแคดเมียมไปยัง จ.ตากนั้น จะต้องมีบุคคลที่สามหรือมีส่วนเกี่ยวข้องตรวจสอบความพร้อมพื้นที่จัดเก็บ เนื่องจากก่อนหน้านี้การลักลอบขุดกากแคดเมียมส่งผลให้คอนกรีดฝังกลบ ได้รับความเสียจาก การขุดของรถแบคโฮ ส่งผลให้ประชาชนในจ.ตาก กังวลเรื่องความปลอดภัย จนต้องออกมาเรียกร้อง

4.หลังประเมิน เที่ยวรถในการขนส่งและปริมาณรถที่ขนได้ พบว่า ต้องขนมากกว่า 480 เที่ยว ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลานาน 1-2 เดือน และกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูฝน อาจทำให้มีการปนเปื้อนระหว่างขนส่งได้ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้มงวดโดยใช้รถที่ได้รับอนุญาตให้ขนส่งวัตถุอันตราย และมีมาตรการป้องกันกรณีเกิดอุบัติเหตุด้วย

5.สรุปบทเรียนจากเหตุการณ์นี้ เพื่อหาข้อผิดพลาดนำไปสู่มาตรการการแก้ไข โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ ที่ต้องควบคุมอย่างชัดเจนและเปิดเผยต่อสาธารณะ

เมื่อถามว่าการนำกากแคดเมียมกลับไปยัง จ.ตาก จะมีชาวบ้านในพื้นที่มาประท้วง สถานการณ์ในพื้นที่เป็นอย่างไรบ้าง นายคริษฐ์ กล่าวว่า จากการที่ตนลงพื้นที่กับรองอธิบดีกระทรวงอุตสาหกรรม จู่ๆ ชาวบ้านในพื้นที่ก็พูดขึ้นมาว่าถ้าสภาพของบ่อกลบยังไม่เรียบร้อย ไม่มีความปลอดภัย ชาวบ้านก็อาจจะออกมาคัดค้าน แต่ถ้ากระบวนการทุกอย่างถูกต้อง มีความเชื่อมั่นก็พอจะเจรจากันได้ ตนมองว่า จ.ตากมีทรัพยากรมาก ที่ผ่านมามีผู้คนมาตักตวงผลประโยชน์ออกไป เราเข้าใจดีว่ามาจาก จ.ตากและต้องนำกลับไป คนจ.ตากก็กังวลเช่นเดียวกับคนพื้นที่อื่น หากจะขนกลับมาก็ยอมรับได้ แต่กระบวนการต้องกระทบประชาชนน้อยที่สุด เพราะสิ่งเหล่านี้จะต้องอยู่กับพวกเขาไปจนตาย

เมื่อถามว่ากระบวนการในการเอาผิด จะมีใครได้รับโทษบ้าง นายเดชรัตน์ กล่าวว่า มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ใบอนุญาต ต้องไปตรวจสอบว่าใครผิดบ้าง ยืนยันว่าในพื้นที่มีกากโลหะหนักจากการทำเหมืองสังกะสีที่ได้กากแคดเมียม ตอนทำ EIA ระบุว่า จะฝังเก็บถาวร แต่พอตอนย้ายออกไป ทำไมไม่แจ้งให้ทราบ ส่วนจะมีการยื่นเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือไม่นั้น ยืนยันว่าจะใช้ช่องทางสภาฯ แน่นอน แต่ช่วงนี้ยังปิดสมัยประชุม เมื่อมีโอกาสก็จะเร่งดำเนินการในทุกช่องทาง

เมื่อถามถึงประเด็นที่เจ้าของโรงงานที่เก็บกากแคดเมียมเป็นของญาติ น.ส.ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย หรือ สก.เนอส จากพรรคก้าวไกล ได้มีการสอบถามไปหรือไม่ นายเดชรัตน์ กล่าวว่า เราได้สอบถามแล้วตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุขึ้น ทุกอย่างเป็นไปตามข้อกฎหมาย หลักฐานชัดเจน ไม่มีเรื่องอะไรต้องสงสัย

เมื่อถามว่าสามารถใช้กฎหมาย EIA หรือกฎหมายของกรมควบคุมมลพิษ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติดำเนินการเอาผิดบริษัทต้นทางได้เลยหรือไม่ นายเดชรัตน์ กล่าวว่า ทำได้เลย และตนย้ำว่าเรื่องนี้มีหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรมให้การอนุญาตด้วย

ด้านนายพูนศักดิ์ กล่าวเสริมว่า กระทรวงทรัพยากรฯ สามารถดำเนินการเอาผิดบริษัทต้นกำเนิดมลพิษ ได้ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 โดยกรมควบคุมมลพิษ ต้องดำเนินการเอาผิดกับบริษัทเอกชนที่เป็นต้นกำเนิดของกากแคดเมียม ขณะที่สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) สามารถดำเนินการเอาผิดในเรื่องการฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตาม EIA ซึ่งมีโทษทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตามตนยังไม่เห็นแอคชั่นจากกระทรวงทรัพยากรฯ ในเรื่องนี้ เหมือนกรณีที่ผ่านๆ มา

0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0