สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชีย รายงานว่า บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี และบริษัทลูก หัวเว่ย ดิจิทัล พาวเวอร์ ได้พัฒนาเครื่องชาร์จอีวีแบบเร็วพิเศษ เป้าหมายคือ ชาร์จ 1 กิโลเมตร/วินาที เพื่อให้ผู้ขับขี่ได้รับประสบการณ์เช่นเดียวกับการเติมน้ำมัน รวมทั้งเครื่องชาร์จสามารถใช้ได้กับอีวีทุกประเภท รวมถึงของเทสลาด้วย
เครื่องชาร์จพิเศษนี้ หัวเว่ยมีแผนจะขายให้ผู้ให้บริการสถานีชาร์จ โดยบริษัทมีแผนจะติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จอีวีความเร็วสูงพิเศษนี้ทั้งหมด 100,000 เครื่อง ในสถานที่ต่างๆของประเทศจีน
โดยหัวเว่ยจะเน้นพัฒนาและติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จเร็วในจีนก่อน แต่ไม่ได้ตัดโอกาสในการขยายธุรกิจนี้ไปยังต่างประเทศ
จากสมมติฐานที่หัวเว่ย ใช้สำหรับตัวเลข 1 กม./วินาที ซึ่งเป็นยานพาหนะไฟฟ้าที่ติดตั้งแบตเตอรี่ขนาด 80 กิโลวัตต์ชั่วโมงและวิ่งได้ระยะทาง 600 กิโลเมตร ตามทฤษฎีแล้ว การชาร์จเต็มจะแล้วเสร็จภายในเวลาประมาณ 8 นาที ส่วนเวลาในการชาร์จจริงจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและความจุที่เหลืออยู่ของแบตเตอรี่
กำลังไฟฟ้าของเครื่องชาร์จ 600 kW เป็นหนึ่งในกำลังที่สูงที่สุดในโลก Supercharger ของ เทสลา มีกำลังสูงสุด 250 kW ภายใต้เงื่อนไขเดียวกับที่ หัวเว่ยประมาณการไว้ หมายความว่าการชาร์จจนเต็มโดยใช้อุปกรณ์ของเทสลาจะใช้เวลาประมาณ 19 นาที
แม้ธุรกิจหลักของหัวเว่ยจะเป็นธุรกิจโทรคมนาคม แต่ก็ยังเกี่ยวข้องกับสถานีฐานโทรศัพท์มือถือและการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์อีกด้วย
ประเทศจีนมีสถานีชาร์จสาธารณะ 2.7 ล้านแห่ง (ข้อมูลถึงสิ้นปี 2566) และคาดว่าตัวเลขสถานีชาร์จจะเพิ่มขึ้น 40% ในปี 2567 แต่มีเพียงสถานีชาร์จบางส่วนเท่านั้นที่รองรับการชาร์จเร็ว และก็ยังไม่เพียงพอ เพราะมีรถอีวีที่ต้องการชาร์จอย่างรวดเร็วเพิ่มขึ้น
เทสลา เป็นผู้นำในการพัฒนาเครือข่ายเครื่องชาร์จเร็ว มีการพัฒนาและเริ่มติดตั้งในประเทศจีนในปี 2014 และมีมากกว่า 11,000 จุด แต่ส่วนใหญ่สามารถชาร์จได้เฉพาะรถเทสลาเท่านั้น
ตอนนี้ธุรกิจพัฒนาเครื่องชาร์จเร็วในจีนมีการพัฒนาแข่งขันกันมาก บริษัทสตาร์ทอัพ EV Xpeng Motors ได้ติดตั้งเครื่องชาร์จเร็วเป็นพิเศษด้วยกำลังสูงสุด 480 กิโลวัตต์ราวๆ 200 แห่ง ในจีน รวมทั้งผู้ให้บริการสถานีชาร์จรายใหญ่ TELD และ Star Charge ก็กำลังติดตั้งเครื่องชาร์จที่เร็วเป็นพิเศษเช่นกัน
เมื่อปีที่แล้ว CATL ผู้นำด้านการผลิตแบตเตอรี่ระดับโลกได้ประกาศว่ามีการพัฒนาแบตเตอรี่ใหม่ที่สามารถชาร์จได้ไกล 400 กิโลเมตร ใน 10 นาที
วิเคราะห์กันว่าหากเครื่องชาร์จของหัวเว่ย ซึ่งใช้ชาร์จได้กับผู้ผลิตรถยนต์ทุกรายเริ่มแพร่หลาย ก็อาจส่งผลกระทบต่อบริษัทจีนอื่นๆ ที่กำลังพัฒนาเครื่องชาร์จเร็วเช่นกัน