โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

สจล.ร่วมตั้ง“สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์” ปั้นเอไอแซนด์บอกซ์ แห่งแรกของไทย

สยามรัฐ

อัพเดต 11 พ.ค. 2565 เวลา 03.40 น. • เผยแพร่ 11 พ.ค. 2565 เวลา 03.40 น.
สจล.ร่วมตั้ง“สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์” ปั้นเอไอแซนด์บอกซ์ แห่งแรกของไทย

6 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ลงนามความร่วมมือนำร่องเปิดให้นักศึกษาเรียนรู้ข้ามสถาบันสาขา ปัญญาประดิษฐ์ เริ่มปีการศึกษา 2565

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL) พร้อมด้วยมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดตั้ง “สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์” ที่มุ่งผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรมอย่างสูง รวมถึงสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อรองรับเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ร่วมกับมหาวิทยาลัยพันธมิตร เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล คอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ได้เรียนรู้และฝึกประสบการณ์แบบข้ามมหาวิทยาลัยได้ เริ่มปีการศึกษา 2565

ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยว่า การร่วมมือกันจัดตั้ง สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ ในครั้งนี้คือมิติใหม่ของการผลิตกำลังคนของระบบอุดมศึกษาในอนาคต ช่วยพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศที่มีสมรรถนะตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมให้ทันเวลากับการใช้งาน ตามความต้องการ และการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเกิดขึ้นภายใต้นโยบายการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาทั่วไป (Higher Education Sandbox) เป็นการสร้างรูปแบบและวิธีการจัดหลักสูตรแบบทลายข้อจำกัดในทุกๆ ด้านของระบบการจัดการศึกษาในปัจจุบัน อาทิ ด้านมาตรฐานในการเรียนการสอน ผู้สอน หลักสูตร หรือหน่วยกิต รวมถึงสถานที่จัดการเรียนการสอน ทั้งนี้ สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ นับได้ว่ามีบทบาทที่สำคัญในการขับเคลื่อนโครงการพลิกโฉมระบบอุดมศึกษาของประเทศไทย (Reinventing University System)

ด้าน รศ. ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ รักษาการแทนอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เผยว่า สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ คือ ความร่วมมือด้านวิชาการระหว่าง 6 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อแบ่งปันทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพในการบริหารหลักสูตรด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงการศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันจัดการศึกษาที่แตกต่างโดยอาศัยหลักการแซนด์บ็อกซ์ (SANDBOX) พลิกรูปแบบการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาไทยอย่างสิ้นเชิง เริ่มปีการศึกษา 2565

ทั้งนี้ การร่วมมือกันจัดตั้งสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ที่ตรงกันระหว่างผู้บริหารทั้ง 6 มหาวิทยาลัย เล็งเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาด้านการทรัพยากรสมรรถนะสูง เพื่อสร้างผลงานวิจัย นวัตกรรม ด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทยให้สำเร็จเป็นรูปธรรมเพื่อรองรับการเติบโตของประเทศด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล

ด้านรศ. ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันจำนวนบัณฑิตด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและคอมพิวเตอร์ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม สะท้อนให้เห็นถึงความขาดแคลนด้านกำลังคนเพื่อรองรับความต้องการในภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล ดังนั้น CMKL จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดตั้งสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ในครั้งนี้ จะช่วยลดอุปสรรคด้านการเรียนรู้ด้วยพัฒนาหลักสูตรแบบเน้นสมรรถนะของผู้เรียน ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงผ่านความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยโดยกระตุ้นให้นักศึกษามีความสนใจเข้าศึกษาต่อสาขาเทคโนโลยีดิจิทัล คอมพิวเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์มากยิ่งขึ้น สามารถผลิตบุคลากรให้เพียงพอความต้องการของประเทศได้

นอกเหนือไปจากการพัฒนากำลังคนแล้ว การจัดตั้งสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ยังช่วยพัฒนาด้านงานวิจัยในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้เพื่อส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ ตลอดจนวิสาหกิจชุมชนในการนำนวัตกรรมมาใช้ยกระดับในกระบวนการผลิต การบริการ ตลอดจนช่องทางการจัดจำหน่าย ในอนาคตเชื่อว่าจะมีการพัฒนานวัตกรรมอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือสังคมและประเทศเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมากภายใต้ความร่วมมือของสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0