โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เมื่อ ‘ค้อนเคียว’ เปลี่ยนความหมาย จากสัญลักษณ์แห่งชนชั้นแรงงาน กลายเป็นแฟชั่นย้อนยุคสุดฮิป

BrandThink

เผยแพร่ 13 มิ.ย. 2566 เวลา 13.00 น.

[อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่ตรงนี้พอ]

สัญลักษณ์ค้อนเคียวมีความเป็นมายาวนานตั้งแต่ยุคปฏิวัติรัสเซีย และล่าสุดในบ้านเรามีการพูดกันว่ามันเป็นเครื่องหมายที่เป็น ‘ปฏิปักษ์ต่อการปกครอง’ แต่ถ้าหันไปมองโลกภายนอกก็จะเห็นว่าแบรนด์แฟชั่นหรูจับเอาสัญลักษณ์นี้ไปทำเป็นคอลเลกชันเสื้อผ้าราคาแพงแห่งโลกทุนนิยมมานานแล้ว

------------------------

คิม คาร์เดเชียน (Kim Kardashian) เจ้าแม่เรียลลิตี้โชว์และแฟชั่นนิสต้าชาวอเมริกันที่ขึ้นชื่อเรื่องการแต่งตัวนำเทรนด์ เคยสวมฮูดประดับสัญลักษณ์ ‘ค้อนเคียว’ ของแบรนด์ Vetements เมื่อปี 2017 และกลายเป็นข่าวอยู่พักหนึ่งว่า ‘ไม่เหมาะสม’ เพราะคนอเมริกันที่โตมาในยุคสงครามเย็นไม่ค่อยพอใจนักที่เธอใส่เสื้อผ้าที่มีสัญลักษณ์ของอดีตสหภาพโซเวียตที่เป็นคอมมิวนิสต์ และมองว่าถ้าไม่ได้รู้ความเป็นมาของสัญลักษณ์ทางการเมืองเหล่านี้อย่างถ่องแท้ก็ไม่ควรจะหยิบมาใส่ จนสร้างความสะเทือนใจให้กับคนอื่นๆ ในสังคม

ตอนนั้นมีคนเปรียบเทียบว่าสัญลักษณ์ค้อนเคียวก็เหมือนกับสวัสดิกะของนาซีเยอรมนีที่ไม่สมควรนำมาสวมใส่ในที่สาธารณะ เพราะมันผูกโยงกับนัยทางการเมืองและการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในอดีต แต่นักวิจารณ์แฟชั่นบางคนแย้งกลับว่าค้อนเคียวไม่ได้ถูกผูกขาดกับคอมมิวนิสต์เสมอไป และ Vetements ก็ไม่ใช่แบรนด์แรกที่จับสัญลักษณ์นี้มาทำเป็นแฟชั่น อีกทั้ง แอนดี วอร์ฮอล (Andy Warhol) ศิลปินชาวอเมริกันระดับตำนาน ก็เคยนำค้อนเคียวไปสร้างเป็นผลงานป๊อปอาร์ต Hammer & Sickle มาแล้ว

เว็บไซต์ด้านวัฒนธรรมร่วมสมัย NEW EAST DIGITAL ARCHIVE บอกว่า ‘เดมนา วาซาเลีย’ (Demna Gvasalia) ดีไซเนอร์ของแบรนด์ Vetements เป็นคนจอร์เจียซึ่งเกิดและโตในยุคที่จอร์เจียเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต แต่ปัจจุบันบริบททางการเมืองในจอร์เจียก็เปลี่ยนไปจากเดิมมาก การนำสัญลักษณ์ค้อนเคียวในสมัยโซเวียตมาใส่ในคอลเลกชันเสื้อผ้าจึงเป็นเพียงการ ‘รำลึกอดีต’ และค้อนเคียวไม่ได้ถูกผูกโยงกับการปฏิวัติรัสเซียหรือการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

และถ้ามองความเป็นจริงของโลกยุคนี้ก็จะเห็นว่า ‘ค้อน’ ที่เป็นสัญลักษณ์แรงงานในภาคอุตสาหกรรม กับ ‘เคียว’ ที่เป็นสัญลักษณ์ของแรงงานในภาคเกษตร ก็เป็นอุปกรณ์ที่แทบจะไม่มีใครใช้งานกันอย่างจริงจังสักเท่าไหร่แล้ว แม้แต่พรรคแรงงานในตะวันตกที่เคยใช้สัญลักษณ์นี้ก็เปลี่ยนไปใช้ภาพอื่นเพื่อให้ดู ‘ทันสมัย’ มากขึ้น การใช้ค้อนเคียวในงานดีไซน์ต่างๆ จึงมักจะถูกมองเป็น ‘กิมมิก’ มากกว่าจะมีความหมายที่จริงจังตายตัวแบบเดิมๆ

บทความของ NEW EAST DIGITAL ARCHIVE ยังบอกอีกว่า ถ้าจะมีอะไรสักอย่างที่เป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นแรงงานและการต่อสู้ทางชนชั้นที่ชัดเจนที่สุดในรัสเซียก็คงจะไม่ใช่ ‘ค้อนเคียว’ แต่เป็น ‘ชุดวอร์ม’ ที่แก๊งวัยรุ่นรัสเซียในยุคศตวรรษที่ 21 ชอบใส่กัน เพราะคนหนุ่มสาวที่ใส่ชุดแบบนี้มักจะถูกมองว่าเป็นพวก ‘กุ๊ย’ หรือถ้าเป็นภาษาไทยก็คงหนีไม่พ้นการถูกแปะฉลากว่าเป็นพวก ‘ตลาดล่าง’

อาจจะเพราะเหตุนี้ เมื่อมีข่าวว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ของไทย กำลังพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากผู้กล่าวหาว่า ‘พรรคก้าวไกล’ ซึ่งใช้ค้อนและเคียวประกอบภาพการ์ตูนแฟนตาซีในแคมเปญเลือกตั้ง อาจเข้าข่าย ‘เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง’ จึงทำให้คนที่ได้ยินได้ฟังเรื่องนี้บางส่วนรู้สึกเหมือนกับบริบทการเมืองไทยย้อนกลับไปสู่ยุค พ.ศ. 2500 ที่ไทยยังหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์ถึงขั้นต้องไล่ล่าและปราบปราม ซึ่งหนึ่งในโศกนาฏกรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ ‘6 ตุลาคม 2519’ ที่ยังรอการชำระสะสาง

เพราะช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยประกาศตัวเป็น ‘มหามิตร’ กับทั้งรัฐบาลจีน (ที่มาจากพรรคคอมมิวนิสต์) และรัสเซียที่เป็นอดีตสหภาพโซเวียต ต้นทางแห่งสัญลักษณ์ค้อนเคียว (ดูได้จากการวางเฉยต่อมติที่ประชุมสหประชาชาติ ไม่ประณามรัสเซียที่ไปบุกยูเครน) การสร้างความน่ากลัวให้สัญลักษณ์ค้อนเคียวในยุคนี้จึงดูจะเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งไม่น้อย

คงต้องวัดใจกันดูว่า กกต. บ้านเราจะมีคำวินิจฉัยเรื่องนี้อย่างไร

อ้างอิง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0