โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สังคม

"เส้นใยผ้า" อัจฉริยะ ฝีมือคนไทย ยับยั้งไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา 99%

กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดต 20 เม.ย. 2565 เวลา 16.01 น. • เผยแพร่ 20 เม.ย. 2565 เวลา 23.45 น.

ในสภาพแวดล้อมปัจจุบันไม่ใช่แค่ต้องพบเจอกับไวรัส "โควิด-19" เท่านั้น แต่ยังมีเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา อีกด้วย การที่มีที่ "เส้นใยผ้า" ที่สามารถป้องกัน ยับยั้งเชื้อเหล่านั้นได้ จึงนับเป็นทางเลือก โดยเฉพาะ “หน้ากากผ้า” ที่มีความจำเป็นในการป้องกันโรค

เป็นที่มาของการพัฒนานวัตกรรมเส้นใยอัจฉริยะ “QVIRA” (คิวไวร่า) โดย บริษัท ไอเคคร๊าฟท์ จำกัด ที่มีบริษัทแม่อย่าง บริษัทคาร์เปท เมกเกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ในกลุ่มบริษัท อินเตอร์ไกร จ.ขอนแก่น ที่ทำธุรกิจพรมทอมือและผลิตภัณฑ์สิ่งทอส่งออกมานานกว่า 30 ปี สู่การพัฒนาพรมฆ่าเชื้อนาโนเทคโนโลยีเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา และต่อยอดสู่การพัฒนาเส้นใย อัจฉริยะ ด้วยเทคโนโลยี Zinc Nano Tech ร่วมกับ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ที่สามารถ ยับยั้งไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา ประสิทธิภาพถึง 99% สามารถนำมาผลิตเป็นหน้ากากอนามัย และสินค้าในชีวิตประจำวันได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อ ผ้าคลุม กระเป๋า ฯลฯ ถือเป็นการยกระดับ นวัตกรรมสิ่งทอ ปราศจากสารเคมี และสารเคลือบอันตราย พร้อมยื่นจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับ เส้นใยผ้าอัจฉริยะ “QVIRA” (คิวไวร่า) เป็นเทคโนโลยี Zinc Nano Tech ซึ่งการผสมนาโนสังกะสี (Zinc) เข้าไปในระดับเส้นใยผ้าซึ่งมีไอออนประจุบวก ที่สามารถทำลายเปลือกหนามโปรตีนหุ้มเซลล์ไวรัสที่มีไอออนประจุลบ ด้วยกระบวนแลกเปลี่ยนประจุไอออน ซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้ไวรัสอ่อนแอลง ทำให้ไวรัสไร้สมรรถภาพและไม่สามารถเพิ่มจำนวนต่อไปได้ ไม่ใช่เพียงเคลือบสารไว้บนผิวของเนื้อผ้า แต่เป็นการถักทอคุณสมบัติพิเศษที่สามารถยับยั้งเชื้อไวรัสเข้าไปในเส้นใย แล้วจึงทอออกมาเป็นเนื้อผ้า ทำให้คุณสมบัติในการป้องกันเชื้อโรคของ QVIRA มีความทนทาน คงทน และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน

“ดร.กฤษณา สุขบุญญสถิตย์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอเคคร๊าฟท์ จำกัด กล่าวในงานแถลงข่าวเปิดตัว นวัตกรรมเส้นใยอัจฉริยะ QVIRA ณ RISC โครงการแมกโนเลียส์ ราชดำริ บูเลอวาร์ด โดยอธิบายว่า QVIRA ผ่านการทดสอบคุณสมบัติยับยั้งไวรัสตามมาตรฐาน ISO 18184 ได้รับการรับรองจากสถาบันชั้นนำระดับโลก 3 สถาบัน ได้แก่ สถาบัน Nelson Labs ในสหรัฐอเมริกา, สถาบัน SGS ในฮ่องกง และสถาบัน MSL ในอังกฤษ

“พร้อมกับผ่านการทดสอบจากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ พิสูจน์แล้วว่าสามารถยับยั้งเชื้อไวรัสได้แม้ผ่านการซักทำความสะอาดกว่า 150 ครั้ง คุณสมบัติยังคงเหลืออยู่ 99.95% โดยสามารถซักได้ตามปกติไม่มีข้อจำกัดในการซัก นอกจากนี้ เส้นใย QVIRA ผ่านการทดสอบและรับรองโดยมาตรฐาน OEKO-TEX Standard 100 – Class 1 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลควบคุมปริมาณสารเคมี 100 รายการให้ปลอดภัยต่อผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ Class 1 สำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ปลอดภัย สำหรับเด็กแรกเกิด ถึง 3 ขวบ"

"ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่า ผลิตภัณฑ์จากเส้นใย QVIRA ไม่มีสารพิษหรือสารเคมีที่เป็น อันตรายต่อร่างกาย ปลอดภัยต่อเด็กทารก สตรีมีครรภ์ รวมถึงผู้สูงอายุ หรือแม้ผิวบอบบาง รวมไปถึงสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย แกรมบวกและแกรมลบ เชื้อรา และสามารถยับยั้งไรฝุ่นอีกด้วย”

พัฒนาสู่เส้นใยรีไซเคิล

นอกจากนี้ QVIRA ยังพัฒนาร่วมกับ เส้นใย MONSILK™ ของบริษัทแม่ ที่นำขยะพลาสติกมาผ่านกรรมวิธี Upcycling จนเป็นเส้นใยผ้าคุณภาพสูง ขยายช่องทางการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภคด้วยการผลิตสินค้าจากเส้นใยผ้า QVIRA ภายใต้แบรนด์ GoodsMaker ซึ่งเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์รูปแบบการใช้ชีวิตในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น หน้ากากผ้า, ถุงมือ และผ้าเช็ดอเนกประสงค์ โดยมุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์คุณภาพชีวิต และตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ดีขึ้น ด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัย และทีมวิจัยของไทย ทำให้เกิดความชำนาญในตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมสิ่งทอ เพื่อสร้างสรรค์สุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับชีวิต และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ในส่วนของเส้นใย MONSILK™ จากขยะพลาสติก ผ่านกระบวนการทำความสะอาดตามมาตรฐานมั่นใจในความปลอดภัย โดยขวดพลาสติก 2 ขวด ทำหน้ากากอนามัยได้ 1 ชิ้น ใช้ขวดพลาสติก 100% และผสม Zinc Nano Tech รวมถึง กระเป๋า ผ้าคลุมไหล่ ก็ใช้พลาสติก 100% เช่นกัน

“คาดหวังว่าเส้นใยผ้า QVIRA จะสามารถช่วยให้การใช้ชีวิตของคนไทยมีความปลอดภัย ห่างไกลจากเชื้อไวรัสมากขึ้นในช่วงที่ทุกคนจะต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 และคาดหวังว่าจะสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้บริโภคด้วยการปกป้องจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อราและไรฝุ่นต่างๆ อีกทั้ง ยังเป็นการลดปริมาณขยะพลาสติกที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และรักษาสมดุลของระบบนิเวศอย่างยั่งยืน”

ขณะเดียวกัน ในอนาคตมองว่าหากการสั่งตัดเย็บมีมากขึ้น มีแผนการขยายซัพพลายเชน และช่วยเหลือโรงงานใกล้เคียง ให้เติบโตไปด้วยกัน สร้างงานเชื่อมต่อ โดยเฉพาะโรงงานในไทยที่ถูกย้ายฐานไปต่างประเทศเยอะ อาจมีการกระจายงาน โดยไอเคคร๊าฟท์เป็นผู้ควบคุมคุณภาพให้ รวมถึง อยู่ระหว่างการพัฒนาผ้าติดแผล QVIRA เพื่อลดการสะสมของเชื้อ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนพัฒนา

ในเบื้องต้น จะเน้นที่การทำธุรกิจในรูปแบบ B2B (Business-to-Business) สร้างการรับรู้ในระดับองค์กร เช่น การทำหน้ากากอนามัย เสื้อ ที่ใช้ในองค์กร เพื่อให้มีโอกาสได้อธิบายคุณสมบัติของเนื้อผ้าให้กับลูกค้าได้รับรู้ โดยที่ผ่านมามี บริษัทฯ ชั้นนำของไทยมาร่วมเป็นพันธมิตรนำเส้นใยผ้าอัจฉริยะ QVIRA มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อบุคลากรภายในแล้ว เช่น หน้ากากอนามัย SCB และ เซ็นทรัล เป็นต้น รวมถึง โครงการ The Forestias by MQDC ซึ่งใช้ผ้าและพรมที่มีเส้นใย Zinc Nano Tech อีกด้วย ในปีนี้ตั้งเป้าพันธมิตร 10-15 ราย และมีรายได้อยู่ที่ 100 ล้านบาท

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0