โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เปิดมุมมอง "นิ้วกลม" ใช้โซเชียลมีเดียอย่างไรให้ชีวิตมีความสุข?

LINE TODAY

เผยแพร่ 23 ส.ค. 2561 เวลา 09.35 น.

           

           ทุกวันนี้คงแทบไม่มีใคร ที่ไม่เล่นโซเชียลมีเดีย เมื่อโซเชียลมีเดียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเรามากขึ้น ซึ่งส่งผลให้วิถีชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปมาก วันนี้เราจะมานั่งคุยกับ ผู้ชายอารมณ์ดีที่มีแนวคิดในการใช้ชีวิตที่น่าสนใจ อย่าง “นิ้วกลม” ว่าเราจะมีวิธีการใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุข เมื่อโซเชียลมีเดียอาจทำให้คนในสังคมมีความสุขยากขึ้น? รวมถึงชีวิตของนิ้วกลมในวัยที่ผ่านมาเกือบครึ่งชีวิตว่ามีการเปลี่ยนเเปลงไปอย่างไร ไปพูดคุยกับเขากันเลย

คิดว่าในโลกยุคนี้ที่มีโซเชียลมีเดียเข้ามา ทำให้คนเรามีความสุขมากขึ้นหรือน้อยลงไหม? 

ถ้าให้ตัดสินไปเลยน่าจะยาก ต้องบอกว่ามีทั้งส่วนที่ทำให้เรามีความสุขมากขึ้นแล้วก็น้อยลง โซเชียลมีเดียทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายขึ้นเยอะ อย่างในเรื่องการสื่อสาร หากคนที่เรารัก ต้องเดินทางไปต่างประเทศ สมัยก่อนเหมือนลาจากกัน แต่ทุกวันนี้คุณไปถึงก็ไลน์กลับมา คอลคุยกันจนแทบไม่รู้สึกว่าห่างกัน ซึ่งนั่นก็ถือเป็นข้อดีและความสุขอย่างหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันความเร็วและความท่วมท้นของข้อมูลข่าวสารที่ไหลผ่านโซเชียลมีเดีย ผ่านสายตาของเราจากหน้าจอโทรศัพท์ ก็นำมาซึ่งความท่วมท้นทางอารมณ์ที่มนุษย์เราต้องแบกรับ อย่างเช่นวันๆหนึ่งถ้าคุณเห็นข่าวเศร้า ข่าวรุนแรง ทัศนคติที่ขัดแย้งกับความรู้สึก คุณก็จะรู้สึกเสียใจ โกรธไปด้วย หรือคุณเห็นใครสักคนไปเที่ยว มีชีวิตดีๆคุณก็จะรู้สึกเปรียบเทียบกับชีวิตตัวเอง ซึ่งนั่นก็เสี่ยงต่อการที่เราจะเป็นทุกข์มากขึ้นด้วยเหมือนกัน “เพราะมนุษย์เราไม่ได้เกิดมาเพื่อรองรับความท่วมท้นทางอารมณ์ที่มากมายขนาดนี้” 

คิดว่าจริงไหมกับคำที่บอกว่า "โซเชียลมีเดียทำให้มาตรฐานความสุขของคนในสังคมสูงขึ้น" ? 

ส่วนหนึ่งน่าจะจริงที่โซเชียลมีเดียทำให้เรามีความสุขยากขึ้น หรือ เซ็ทมาตรฐานความสุขของตัวเองสูงขึ้น เพราะเวลาที่เรามองไปที่หน้าจอแล้วเห็นชีวิตคนอื่น จะเป็นเวลาที่เราไม่ได้มีสติหรือตระหนักรู้ชีวิตตัวเอง แต่ก่อนเราบอกว่าทีวีพยายามสร้างมาตรฐานชีวิต ให้คนในสังคม อย่างเช่นคุณต้องผมสวย คุณต้องดูดีแบบคนนี้ แต่เราก็รู้ว่าโฆษณาพวกนี้ต้องผ่านกระบวนการเซ็ทอัพบางอย่างขึ้นมาแล้ว แต่ทุกวันนี้มันแย่ยิ่งกว่า เพราะคนที่เป็นคนเซ็ทมาตรฐานความสุขให้กับเรากลับเป็นคนที่ใกล้ตัวเรามากขึ้น อย่างเช่นเพื่อนที่เรียนมาด้วยกัน ทำไมเค้ามีบ้านแล้ว แต่เรายังไม่มี? ความเปรียบเทียบที่มันใกล้ตัวมากขึ้นมันทำให้เราเป็นทุกข์มากขึ้นเจ็บปวดมากขึ้นเพราะทุกวันนี้เราเห็นอะไรเยอะขึ้น แต่ทั้งนี้“มาตรฐานความสุขที่มันสูงขึ้นในแง่หนึ่ง เป็นเพราะเราเห็นอะไรมากขึ้น แต่มันยังไม่มีผลกับเรามาก เท่ากับการเปรียบเทียบที่มันใกล้เรามากขึ้น” เหมือนกับที่เค้าบอกว่า “สนามหญ้าหน้าวังที่ว่าเขียว ยังไม่ทำให้เราเจ็บปวดเท่ากับสนามหญ้าข้างบ้านเรา” 

ถ้าเล่นโซเชียลมีเดีย แล้วทำให้เราเกิดความรู้สึกอิจฉา ไม่พอใจในชีวิตตัวเอง แต่ก็ยังอยากเล่น อยากเห็น  ควรจะจัดการกับตัวเองอย่างไร? 

ผมคิดว่า เทคโนโลกยีมันก็เหมือนมีด มันมีคมแต่ขึ้นอยู่กับว่า เราจะเอาคมนั้นไปทำอะไร ถ้าใช้ไม่ระวังมันก็อาจจะบาดเราได้ เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถโทษโซเชียลมีเดียได้เพราะนั่นเป็นธรรมชาติของมันเหมือนกับธรรมชาติของมีดที่มันคม มันจึงขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้มันอย่างไรเพื่อไม่ให้ตกเป็นทาสของโซเชียลมีเดีย อย่างแรกคือเราต้องมีสติ และถามตัวเองว่าใช้มันเพื่ออะไร? บางคนอาจจะใช้เพื่อทำธุรกิจ หรือติดต่อกับเพื่อน แต่ถ้าคุณยังตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ คุณอาจจะเผลอไปเป็นทาสของมัน แล้วโซเชียลมันจะเริ่มใช้คุณ อีกอย่างคือ เราต้องแบ่งเวลาในการใช้ แล้วคุณจะรู้สึกถึงความแตกต่าง ถึงสิ่งที่มันนิ่งขึ้น ช้าลง สงบขึ้น หรือ “ช่วงเวลาที่เราอยู่ต่อหน้าใครสักคน กับเพื่อน กับคนรัก ก็ไม่ควรจะหยิบขึ้นมาดูตลอดเวลา ไม่งั้นคุณอาจจะเสียช่วงเวลาดีๆที่มันควรจะเกิดขึ้นไป” 

ทำไมคนถึงตั้งสเตตัส บ่น ด่าในโลกโซเชียลมีเดียจนเหมือนเป็นสังคมอุดมดราม่า? 

โดยธรรมชาติของโซเชียลมีเดีย เป็นพื้นที่ๆเอื้อต่อการเกิดดราม่า เพราะเวลาที่เราไม่ได้เจอหน้ากันเต็มๆ หรือไม่รู้ตัวตน มันทำให้เรากล้าที่จะเผยด้านร้ายออกมา อีกอย่างคือโซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ๆใหญ่มาก คนเยอะมาก การที่คุณจะพูดอะไรสักอย่างให้มีคนมาสนใจคุณ คุณต้องพูดด้วยเสียงที่ดัง และอารมณ์เกินจริง คนบนโซเชียลมีเดียจึงเล่นใหญ่เสมอ เพื่อให้มันโดดเด้งออกมาจากคอมเม้นต์เป็นร้อยเป็นพันเพื่อให้ตัวเองถูกเห็น อีกอย่างคือ โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่เรียกร้องความสนใจ เพราะทุกคนโพสต์อะไรบางอย่างลงไปเพราะต้องการถูกเห็น ถูกไลก์ แล้วก็เป็นพื้นที่ๆทำให้เราสร้างตัวตน ที่เราอยากเป็น แต่จริงๆเราอาจจะไม่ได้เป็น ในชีวิตจริงมันสร้างยาก แต่คุณสร้างขึ้นมาได้ง่ายๆในโซเชียลมีเดีย 

เนื่องจากไม่มีใครพอใจในชีวิตตัวเอง เราอยากจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ การที่จะทำให้เรามีชีวิตที่เราคาดหวังมันไม่ง่าย การที่เราจะทำให้ตัวเองรู้สึกดีกับตัวเองมันอาจจะง่ายกว่า เหมือนเวลาเราส่องกระจกเราไม่พอใจกับหน้าเรา แต่การที่เราไปด่าคนอื่นมันง่ายกว่า เพราะฉะนั้นมันไม่แปลกเลยเวลาที่เราเห็นข่าวอะไรสักข่าวแล้วเราจะต้องคอมเมนต์ลงไป หรือ โพสต์สเตตัสบ่นสิ่งนั้น เพราะทุกครั้งที่เราบ่น เราบอกว่าเราแยกตัวเองออกจากสิ่งนั้น เพราะถ้าเรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งนั้นเราจะคิดอีกแบบไปเลย มันจึงง่ายต่อการนำไปสู่ดราม่า "แต่ก็ต้องคิดว่าเราบ่นเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น หรือบ่นแค่เพื่อให้รู้สึกดีกับตัวเอง"

เกี่ยวกับ "นิ้วกลม" 

นิ้วกลมดูเป็นคนที่เข้าใจโลกอย่างเป็นอย่างดี เคยมีเรื่องที่รู้สึกเราไม่เข้าใจบ้างไหม? 

มีสิครับ เยอะแยะเลย (หัวเราะ) อย่างเช่น “มนุษย์” เวลาที่เราต้องปฏิสัมพันธ์กับคนมันจะมีบางคนที่เรารู้สึกว่า ไม่สามารถเข้าใจเค้าได้เลย ในช่วงวัยหนึ่งเราอยากที่จะเข้าใจ อยากจะหาคำตอบ พูดคุย แต่พอมาถึงตอนนี้รู้สึกว่า ความเข้าใจไม่สำคัญเท่ากับการยอมรับ ถ้าเรายอมรับแล้วถอยห่างออกมา เดี่ยวมันก็จะคลี่คลายหายไปเอง แต่ถ้าเป็นอะไรที่เราไม่สามารถสลัดสิ่งนี้ออกจากชีวิตได้ ก็แค่ต้อง *“ยอมรับซะว่า เค้าก็เป็นแบบนี้ เราไม่มีทางเข้าใจหรอก พอคิดแบบนี้..เอ้อมันกลับเข้าใจ ซึ่งมันดีกว่าการไปพยายามเข้าใจเพราะเราอาจจะไม่มีวันเข้าใจมันเลยก็ได้” *

วิธีการคิดและใช้ชีวิตให้มีความสุขในแบบนิ้วกลม ต้องทำอย่างไร ? 

ถ้าอยากรู้ว่าเราจะมีชีวิตที่มีความสุขได้อย่างไร คงต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า ชีวิตที่ดีของเราคืออะไร? สำหรับผม ผมคิดว่า ชีวิตที่ดีคือ ชีวิตที่ ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างอะไรบางอย่างขึ้นมาบนโลกใบนี้ และที่สำคัญต้องมีความสัมพันธ์ที่ดี ได้หัวเราะกับคนที่เรารัก มีเวลาอยู่กับ ครอบครัว กับเพื่อน กับแฟน เพราะไม่อย่างนั้นเราไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ไปทำไม เพราะ*“มนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพียงเพื่อหายใจแล้วก็เอาตัวรอด แต่เรามีอยู่..ก็เพื่อเชื่อมโยงกับคนอื่น เพราะถ้าเราประสบความสำเร็จแต่เราไม่มีเวลาให้คนเหล่านี้เลย ก็คงดูเป็นชีวิตที่แห้งแล้งไปหน่อย” *

ยิ่งโตขึ้น เราวิธีการคิดหรือมองโลกเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ? 

ผมให้ความสำคัญกับการคิดน้อยลง พยายามรู้เท่าทันความคิด เพราะตอนเป็นหนุ่มผมเป็นคนที่ศรัทธาในความคิดมากๆ ทั้งความคิดในเชิงสร้างสรรค์แล้วก็ปรัชญา เรารู้สึกว่าใครคิดเก่งเป็นคนเก่ง แต่ทุกวันนี้มันเปลี่ยนไป ผมรู้สึกว่าความคิดทำให้เรายึดติดในเหตุผล ถกเถียงกันด้วยความคิดจนเราลืมหัวใจ ความรู้สึกไป “เราไม่ได้อยากเป็นนักคิด เราอยากเป็นมนุษย์ มนุษย์ที่รู้สึก สัมผัสกันจริงๆ” เพราะบางทีถ้าเราลองจับมือกัน มันไม่ได้มีความคิด หรือ คำพูดอะไรเลย แต่เรากลับรู้สึกถึงบางอย่างได้จริงๆ อีกอย่างคือ เมื่อก่อนเราจะชอบคอมเมนต์คน แต่พอเราได้คุยกับคนเยอะขึ้น เราพบว่ามนุษย์ทุกคน พยายามยิ้มแต่จริงๆแล้วทุกคนมีบาดแผลในใจ คนเราก็เหมือนภูเขาน้ำแข็ง เวลาที่เราเห็นเค้าทำสิ่งหนึ่งที่เราคิดว่าไม่ดีในวันนี้มันอาจจะเป็นแค่ผลลัพธ์ที่ส่งผลมาจากอดีตที่ก่อให้เป็นตัวเค้าขึ้นมา ซึ่งตรงนั้นอาจจะเป็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็ง แต่เราไม่รู้ว่าลึกลงไปใต้ภูเขาน้ำแข็งเค้าผ่านอะไรมาบ้าง บางทีเค้าอาจจะเหมือนเราก็ได้

ทุกวันนี้เราสามารถเขียนอะไรแบบออนไลน์ได้แล้ว คิดว่ายังคงต้องเขียนหนังสืออยู่ไหม? 

ผมคิดว่ายังต้องเขียนหนังสืออยู่ เพราะ กระทั่งแค่ความรู้สึกที่วันนี้เปิดคอมพิวเตอร์ นั่งเขียนสเตตัส กับ วันนี้จะเขียนหนังสือก็ไม่เหมือนกันแล้ว มันเหมือนกับว่าเวลาที่เราจะเขียนสเตตัส หรือบทความออนไลน์เหมือนกับว่าเราเห็นพื้นที่แค่ห้องๆเดียว เราจะวิ่งเล่นได้แค่ในห้องนี้ แต่พอเป็นหนังสือมันเหมือนเป็นทุ่งหญ้าใหญ่ไพศาลที่เราจะพาผู้อ่านไปเล่นอะไรได้เยอะมาก เพราะ หนังสือมันเหมือนก้อนความรู้ เวลาที่เราอ่านหนังสือจบหนึ่งเล่มมันเหมือนเราดิ่งลงไปในทะเลลึกมากๆ พอโผล่ขึ้นมาอีกทีคุณจะไม่เหมือนเดิม แต่พอคุณกระโจนเข้าไปในโซเชียลมีเดีย มันเหมือนคุณกระโดดลงไปในสระน้ำ มันก็เพลินๆอาจจะได้อะไรบางอย่างมา แต่มันก็จะประมาณนั้น "ต่อให้คุณจะว่ายไปสักสิบสระ มันก็ไม่เหมือนกับการดิ่งลงไปในทะเลลึกครั้งหนึ่ง หนังสือมันคือทะเลลึก "

ที่สุดของการเป็นนักเขียนของนิ้วกลม คืออะไร? 

เคยมีคนมาเล่าว่าเค้าอยากฆ่าตัวตาย แต่พอเค้าอ่านหนังสือของเราจบจนเช้า เค้าวางหนังสือลง แล้วรู้สึกว่าอยากมีชีวิตต่อ แต่โดยส่วนตัวเราคิดว่าที่สุดของการเขียนหนังสือไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงชีวิตคนอื่น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเอง เพราะการเขียนหนังสือทำให้เราเห็นตัวเองชัดมากขึ้น   

ขอบคุณรูปภาพจาก เฟซบุ๊ก Sarawut Hengsawad

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0