กินหมึกช็อต ระวัง แบคทีเรีย-พยาธิ กรมอนามัย ชี้เสี่ยงทำลายสมอง
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกโรงเตือนการบริโภคหมึกช็อต แบบดิบๆ ต้องระวังเชื้อแบคทีเรีย และพยาธิ พร้อมแนะนำใช้ความร้อนให้อาหารสุกอย่างทั่วถึง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคที่มีอาหารและน้ำเป็นสื่อ
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หลังจากมีกระแสในการกิน “หมึกช็อต” คือการนำหมึกตัวเล็กๆ สดๆ เอาหัวจุ่มลงไปในแก้วที่บรรจุน้ำจิ้ม เพื่อให้หมึกดูดเอาน้ำจิ้มซีฟู้ดเข้าตัว จากนั้นกินหมึกโดยกัดส่วนหัว แล้วค่อยกัด หรือหั่นส่วนลำตัวกินต่อ หรือหากหมึกตัวเล็กพอ ก็อาจจะเอาเข้าปากกินทั้งตัวนั้น ซึ่งพฤติกรรมการกินดังกล่าวอาจจะเสี่ยงได้รับเชื้ออหิวาต์เทียม หรือ Vibrio parahaemolyticus ที่เป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ตามโคลนตมในทะเล หรือตามชายฝั่งต่างๆ เมื่อกินสัตว์ทะเลที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป ก็จะทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย มีอาการอาหารเป็นพิษ หากรุนแรงมากๆ ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบได้อีกด้วย
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า นอกจากเชื้อแบคทีเรียแล้ว หมึกหรือสัตว์ทะเลอื่นๆ เช่น กุ้ง หรือหอย ฯลฯ ก็อาจจะมีพยาธิอาศัยอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นพยาธิตัวกลม ในกลุ่มพยาธิอะนิซาคิส (Anisakis spp.) พยาธิตัวตืดในกลุ่มพยาธิตืดปลา (Diphyllobothrium) เป็นพยาธิที่พบในปลาทะเลเขตอบอุ่น และเขตร้อน ซึ่งในประเทศไทยตรวจพบตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้ในปลามากกว่า 20 ชนิด ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับพยาธิ มีอาการปวดท้อง แน่นท้อง คลื่นไส้ ท้องอืด คล้ายกับอาการของโรคกระเพาะอาหาร บางรายอาจมีอาการท้องเสีย หรือถ้ามีแผลในกระเพาะขนาดใหญ่ทำให้ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด รวมถึงอาจทำให้เกิดความผิดปกติกับร่างกายอื่นๆ เช่น เข้าไปอาศัยตามกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดผื่นคัน ปวดบวมบริเวณผิวหนัง หรือเข้าไปชอนไชทำลายอวัยวะภายใน ทำให้เลือดออกในช่องท้อง หรือเนื้อเยื่อ หรือในกรณีที่รุนแรงกว่านั้น คือ การไชเข้าสมองก่อให้เกิดอาการเลือดออกในสมอง สมองอักเสบ และส่งผลเสียกับร่างกายในระยะยาวได้
“ทั้งนี้ การป้องกันพยาธิหรือไข่พยาธิเข้าสู่ร่างกาย หลีกเลี่ยงการกินอาหารสุกๆ ดิบๆ หากปรุงประกอบอาหารเอง ก่อนนำวัตถุดิบมาปรุง ต้องล้างน้ำให้สะอาดเพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อโรค สารเคมีตกค้าง และต้องปรุงให้สุกโดยใช้ความร้อนอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส นาน 2 นาที เพื่อให้อาหารสุกอย่างทั่วถึง รวมทั้งควรเลือกซื้ออาหารจากร้านอาหาร ควรสังเกตป้ายสัญลักษณ์อาหารสะอาด รสชาติอร่อย หรือ Clean Food Good Taste ที่กรมอนามัยรับรอง เพื่อสร้างความมั่นใจในเรื่องความสะอาดปลอดภัยของอาหารให้กับผู้บริโภคที่สำคัญยึดหลักกินร้อน ใช้ช้อนส่วนตัว ล้างมือ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคที่มีอาหารและน้ำเป็นสื่อ” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
ความเห็น 12
ยัณย์ ดินเหนียว
มันก็ทำลายอยู่แล้วสมองนะคนปรกติที่ใหนเค้ากินกัน
11 ก.พ. 2565 เวลา 09.47 น.
🍀Khun Nu Note🍀
กินเค้าเป็นอาหาร ก็อย่าให้เค้าทรมาณมากไปกว่านี้เลย.. บาปอยู่กับคนทำ กรรมอยู่กับคนกิน และยิ่งกินพิเรณๆ คูณ 2 เลย
11 ก.พ. 2565 เวลา 06.27 น.
Mommy
จะกิน..ก็ยังไปทรมาณแบบนั้น เวรกรรมมีจริง สักวันได้รับรู้เอง ทั้งคนคิดเมนู คนสนับสนุน และคนกิน
11 ก.พ. 2565 เวลา 06.27 น.
หลวง อรรจน์ฯ
ใครจะว่าอย่างไรก็เชิญ ผมลองแล้ว” มันเหนียวครับ”
เคี้ยวลำบาก
11 ก.พ. 2565 เวลา 06.25 น.
มันบอกนักบุญออนไลน์ ให้มัน die เพราะการแด๊กของมันเถอะ
11 ก.พ. 2565 เวลา 06.23 น.
ดูทั้งหมด