นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการศึกษาและพัฒนาเครื่องมือสำรวจสุขภาวะองค์กรอย่างยั่งยืนพบว่า ทิศทางการสร้างเสริมสุขภาวะองค์กรตามยุทธศาสตร์ 10 ปี ของ สสส.จะเน้นการทำงานใน 5 ส่วนสำคัญ
- การสร้างผลกระทบ (Impact)
- การขยายผล (Scale up)
- สอดคล้องเป้าหมายองค์กรสุขภาวะ 7+1 (Alignment)
- ความยั่งยืน (Sustainability) 5.การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี (Innovation)
ที่ผ่านมาเครือข่ายองค์กรสุขภาวะ ก็เดินหน้าพัฒนาองค์กรสุขภาวะและเครื่องมือสร้างเสริมสุขภาวะของคนในองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีของพนักงาน ภายใต้บริบทการทำงานปัจจุบันและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) แต่ยังพบข้อจำกัดการวัดผลการมีสุขภาวะที่ดีของคนทำงานในองค์กร และการประเมินผลที่ความรวดเร็วในกรณีที่องค์กรต้องการทราบทันที
ฉะนั้น สสส. ร่วมกับคณะวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาเครื่องมือสร้างเสริมสุขภาวะของคนในองค์กร ภายใต้โครงการพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กรอย่างยั่งยืน ในรูปแบบแบบสำรวจออนไลน์ที่ได้ตามมาตรฐานสากล ใช้สำรวจสุขภาวะของคนทำงาน ครอบคลุมประเด็นเรื่อง Happy workplace ตามแนวทางความสุข 8 ประการ รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาสุขภาวะองค์กรให้เกิดความยั่งยืน
นำร่องสำรวจสุขภาวะคนทำงาน 1,089 คน จากองค์กรภาคธุรกิจ 32 แห่ง ปี 2567 พบ คนทำงาน 50% ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาวะในมิติทางสังคมสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับ 1 รองลงมามิติทางกาย มิติทางปัญญา และมิติทางใจ โดย สสส.พร้อมเดินหน้าชวนองค์กรภาคธุรกิจทั่วประเทศ ใช้เครื่องมือวัดสุขภาวะองค์กรสำหรับผลประเมินสุขภาวะของคนทำงานทุกมิติ เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยให้ข้อมูลแก่องค์กรเพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่เอื้อต่อการเป็นองค์กรแห่ง
สุขภาวะที่อย่างยั่งยืน
รศ.ดร.พลิศา รุ่งเรือง รักษาการแทนรองคณบดีงานบริหาร และรักษาการแทนรองคณบดีงานวิจัย วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้พนักงานลาออก ส่วนใหญ่มาจากความเครียดและความกดดันจากการทำงาน บรรยากาศโดยรวมขององค์กรที่ไม่เอื้อต่อการสร้างสรรค์ผลงานและพัฒนาทักษะใหม่ๆ สวัสดิการขาดความยืดหยุ่น ไม่สอดคล้องกับคุณภาพชีวิตและสภาวะเศรษฐกิจ ผู้บริหารยุคใหม่จำเป็นต้องมีกลยุทธ์ Well-being ในการบริหารจัดการสุขภาวะที่ดีในที่ทำงาน พัฒนาทักษะความสามารถของพนักงาน พร้อมกับปรับวัฒนธรรมองค์กรเพื่อดึงดูดพนักงานหน้าใหม่
โดยระบบดิจิทัลสำรวจสุขภาวะในองค์กร จะเป็นเครื่องมือสำคัญให้องค์กรภาคธุรกิจใช้สำรวจสุขภาวะของพนักงานใน 4 มิติ คือ มิติทางกาย มิติทางใจ มิติทางปัญญา มิติทางสังคมสิ่งแวดล้อม และบริหารจัดการองค์กรให้มีสุขภาวะที่ดี ส่งเสริมสุขภาพคนทำงานให้สมดุลและยั่งยืนตามยุทธศาสตร์ชาติ และ สสส. ต่อไป
รศ.ดร.สุภรักษ์ สุริยันเกียรติแก้ว หัวหน้าทีมวิจัยโครงการพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กรอย่างยั่งยืน กล่าวว่า ทีมวิจัยได้นำเครื่องมือวัดสุขภาวะองค์กรไปประยุกต์ใช้จริงในองค์กรต้นแบบ 3 แห่ง ได้แก่ 1.บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด 2.บริษัท แสงไทยเมตัลดรัม จำกัด 3.บริษัท เงินมาธุรกิจ จำกัด โดยการสำรวจสุขภาวะคนทำงานในองค์กร ประเมินผล พัฒนานโยบายและกิจกรรมส่งเสริมการเป็นองค์กรแห่งความสุข จนเกิดผลลัพธ์ขององค์กรสุขภาวะที่ดีตรงกัน
ผลลัพธ์ขององค์กรสุขภาวะที่ดีใน 4 มิติ
- มิติความผูกพันขององค์กร
- มิติผลผลิตของพนักงาน
- มิติความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
- มิติภาพลักษณ์ของตราสินค้า
เป็นการตอกย้ำว่า การที่องค์กรส่งเสริมสุขภาวะให้คนทำงาน จะสามารถช่วยให้องค์กรมีผลผลิตที่มีคุณภาพ มีชื่อเสียงที่ดี ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่สุดสู่ความสำเร็จขององค์กรต่อไป
ความเห็น 0