ซีอีโอ “กฤษณ์” ลั่นดัน “ไทยพาณิชย์” ขึ้นแท่นเบอร์ 1 ธุรกิจเวลท์ภายใน 3 ปี-สินทรัพย์ภายใต้การบริหารสู่ระดับ 2 ล้านล้าน มุ่งเจาะลูกค้าชนชั้นกลาง-คนรุ่นใหม่ พร้อมปักธงผู้นำ “ดิจิทัลแบงกิ้ง” รุกทั้งด้าน “สินเชื่อ-บริหารความมั่งคั่ง”
นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในช่วง 3 ปีจากนี้ (2566-2568) ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ดาวเหนือ” ต้องการเป็น “universal bank” ที่เป็น “digital banking” โดยธนาคารจะเป็นอันดับที่ 1 ด้านธุรกิจบริหารความมั่นคั่ง (wealth management) และเชื่อมประสบการณ์ของลูกค้าผ่านทุกช่องทางอย่างไร้รอยต่อ ทั้งช่องทางสาขาและดิจิทัล (omni channel) ขณะที่ในด้านสินเชื่อนั้น ปีนี้ ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อรวมเติบโต 3-5% โดยเน้นสินเชื่อรายใหญ่ สินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถ ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอียังคงต้องระมัดระวังอยู่
โดยการตั้งเป้าเป็นอันดับ 1 ด้านธุรกิจเวลท์นั้น เนื่องจากธนาคารมีข้อมูลว่า ชนชั้นกลางในอาเซียนจะเพิ่มขึ้นกว่า 65% ในอีก 10 ปีข้างหน้า และสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) เติบโตเพิ่มขึ้น 58% ในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่ในปี 2566 จะเติบโตเพิ่มขึ้น 2 เท่า และหากดูกลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มผลักดัน AUM จะเป็นกลุ่ม mass affluent และ affluent มีอัตราการเติบโตสูงถึง 70% ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ และมีความคุ้นเคยกับดิจิทัล แต่ยังไม่ได้รับการบริการจากพนักงานลูกค้าสัมพันธ์ (RM) จึงมองเป็นโอกาสของธนาคาร เนื่องจากธนาคารมี RM ที่มีใบอนุญาต IC license มากที่สุดในไทย
“เราตั้งเป้าภายใน 3 ปี หรือภายในปี 2568 จะมีฐานลูกค้ากลุ่ม wealth อยู่ที่ 6 แสนราย จากปัจจุบันอยู่ที่ 4 แสนราย และสินทรัพย์ AUM อยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.6 ล้านล้านบาท โดยธุรกิจ wealth ของไทยพาณิชย์จะต้องเป็นอันดับที่ 1 หรือ wealth share of wallet ทั้งในแง่ของฐานลูกค้าเก่าและลูกค้ารายใหม่ โดยจะต้องเป็นที่รู้จักและยอมรับมากขึ้น นอกจากนี้ เราจะต้องเป็น 1 ด้านประสบการณ์ลูกค้าที่เชื่อมบริการแบบไร้รอยต่อในทุกช่องทางนับจากนี้และในอนาคต โดยยังคงมีสาขาและบุคลากรต่อไป สาขา 766 แห่งอาจจะไม่เพิ่มขึ้น และไม่ได้ลดลงทั้งหมด แต่จะต้องหาจุดสมดุล”
นายกฤษณ์กล่าวว่า สำหรับมาตรวัดแผนกลยุทธ์ “ดาวเหนือ” คือ การเป็น main bank ของลูกค้า เน้นทางด้านความพึงพอใจเป็นอันดับ 1 โดยในส่วนธุรกิจเวลท์ ต้องจับกลุ่มชนชั้นกลางมาอยู่กับไทยพาณิชย์มากขึ้น ขณะที่อัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (ROE) จะต้องเติบโต 2 หลัก หรือประมาณ 10% การลดต้นทุนต่อเนื่อง โดยค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (cost to income) จะต้องปรับลดลงเหลือต่ำกว่า 30% โดยปรับช่องทางการให้บริการถูกที่ถูกทาง และท้ายที่สุดการมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว การปล่อยสินเชื่อ ESG ยังให้ความสำคัญต่อเนื่อง โดยเพิ่มเม็ดเงินสินเชื่อ green finance ราว 1 แสนล้านบาท
ขณะที่การตั้งเป้าเป็น “digital banking” นั้น เนื่องจากลูกค้าใช้เงินสดลดลง และใช้ดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งคนไทย 94% สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน แต่มี 70% ที่เข้าถึงการออมเงินและชำระเงิน ดังนั้น ธนาคารจะปรับสู่ดิจิทัล ทั้งด้านสินเชื่อและธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง
“เราพบว่าคนกว่า 60% ออมเงินแค่ในบัญชีเงินฝาก และอีกกว่า 30% ไม่เคยลงทุนเลย ดังนั้น เป้าหมายธนาคารจะเป็น digital banking ที่ยังคงมีสาขาและคน ภายใต้ “digital bank with human touch” แต่จะยกระดับดิจิทัล และเป็น universal bank” นายกฤษณ์กล่าว
นายกฤษณ์กล่าวว่า สำหรับธนาคารไร้สาขา (virtual bank) นั้น ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์คงจะไม่ทำ แต่ในส่วนของบริษัท เอสซีบี เอกซ์ (SCBX) จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ ก็เป็นอีกเรื่อง เนื่องจากธนาคารมีเป้าหมายการเป็น “digital banking” อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเปิดธนาคารเพิ่มขึ้นอีก 1 แบรนด์ ประกอบกับลูกค้ากลุ่มที่ธนาคารโฟกัส เป็นกลุ่มระดับกลางขึ้นบน ไม่ได้เน้นรายเล็กที่เป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกัน จึงไม่ตอบโจทย์ของธนาคาร
“แล้วถ้าดูจากตัวเลขสถิติจำนวน virtual bank หรือที่เป็น digital bank ทั่วโลก มีอยู่ประมาณ 250 แห่ง ซึ่งหากดูสินทรัพย์ของธนาคารเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนแค่ประมาณ 0.04% เมื่อเทียบกับธนาคารดั้งเดิม (physical) เท่านั้น จึงมองว่ายังไม่ใช่เป็นสิ่งที่ธนาคารต้องการ” นายกฤษณ์กล่าว