“กระรอกด่อน” คือกระรอกสีขาวเผือก ดวงตาสีแดง คำว่า “ด่อน” หมายถึง ขาวหรือเผือก, ขาวแดง (หอสมุดแห่งชาติ. 2554 : 144) แต่มีสีที่แตกต่างออกไปผิดจากสีขาวธรรมดา ดังนั้นด่อนกับขาวจึงไม่เหมือนกัน ด่อนจึงอาจเป็นสีขาวแบบประหลาด ที่ไม่มีอยู่หรือสามารถเห็นอย่างคุ้นเคยตามปกติ
ตามความเชื่อแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีตำนานนิทานที่บอกเล่าสืบทอดต่อกันมาเกี่ยวกับกระรอกด่อน โดยมีที่มาของเรื่องจากตำนาน “ผาแดง-นางไอ่” เริ่มแรกกล่าวถึงเมืองเอกชะธีตา (บางตำนานเรียก เอกธีตา) มีพระยาขอมเป็นกษัตริย์ และมีบุตรธิดารูปโฉมงดงามชื่อ นางไอ่คำ ความงามของนางเลื่องลือไปถึงท้าวผาแดงแห่งเมืองผาโพง ท้าวผาแดงจึงขี่ม้าจอบมาหานางและได้พูดคุยกันจนเกิดเป็นความรัก จึงให้สัญญากันว่าจะมาสู่ขอตามประเพณี
จนถึงกลางเดือนหก พระยาขอมจัดงานบุญบั้งไฟขอฝนจากพญาแถน มีการบอกบุญไปยังเมืองต่างๆ ให้เข้าร่วม ท้าวผาแดงก็ได้นำบั้งไฟจำนวนนับหมื่นไปร่วมจุดด้วยแม้ไม่ได้รับใบบอกบุญ ท่ามกลางงานบุญบั้งไฟที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่นั้น ท้าวภังคี พญานาคผู้เป็นลูกชายของสุทโธนาคแห่งเมืองศรีสัตตนาคนหุต ได้แปลงกายมาร่วมงานและหลงรักในความงามของนางไอ่คำเช่นกัน จึงกลับลงบาดาลไปด้วยความรักและความปรารถนา
ครั้นกลับมาเมืองเอกชะธีตาอีกครั้ง ท้าวภังคีได้แปลงกายเป็นกระรอกด่อนแขวนกระดิ่งไว้ที่คอ และปีนป่ายกระโดดไปมาใกล้ๆ ปราสาทของนางไอ่คำ เมื่อนางเห็นกระรอกด่อนก็เกิดอยากได้ จึงสั่งให้นายพรานมาจับ นายพรานได้ยิงกระรอกด่อนด้วยหน้าไม้ ซึ่งก่อนจะสิ้นใจท้าวภังคีได้อธิษฐานว่า “ขอให้ร่างกายของข้านี้ ได้เป็นอาหารให้คนกินได้ทั้งเมือง แจกจ่ายอย่างไรก็ไม่มีวันหมด”
เมื่อกระรอกด่อนตาย ชาวเมืองจึงนำเนื้อมาประกอบอาหารแจกจ่ายกันอย่างทั่วถึง ยกเว้นแต่พวกแม่หม้ายที่ถูกรังเกียจจึงไม่ได้รับจากเนื้อกระรอกให้รับประทาน เป็นขณะเดียวกับที่ท้าวผาแดงได้มาที่เมืองเอกชะธีตา เมื่อทราบว่าอาหารที่นำมาต้อนรับทำจากเนื้อกระรอกด่อนก็เกิดความแคลงใจคิดว่ากระรอกด่อนนี้ไม่น่าจะเป็นกระรอกธรรมดา ถ้าเสวยเข้าไปอาจเป็นภัยต่อบ้านเมืองได้
เมื่อท้าวสุทโธนาคทราบเรื่องที่ลูกชายถูกสังหาร จึงยกกองทัพนาคจากบาดาลขึ้นมาไล่ฆ่าทุกคนที่กินเนื้อกระรอกด่อน ท้าวผาแดงพานางไอ่คำขี่ม้าหนีพญานาคก็ไล่ตาม จนในที่สุดพญานาคก็ได้ตัวนางไอ่คำและปล่อยท้าวผาแดงกับพวกแม่หม้ายไปเพราะไม่ได้กินเนื้อกระรอกด่อน เมืองขอมทั้งเมืองได้จมลงสู่บาดาล กลายเป็นเมืองหนองหาน มาจนถึงปัจจุบันนี้ (หนองหาน เป็นชื่อหนองน้ำที่ปรากฎ 2 จังหวัด คือ อุดรธานีและสกลนคร)
มีข้อสันนิษฐานว่า กระรอกด่อนเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่มีสีขาวอย่างประหลาด อาจหมายถึงเกลือใต้ดิน เพราะผู้คนในแถบหนองหานอาศัยอยู่บนพื้นที่เกลือ ซึ่งเป็นความหายนะที่ฝังอยู่ใต้ดินที่พร้อมจะผุดขึ้นมาทำลายล้างผู้คนเช่นเดียวกับพญานาคจากเมืองบาดาล ถ้ากระรอกด่อนหมายถึงความขาวและความเค็ม ตำนานผาแดงก็เปรียบเสมือนอุทาหรณ์ที่บรรพบุรุษต้องเตือนคนรุ่นหลังให้ระวังถึงภัยธรรมชาติ สีขาวและความเค็มอาจหมายถึง “แร่โปรแตส” (Protasimn) ที่จะถูกขุดขึ้นมาใช้ในอุตสาหกรรมซึ่งชาวหนองหานไม่มีส่วนแบ่งในความมั่งคั่งมหาศาลนั้น
หรืออีกนัยหนึ่ง อาจหมายถึงคนผิวขาวชาติตะวันตก ที่ดั้นเข้ามาในพื้นที่ เหมือนกับพญานาคและเหล่าเสนานาคที่ดั้นพื้นมาจากบาดาล คนผิวขาวได้นำวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาเป็นกระแสหลักจนกลืนรากเหง้าของวัฒนธรรมพื้นถิ่นเก่าจางหายลงไป เมื่อภัยขาวกล้ำกลายเข้ามา ความหายนะและความวิบัติก็จะเกิดขึ้นเมื่อนั้น
นอกจากนี้ในแถบอีสานยังมีการจำลองเอากระรอกเผือกมาเป็นสิ่งบูชา โดยมีสรรพคุณความขลังต่างๆ ว่า ใครใช้จะเป็นผู้ยอดแห่งความสำเร็จ สมหวัง ไม่พลาดพลั้งหรือล้มเหลว ผู้ใดครอบครองจะเป็นมงคลยิ่งใหญ่อีกด้วย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อความศรัทธาของแต่ละบุคคล แต่ตำนานที่มีบันทึกไว้ในตำนานพื้นบ้านของภาคอีสานของ “กระรอกด่อน” ในเรื่องผาแดง-นางไอ่ก็ยังคงมีการเล่าสืบต่อๆ มาจนถึงทุกวันนี้
อ่านเพิ่มเติม :
“ชิปกับเดลมีสองพี่น้อง…” ดูกำเนิดกระรอกจิ๋วของดิสนีย์ สู่ไวรัลติดหูในคลิปตลาดน้ำ…
ความหมายของ “ตัวมอม” สัตว์ในจินตนาการ สู่ตำนานอันศักดิ์สิทธิ์แห่งล้านนา
ตำนาน “ตาม่องล่าย” ต้นกำเนิดเกาะดังแห่งอ่าวไทย มีที่ไหนบ้าง ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
วีณา วีสเพ็ญ … [และคนอื่นๆ] (กองบรรณาธิการ). 2555. ผาแดง – นางไอ่. มหาสารคาม : โครงการอนุรักษ์ใบลานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กรกฎาคม 2560
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : กระรอกด่อน ตำนานและความเชื่อของภาคอีสาน
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com
ความเห็น 5
€¥£
คนไทยมีกระรอกสีขาว เรียกว่า พันธุ์ ขาวสีชัง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองนะ
14 พ.ค. 2563 เวลา 16.07 น.
𝙅𝙚𝙖𝙣 𝙈𝙤𝙘𝙝𝙞𝙧𝙞
อ่านมาตั้งนาน ทำไมตอนจบต้องมีไว้ในครอบครองหรือล่ากระรอกด้วยว่ะความเชื่อผิดๆ 🖕
14 พ.ค. 2563 เวลา 12.06 น.
ตายทั้งเมือง เพราะ ความตะกละ เหมือน โควิด ที่ สันนิษฐาน ว่า เพราะ คนจีน ไปกิน ค้าง คาวหรือ ตัว ลิ่น ที่ชอบ กันนักหนา จน เกิด โรค ระบาด ไป ทั้งโลก
ตาย กัน หมด เพราะ ปาก.
14 พ.ค. 2563 เวลา 20.35 น.
คนปิดทองหลังพระ
นิทานเรื่องนี้ เป็นคติธรรมสอนใจได้หลายอย่าง พิจารณาแล้วจะเห็น
16 พ.ย. 2563 เวลา 03.51 น.
AOM 689
บทความดีครับ เป็นความรู้รอบตัว
16 พ.ย. 2563 เวลา 04.37 น.
ดูทั้งหมด