โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

จากราชดำเนินถึงกวางจูและอินโดนีเซีย ถอดบทเรียนความทรงจำของสามัญชนกับการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย

THE STANDARD

อัพเดต 26 มิ.ย. 2563 เวลา 10.15 น. • เผยแพร่ 26 มิ.ย. 2563 เวลา 10.13 น. • thestandard.co
จากราชดำเนินถึงกวางจูและอินโดนีเซีย ถอดบทเรียนความทรงจำของสามัญชนกับการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย
จากราชดำเนินถึงกวางจูและอินโดนีเซีย ถอดบทเรียนความทรงจำของสามัญชนกับการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย

จากวันที่  24 มิถุนายน 2475 ถึง 24 มิถุนายน 2563 นับเนื่องเป็นเวลากว่า 88 ปีของการอภิวัฒน์สยาม เหตุการณ์ปฏิวัติของคณะราษฎรที่ทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

กว่า 88 ปี ของการก่อกำเนิดระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย ได้เดินทางผ่านช่วงเวลาต่างๆ ทั้งเบ่งบานและวิกฤต หากเปรียบเทียบระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่านเสมือนชีวิตของผู้คน อายุของประชาธิปไตยในไทยคงเทียบได้กับชายชราในวัย 88 ปี ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเกือบค่อนชีวิต แต่ทว่าสำหรับความมีประชาธิปไตยแล้วจนถึงวันนี้ อาจยังเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของวัยที่กำลังค้นหาตัวเองมาโดยตลอด 

 

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ จัดเสวนาชุด ‘88 ปี 2475: ความทรงจำของสามัญชน’ โดยแบ่งเป็น 2 หัวข้อที่สำคัญคือ ‘จากราชดำเนินถึงกวางจู สามัญชนกับการเปลี่ยนแปลง’ และ ‘การปฏิวัติ 2475 ความรู้ ความทรงจำ และสถานการณ์ปัจจุบัน’ 

 

ในส่วนของการเสวนาหัวข้อจากราชดำเนินถึงกวางจู สามัญชนกับการเปลี่ยนแปลง มีผู้ร่วมเสวนา 4 คน คือ รศ.ดร.จักรกริช สังขมณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อาจารย์ศราวุฒิ วิสาพรม วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

จากราชดำเนินถึงกวางจู สามัญชนกับการเปลี่ยนแปลง เป็นอีกหนึ่งหัวข้อเสวนาที่จะพาทุกคนย้อนกลับไปดูการเปลี่ยนผ่านระบอบของ 3 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ แต่เป็นการย้อนผ่านความทรงจำของสามัญชน ผ่านมุมมองของประชาชน ผ่านประวัติศาสตร์ของประชาชนที่มีประชาชนเป็นตัวแสดงสำคัญ

 

2475 การปฏิวัติที่ไร้ขบวนการของประชาชน

 

อาจารย์ศราวุฒิ วิสาพรม กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยเฉพาะคำอธิบายที่บอกว่าเป็นการปฏิวัติที่ไร้ขบวนการของประชาชน แต่อยากจะชวนทุกคนร่วมกันพิจารณาใหม่อีกครั้ง โดยกล่าวถึง อนุ นามสนธิ ที่เป็นประชาชนธรรมดา ซึ่งวันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ขณะที่อนุกำลังทำงานที่ร้านขายยา พอรู้ข่าวก็เดินเข้าไปมีส่วนร่วมแจกจ่ายคำประกาศของคณะราษฎร 

 

นอกจากนี้ยังกล่าวถึง สวัสดิ์ คำประกอบ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ ที่บันทึกไว้ว่ามีคนมาร่วมเหตุการณ์เกือบหมื่นคน มีความยิ่งใหญ่ น่าตื่นเต้น โดยได้บันทึกเป็นจดหมายเหตุของจังหวัดนครสวรรค์ 

 

ความพยายามในการสื่อสารการปฏิวัติผ่านสื่อต่างๆ อย่างวิทยุ สิ่งพิมพ์ เพื่อให้ข่าวสารถึงต่างจังหวัด มีประชาชนบางส่วนเขียนจดหมายถึงรัฐบาลเพื่อแสดงความยินดีแก่คณะราษฎร นี่เป็นอารมณ์ร่วมและแสดงความยินดีถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประชาชนในครั้งนั้น

 

ด้านชีวิตประจำวันสามัญชนที่สอดรับกับระบอบใหม่ อย่างการเผยแพร่รัฐธรรมนูญก็มีการจัดงานงานฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ และยังได้สะท้อนผ่านข้าวของเครื่องใช้และสิ่งก่อสร้าง สัญลักษณ์ที่ปรากฏบนสิ่งต่างๆ ศาสนสถาน ธนบัตร หรือแม้แต่สัญลักษณ์องค์กรต่างๆ จานโอ่ง เบียร์ประชาธิปไตย วิสกี้ธรรมนูญ

 

 

 

สามัญชนยังมีส่วนร่วมและการเคลื่อนไหวในพื้นที่สถาบันการเมือง เช่น สภาผู้แทนราฎร การเลือกตั้ง การปกครองส่วนท้องถิ่น และสภาจังหวัด เป็นศูนย์รวมปากเสียงของประชาชน คุมการบริหารส่วนจังหวัด จะเห็นว่าคนธรรมดามีส่วนร่วมทั้งในเหตุการณ์การเมือง เช่น กบฏบวรเดช ในปี 2476 การเรียกร้องดินแดนคืน หรือแม้แต่ขบวนการเสรีไทย 

 

ปฏิวัติ 2475 ยกระดับศักดิ์ศรี ภาษี การศึกษาและความเป็นอยู่

 

ผลของการปฏิวัติ 2475 ทำให้เกิดสังคมสมัยใหม่ โดยเฉพาะหลัก 6 ประการ คือสิ่งที่รัฐบาลในยุคแรกที่ต้องนำมาปฏิบัติ ต้องนำมาแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่ง 1 ในหลัก 6 ประการคือ การศึกษา โดยเฉพาะในปี 2478 สามารถตั้งโรงเรียนได้ในทุกตำบล มีการศึกษาระดับต่างๆ ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีการยกเลิกระบบหลายเมีย เหลือผัวเดียว เมียเดียว

 

ในปี 2481 มีการยกเลิกการเก็บภาษีโดยตรง ยกเลิกเงินรัชชูปการ ซึ่งในปี 2472 มีการสำรวจพบว่าขณะนั้นประชากรไทยร้อยละ 83.05 ประกอบอาชีพเกษตร ซึ่งมีอยู่ประมาณ 6.2 ล้านราย โดยเงินรัชชูปการมีผลกระทบอย่างมาก ชายไทยกว่า 3 ล้านคนต้องจ่ายภาษีให้รัฐรายปี 4-6 บาท หากนึกไม่ออกว่าเงิน 4 บาทเยอะขนาดไหน ลองเปรียบเทียบง่ายๆ ว่าเงิน 4 บาทก็สามารถซื้อโคได้ 2 ตัว 

 

ตรงนี้กระทบทั้งปากท้องและเรื่องศักดิ์ศรี ปีไหนไม่มีเงินต้องกู้ยืมเงิน ที่ไร่นาก็ต้องถูกยึดจากนายทุน หรือแม้แต่การทำงานให้ภาครัฐ งานโยธาหรืองานอนาถา สร้างความอึดอัดเป็นอย่างมาก 

 

โดยสรุปแล้วคิดว่ามีราษฎรสามัญชนร่วมกระบวนการอยู่ในการปฏิวัติ 2475 และการปฏิวัติ 2475 ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยเป็นอย่างมาก มากกว่าที่เราเข้าใจ ยกระดับการศึกษา ภาษี และความเป็นอยู่

 

นักศึกษาจัดกิจกรรมรำลึก 88 ปี การเปลี่ยนผ่านระบอบในประเทศไทย

 

จากนักศึกษา สู่นักกิจกรรม สามัญชน กับการโค่นอำนาจซูฮาร์โต: กรณีศึกษาอินโดนีเซีย

 

ขณะที่ ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยกับการโค่นอำนาจซูอาร์โต ซึ่งถือว่าเป็นยุคเผด็จการของอินโดนีเซีย ซูฮาร์โตประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 21 พฤษภาคม 1998 ซึ่งถือว่าเป็นการสิ้นสุดยุคอำนาจนิยมหรือยุคเผด็จการ แล้วแต่จะเรียก 

 

อินโดนีเซียมีประชากรกว่า 270 ล้านคน มีความแตกต่างด้านชาติพันธ์ุ ศาสนา อะไรต่างๆ มากมาย ซึ่งประเทศอินโดนีเซียมีอายุเพียง 75 ปีเท่านั้นเอง 

 

ในปี 1945 ได้กำเนิดประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งก่อนหน้านี้โดนปกครองโดยฮอลันดา 300 กว่าปี โดยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้บุกยึด ก่อนที่จะประกาศเอกราชโดยซูการ์โนในปี 1945

 

ช่วงปี 1945-1966 เป็นช่วงการสร้างชาติ แต่ความขัดแย้งทางการเมือง เศรษฐกิจที่ตกต่ำ ทำให้ยุคของซูการ์โนสิ้นสุดลง และมาถึงยุคระเบียบใหม่ หรือยุคซูฮาร์โต ตั้งแต่ปี 1966-1998 กินเวลายาวนานกว่า 30 ปี และหลังจากนั้นก็เข้าสู่ยุคปฏิรูป 

 

ในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สามัญชนมีส่วนร่วมเป็นอย่างมาก ก่อนหน้าที่จะเกิดประเทศอินโดนีเซีย กลุ่มนักศึกษาที่ช่วงแรกก็จะเป็นลูกหลานของชนชั้นนำ แต่เมื่อระบบการศึกษาที่ขยายไปมากๆ ก็ทำให้ชนชั้นอื่นๆ ได้เข้าถึงการศึกษา และบรรดานักศึกษาเหล่านี้ที่ขยายแนวคิดชาตินิยม และเป็นชาตินิยมที่เรียกร้องเอกราชอีกจำนวนไม่น้อยก็ไปเป็นนักการเมือง ซึ่งก็มีบทบาทสำคัญในการให้กำเนิดชาติอินโดนีเซีย

 

บทบาทนักศึกษาพาการเมืองในอินโดนีเซียเปลี่ยนผ่าน

 

นักศึกษาเป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนผ่านประเทศอินโดนีเซีย กลายเป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือบทบาททางการเมืองแทบทุกครั้งที่มีประเด็นสำคัญ ซึ่งผู้คนมักจะถามหานักศึกษาว่ามีความเห็นอย่างไร นักศึกษาคิดอย่างไร

 

อย่างในช่วงปลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลกำลังจะออกกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิ์ของประชาชน นักศึกษาเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหว

 

นอกจากนักศึกษาแล้วยังมีกองกำลังต่างๆ ที่ทำให้ก่อกำเนิดประเทศอินโดนีเซีย ช่วงที่ฮอลันดายึดครองประเทศอินโดนีเซียแรกๆ นั้น ไม่ได้มีการตั้งกองกำลังอย่างชัดเจน กระทั่งการที่ญี่ปุ่นเข้ามา แม้จะเข้ามาเพียง 3 ปี แต่ส่งผลต่อกระบวนการชาตินิยมเยอะมาก

 

หลังจากที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม กองกำลังต่างๆ ก็ผุดเป็นดอกเห็ด มีคนสามัญชนทั่วไปเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ซึ่งกองกำลังเหล่านี้มีความสำคัญกับการปฏิวัติแห่งชาติ โดยประกาศเอกราชในวันที่ 17 สิงหาคม 1945 ก่อนญี่ปุ่นประกาศแพ้สงคราม แต่ฮอลันดาไม่ยอมรับการประกาศเอกราช ณ ขณะนั้น ก็เข้ามายึดครองอีกครั้ง ทำให้เกิดการต่อสู้ ที่รู้จักกันในนามการต่อสู้ปฏิวัติแห่งชาติ ซึ่งมีคนสามัญชนที่สังกัดกองกำลังต่างๆ ที่ร่วมต่อสู้ นอกจากการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมต่างๆ แล้ว ยังต่อสู้กับเจ้าดั้งเดิมอีกด้วย

 

หากย้อนไปดูช่วงการประกาศเอกราช มีเจ้าดั้งเดิมที่ไม่เห็นด้วยกับการประกาศเอกราช แต่กลับเห็นด้วยกับอาณานิคมฮอลันดา ดังนั้นกองกำลังต่างๆ ที่มีคนสามัญทั่วไปจึงไม่พอใจ ก็มีการต่อต้านทั้งฮอลันดาและเจ้าดั้งเดิมอีกด้วย

 

หลังจากการปฏิวัติเป็นเอกราชเสร็จสมบูรณ์แล้ว อินโดนีเซียก็เข้าสู่ยุคซูการ์โน มีความวุ่นวายมากมาย และมีกลุ่มที่จะพยายามยึดอำนาจทำรัฐประหาร แต่ล้มเหลว ไม่สำเร็จ แล้วซูฮาร์โตก็เข้ามาระงับสถานการณ์นั้น แล้วบอกว่ากลุ่มคนที่พยายามจะยึดอำนาจรัฐ คือกลุ่มชื่อพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย หรือ PKI ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดร้ายแรง ทำให้กลุ่มนี้ถูกกวาดล้าง ทั้งการจับดำเนินคดี และกวาดล้างแบบฆ่าทิ้ง มีการประเมินกันว่ามีผู้เสียชีวิตจากการกวาดล้างครั้งนั้นประมาณ 5 แสนถึง 2 ล้านคน ซึ่งตัวเลขไม่ชัดเจน พูดง่ายๆ คือ PKI กลายเป็นศัตรูเบอร์ 1 ของซูฮาร์โต ทำให้อยู่ในอำนาจด้วยความชอบธรรม ว่าขึ้นสู่อำนาจเพื่อปราบปรามคอมมิวนิสต์ 

 

30 กว่าปีที่ซูฮาร์โตอยู่ในอำนาจ เป็นที่รู้กันว่าอยู่ในระบอบอำนาจนิยม เป็นเผด็จการ แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งทุก 5 ปี เมื่อเลือกตั้งครั้งใดซูฮาร์โตก็ชนะ เพราะตัวเองคุมทั้งกฎหมาย คุมทั้งกองทัพ เป็นยุคสมัยที่ทหารมีอำนาจล้น นอกจากการดูแลความมั่นคงของประเทศแล้ว ทหารยังมีที่นั่งในสภาอีกด้วย โดยที่ไม่ต้องมีการเลือกตั้ง เข้าไปคุมรัฐวิสาหกิจ ในยุคนั้นมีการเน้นการพัฒนา มีการเน้นงบลงทุน ทำให้เข้าสู่วงจรการคอร์รัปชันเป็นอย่างสูง ซึ่งเป็นข้อหาที่ขบวนการนักศึกษา ประชาชน ยกมาโจมตีซูฮาร์โต ทำประโยชน์เพื่อพวกพ้อง

 

ตลอดระยะเวลาที่ซูฮาร์โตอยู่ในอำนาจ ทุกครั้งก่อนการเลือกตั้งก็จะมีขบวนการนักศึกษาออกมาประท้วงเสมอ แต่ซูฮาร์โตใช้ทุกวิถีทางในการพยายามควบคุมขบวนการเหล่านี้ ทั้งการออกกฎมหมายควบคุมกระบวนการต่างๆ ทำให้นักศึกษาเคลื่อนไหวได้ไม่ถนัดนัก

 

ซูฮาร์โตลาออก

 

ในปี 1997 มีการเลือกตั้งอีกครั้ง เป็นการเลือกตั้งครั้ง 6 ในยุคระเบียบใหม่ เป็นสมัยที่ 7 ของประธานาธิบดีซูฮาร์โต ซึ่งก่อนการเลือกตั้งก็จะมีขบวนการนักศึกษาออกมาประท้วงอย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ แต่ส่วนใหญ่ทุกครั้งที่ออกมาประท้วงก็จะเรียกร้องให้ประชาชนไม่ต้องไปลงคะแนนเสียง ให้นอนหลับทับสิทธิ์ เพราะอย่างไรแล้วซูฮาร์โตก็ชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง แต่ในปีนั้นมีปัจจัยอื่นเข้ามา นั่นคือวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอินโดนีเซียด้วย และเกิดความขัดแย้งภายในกองทัพ มีปัจจัยภายนอกอีก และมีจลาจลเกิดขึ้น ทำให้ผู้คนอยู่ในภาวะอดอยาก มีการเข้าไปบุกปล้นสะดมร้านค้าต่างๆ

 

ปัจจัยที่ทำให้ซูฮาร์โตล้มนั้นมีหลายปัจจัย นักศึกษาก็คือหนึ่งในนั้น ยังมีคนที่ถูกลืมในกระบวนการโค่นล้มซูฮาร์โตอีกจำนวนหนึ่ง อย่างเช่น พรรคประชาธิปไตยประชาชน (PRD) แต่อาจดูไม่ค่อยออก เพราะกลุ่มนี้ก็คืออดีตนักศึกษาที่มาทำในองค์กรภาคการเมือง ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้กฎหมายเพื่อควบคุมนักศึกษาของซูฮาร์โต โดยการออกกฎหมายห้ามนักศึกษาชุมนุมประท้วงนอกมหาวิทยาลัย และออกกฎหมายห้ามนักศึกษาเลือกตั้งองค์กรนักศึกษา แต่ให้อธิการเป็นคนแต่งตั้ง เพื่อเป็นการควบคุมนักศึกษา ซึ่งทำให้กลุ่มขบวนการนักศึกษาก็เลยต้องขับเคลื่อนไปเป็นพรรคการเมืองตั้งพรรค PRD 

 

วันที่มีการแถลงตั้งพรรค PRD ซึ่งมองว่าเป็นการแถลงที่ดูก้าวหน้ามากในขณะนั้น มีการแถลงให้ยกเลิกกฎหมายที่กดทับสิทธิของประชาชนและสิทธิทางการเมือง ยกเลิกบทบาทบางอย่างของกองทัพ นอกจากนี้วันแถลงเปิดพรรค ได้มอบรางวัลแก่นักเขียนที่ต่อต้านระบอบซูฮาร์โต

 

หลังการเปิดตัวพรรคไม่กี่วัน ในวันที่ 27 กรกฎาคม 1996 มีการโจมตีที่ทำการของพรรคประชาธิปไตยอินโดนีเซีย (PDI) ซึ่งพรรค PDI เป็นหนึ่งใน 2 พรรคในยุคของซูฮาร์โต มีการโหวตเลือกหน้าพรรค ซึ่งปรากฏว่าเมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคในขณะนั้น แต่ซูฮาร์โตไม่ถูกใจ ก็เลยมีการแทรกแซงให้เลือกหัวหน้าพรรคกันใหม่ โดยคนใหม่ที่ได้รับเลือกก็เป็นคนของซูฮาร์โต วันรุ่งขึ้นจึงมีการโจมที่ทำการของพรรค PDI รัฐบาลกล่าวหาว่า PRD คือผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งหลังจากเหตุการณ์โจมตีวันนั้น ทำให้แกนนำบางคนของพรรค PRD ถูกจับ ถูกข่มขู่ และถูกลักพาตัว และหัวพรรคก็ถูกตัดสินจำคุก 13 ปีจากข้อหาครั้งนี้ และหลังจากนั้นประมาณ 1 ปี PRD ถูกประกาศให้เป็นองค์กรที่ผิดกฎหมาย

 

หลังการประกาศให้พรรค PRD กลายเป็นองค์กรผิดกฎหมายเพียงวันเดียว ในวันที่ 30 กันยายน 1997 แกนนำพรรค PRD ที่ยังคงเหลืออยู่ ประกาศจะต่อสู้ในรูปแบบใต้ดิน ผลที่เกิดขึ้นคือการต่อต้านซูฮาร์โตลุกลามไปทุกเมืองใหญ่ๆ ของอินโดนีเซีย เป็นกลุ่มที่มีการลงถนนมากที่สุด เนื่องจากช่วงนั้นนักศึกษาไม่สามารถชุมนุมลงถนนได้ PRD ใช้วิธีการขับเคลื่อนองค์กรกรรมกร ชาวนา หรือกลุ่มแรงงาน มาต่อต้านซูฮาร์โตจนเกิดจลาจล

 

หลังจากการกดดันอย่างหนักจนซูฮาร์โตลาออกจากประธานาธิบดี บรรดาแกนนำของ PRD ก็ได้รับการปล่อยตัวในปลายปี 1999 แกนนำส่วนใหญ่ก็ผันตัวเข้าสังกัดพรรคต่างๆ 

 

สามัญชนกับประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยการเปลี่ยนทางการเมืองเกาหลีใต้

 

ด้าน จักรกริช สังขมณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการเขียนประวัติศาสตร์เกาหลีใต้สมัยใหม่ นั่นคือเกาหลีใต้หลังการล่าอาณานิคม มักจะเป็นประวัติศาสตร์ที่พูดถึงความอ่อนแอ ความพ่ายแพ้และความล้มเหลวของการสร้างชาติเป็นหลัก โดยเฉพาะในช่วงของประธานาธิบดีพัคจองฮี ขึ้นมาดำรงตำแหน่งในช่วงปี 1962-1979 เป็นช่วงที่ประวัติศาสตร์ของชาติถูกครอบงำด้วยวาทกรรมล้มเหลว และความอ่อนแอของประชาชน ซึ่งเป็นการเปิดทางให้ผู้นำที่เข้มแข็ง การชี้นำโดยรัฐ และการที่รัฐจะใช้แขนขาของตนเองในการดึงภาคส่วนมาร่วมพัฒนาประเทศ ทำให้องค์กรต่างๆ ภาคส่วนประชาชนต้องถูกสยบอยู่ภายใต้ผู้นำที่เป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ตอนนั้น ผลที่เกิดขึ้นก็คือทำให้ก่อเกิดวิกฤตตัวตนเชิงประวัติศาสตร์ ก็คือเรามองไม่เห็นตัวแสดงอื่นๆ โดยเฉพาะตัวแสดงที่เป็นประชาชน ในความเป็นชาติ หรือการเคลื่อนของประวัติศาสตร์ชาติ

 

หลังจากพัคจองฮีถูกสังหารโดยสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ (KCIA) ในปี 1979 ก็เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนตื่นเต้น เพราะ 21 ปีที่พัคจองฮีปกครองนั้น เปรียบเสมือนฤดูหนาวของประชาธิปไตย อยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยม ทุกอย่างต้องถูกควบคุมดูแลจัดการโดยรัฐหมดแล้ว ดังนั้นการที่พัคจองฮีถูกสังหาร นับว่าเป็นสุญญากาศทางการเมืองที่ดีมาก ก็เกิดการเบ่งบานของประชาชนที่ออกมาเรียกร้องให้เข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตย แต่เหตุการณ์ก็ไม่ได้เคลื่อนไหวไปตามนั้น 

 

ช็อนดูฮวัน ผู้บัญชาการรักษาความมั่นคงในขณะนั้น ก็มีความพยายามจะรวบอำนาจ และสถาปนาตนเองเป็นผู้นำทางการเมืองในเชิงปฏิบัติการ กลายเป็นผู้อำนวยการ KCIA มีการประกาศกฎหมายความมั่นคง ประกาศกฎอัยการศึก และควบคุมสื่อ ห้ามปรามไม่ให้มีการชุมนุมตามท้องถิ่น และประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ ส่งผลทำให้ต้องปิดมหาวิทยาลัย ปิดสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

 

หลังจากนั้นนักศึกษาที่เมืองกวางจู นักศึกษาของมหาวิทยาลัยชอนนัม รวมตัวต่อต้านการใช้อำนาจเผด็จการ ผ่านไป 2 วัน มีนักศึกษา 2 คนถูกทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต ชนวนเหตุดังกล่าวทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างรุนแรง เกิดการลามจากนักศึกษาไปจนถึงชาวบ้านและประชาชนออกมาเรียกร้องประท้วง แต่แล้วมีการระดมทหารเข้ามาในพื้นที่ชุมนุม มีการเปิดเพลงชาติเกาหลี หลังจากนั้นมีการระดมยิงใส่ผู้ชุมนุมที่มาชุมนุม ณ ขณะนั้น ทำให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นไปอีก และทำให้มีผู้ชุมนุมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

การปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างหนักจนมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

 

หลังจากนั้นมีการตั้งกองกำลังเพื่อต่อสู้ และแย่งชิงอาวุธจากทหาร มีการแย่งชิงพื้นที่ยุทธศาสตร์ต่างๆ ในที่สุดประชาชนก็สามารถรักษาเมืองกวางจูได้ 

 

แต่แล้วช็อนดูฮวันก็ระดมหน่วยพิเศษมาปฏิบัติการ โดยมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกว่า 20,000 นาย มีการล้อมปราบ ถือเป็นการสังหารหมู่ หลังจากนั้นก็มีการสลายการชุมนุม ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่คาดการณ์ประมาาณ 150-200 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายพันคน

 

ทำให้ในเวลาต่อมา ช็อนฮดูวันยึดอำนาจและกดดันให้ประธานาธิบดีชเวกยูฮาลงจากตำแหน่ง และตนเองก็ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนสิงหาคม 1980 พร้อมแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้เพียง 1 สมัย และเลือกตั้งทางอ้อมผ่านคณะผู้ลงคะแนนเสียง การเข้ามาสู่อำนาจของช็อนฮดูวัน พยายามสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง พยายามทำเสมือนว่าตัวเองกำลังพาประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยในปี 1981 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการเลือกตั้ง ช็อนฮดูวันได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีจากรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาใหม่

 

ช่วงปี 1980-1987 มีการต่อต้านช็อนฮดูวันจำนวนมาก มีการจับกุมผู้เห็นต่าง มีการอุ้มนักการเมือง ผู้นำนักศึกษา และสื่อมวลชน

 

น้ำผึ้งหยดเดียว เปลี่ยนการเมืองไปตลอดกาล

 

เหตุการณ์ที่สำคัญอีกเหตุการณ์หนึ่งคือผู้นำนักศึกษาถูกอุ้มและกักขังหน่วงเหนี่ยว และพยายามยัดข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นคอมมิวนิสต์ ที่สุดผู้นำนักศึกษารายนี้เสียชีวิต และก่อให้เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมากในขบวนการนักศึกษาที่พยายามจะเรียกร้องหาข้อเท็จจริงต่างๆ และนำไปสู่การลุกฮือของขบวนการนักศึกษาย่อยๆ

 

ปี 1987 ช่วงท้ายของการดำรงตำแหน่งของช็อนดูฮวัน ซึ่งช็อนดูฮวันสัญญาไว้ว่าการเลือกตั้งครั้งถัดไปจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ไปเป็นทิศทางที่ดีขึ้น มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ดีขึ้น แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างล่าช้ามาก และในที่สุดรัฐธรรมนูญใหม่ก็เสร็จไม่ทันการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น และเมื่อเป็นเช่นนั้นทำให้ต้องเลือกตั้งตามระบบเดิม คือการเลือกตั้งทางอ้อม

 

กระทั่งการสั่งสมความไม่พอใจเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในหลายที่ของกรุงโซล ซึ่งคาดว่ามีผู้เข้าร่วมกว่า 1 ล้านคนในวันที่ 9 มิถุนายน 1987 โดยในวันนั้นมีนักศึกษารายหนึ่งถูกลูกระเบิดแก๊สน้ำตาโดนที่ศีรษะและเข้าโรงพยาบาล กระทั่งเสียชีวิตในเวลาต่อมา นี่เป็นอีกหนึ่งชนวนความโกรธแค้นและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เมื่อการประท้วงต่อเนื่องจนช็อนดูฮวันต้องยอมที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เลือกตั้งทางตรง และเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตยในเวลาต่อมา

 

ประวัติศาสตร์เกาหลีใต้สมัยนั้นเป็นประวัติศาสตร์แห่งความพ่ายแพ้ ประวัติศาสตร์ของความล้มเหลว มีแต่เรื่องความเป็นชาติ ความเป็นผู้นำ ไม่มีในส่วนของประชาชน แต่พอหลังเหตุการณ์กวางจูเกิดขึ้น ก็เริ่มมีการเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์มากขึ้น ทั้งการเป็นบทละคร บันทึกข้อความของคนที่อยู่ในเหตุการณ์ บทกวี ภาพเขียน การแสดงต่างๆ และเก็บวัตถุพยานในเหตุการณ์นี้มากมาย เรียกว่าเป็นขบวนการมินจุง

 

“ประวัติศาสตร์ของสามัญชนควรจะทำให้เป็นเรื่องที่สามัญ และแพร่หลายในสามัญชน ทำอย่างไรให้ประวัติศาสตร์เป็นสามัญและแพร่หลาย” รศ.ดร.จักรกริช กล่าวทิ้งท้าย

 

ประชาธิปไตยที่มากขึ้น ทำให้ประวัติศาสตร์ความทรงจำของสามัญชนมีพื้นที่มากขึ้น

ปิดท้ายที่ ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าเมื่อไรก็ตามที่ประเทศชาติเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ประวัติศาสตร์สามัญชนและความทรงจำเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสามัญชนจะมีการตีความที่หลากหลาย ไม่ผูกขาดด้วยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

 

หลังการปฏิวัติ 2475 ประวัติศาสตร์สามัญชนถูกผลิตขึ้นจำนวนมาก เพียงแต่คณะที่ต้องการฟื้นระบอบเก่าได้ชัยชนะ หลังปี 2490 จะเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบเรียนประวัติศาสตร์ แบบเรียนสังคมศึกษา แม้แต่เรื่องพุทธศาสนายังถูกบรรจุเข้าไป เพื่อใช้ศาสนาในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ ระบอบเผด็จการในสังคมไทยที่พัฒนามาฉีกเราไปอยู่ในโลกของศาสนจักร โลกของความเชื่อ และความไม่เชื่อมั่นในตนเองของประชาชน 

 

 

ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมี 2 รูปแบบ คือ 

 

  • เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน 
  • เปลี่ยนแปลงโดยใช้วิธีมวลชน 

 

การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันมีผลแน่ แต่ต้องเผชิญปัญหาระยะยาวว่าด้วยการไม่เปลี่ยนแปลงทางความคิด ความเชื่อของคน แต่หากใช้การเปลี่ยนแปลงแบบมวลชนหรือการปฏิวัติ จะเคลื่อนไหวในระยะยาวเพื่อเปลี่ยนวิธีคิดและวัฒนธรรมของประชาชน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าอย่างมโหฬาร

 

คณะราษฎรจะใช้การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันโดยการเปลี่ยนชุดรัฐบาล แต่ตระหนักว่าจะต้องเผชิญการต่อสู้กับปฏิญญาระบอบเก่าในการชิงคืนพื้นที่ จึงใช้คำว่า ‘ประชาชน’ แทนคณะราษฎร เพราะอาจถูกมองได้ว่ามีคณะราษฎรก็ต้องมีคณะเจ้านาย มีการจัดปาฐกถาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้น ดังนั้นในแง่การสื่อสารทางการเมืองกับราษฎรจึงเป็นความพยายามที่จะต้องทำงานอย่างหนัก

 

88 ปี เราเรียนรู้อะไรจากประชาธิปไตย

 

88 ปีหลังการอภิวัฒน์สยาม สังคมไทยผ่านอะไรต่างๆ มาหลายต่อหลายอย่าง

 

ผ่านช่วงเวลาที่อยู่ทั้งภายใต้ประชาธิปไตยและเผด็จการ ผ่านเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สูญเสียชีวิตเพื่อต่อสู้ทางการเมืองอย่าง 14 ตุลา, 6 ตุลา, หรือแม้แต่พฤษภาทมิฬ ผ่านนายกรัฐมนตรีทั้งจากพลเรือนและทหารกว่า 30 คน ผ่านการเลือกตั้งมา 28 ครั้ง

 

ในความทรงจำของสามัญชนอย่างเรา เราได้เรียนรู้และมีความทรงจำอย่างไรกับประชาธิปไตยในประเทศไทย แล้วสามัญชนอย่างเราอยากเห็นประชาธิปไตยในประเทศไทยเป็นอย่างไร

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น