คุณลัดดาวัลย์ อึงสวัสดิ์ อยู่บ้านเลขที่ 186/1 หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นเกษตรกรที่เลี้ยงเป็ดไข่จนประสบผลสำเร็จ โดยเธอได้เน้นสร้างมูลค่าของไข่ด้วยการนำมาแปรรูปทำเป็นไข่เค็มดินสอพอง ทำให้ไข่เป็ดสามารถทำตลาดได้หลากหลายช่องทาง และที่สำคัญมีบริการส่งให้ทางไปรษณีย์ ส่งตรงถึงบ้านกันเลยทีเดียว
เป็ดไข่ที่เลือกเลี้ยงนั้น คุณลัดดาวัลย์ บอกว่า เลือกเป็ดไข่สายพันธุ์ปากน้ำ เพราะเป็ดมีลักษณะขนออกสีดำ ส่วนหัวเขียวสวย มีความเงา จึงทำให้เธอรู้สึกชอบและหลงใหลจึงได้เลือกเลี้ยงเป็ดสายพันธุ์นี้ทั้งหมดประมาณ 3,000 กว่าตัวในเวลานี้
เมื่อตกลงปลงใจที่จะเลี้ยงเป็ดไข่อย่างจริงจัง จึงได้เตรียมพื้นที่บางส่วนที่มีอยู่เดิมมาปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการเลี้ยงเป็ด คือปรับให้เป็นพื้นที่ปลอดโปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก โดยแบ่งภายในโรงเรือนให้มีคอกกั้นเป็น 3 เล้า เพื่อเลี้ยงเป็ดให้มีขนาดรุ่นที่แตกต่างกันไป ประมาณ 3 รุ่นอายุ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาไข่ขาดช่วง เพราะถ้าเป็ดไข่เป็นรุ่นเดียวกันมากเกินไป เวลาที่ไม่ออกไข่เหมือนกันทั้งหมด ก็จะทำให้เจอปัญหาไข่ไม่พอขายได้ จึงเป็นสิ่งที่จะกระทบในเรื่องของการตลาดได้ เพราะไม่สามารถขายได้ต่อเนื่อง
“พอเราไปรับลูกเป็ดมาจากศูนย์วิจัยฯ ก็จะนำลูกเป็ดทั้งหมดมากก โดยตีกล่องสี่เหลี่ยมพร้อมเปิดไฟให้กับลูกเป็ด เอามากกประมาณ 7 วัน ก็ย้ายออกมาข้างนอก อาหารที่ใช้เลี้ยงลูกเป็ดก็จะเป็นอาหารสำเร็จรูปที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีน 20 ขึ้นไป ที่ใช้เลี้ยงเป็ดไก่ทั่วไป จะช่วยทำให้โครงสร้างของเป็ดดีขึ้น” คุณลัดดาวัลย์ บอก
จากนั้นนำลูกเป็ดไข่ที่เห็นว่าแข็งแรงดีแล้วออกจากที่กก มาใส่เลี้ยงในคอกที่เตรียมไว้ จากนั้นก็จะเปลี่ยนอาหารแบบเชิงประหยัดต้นทุน คือให้กินพวกรำข้าว ต้นกล้วยสับ แหน และหญ้าทั่วไปที่สามารถหาได้ตามท้องถิ่นมาให้กินวันละประมาณ 3 ครั้ง และจะมีการให้วิตามินบี 12 ผสมกับน้ำเสริมให้เป็ดกินด้วยเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง
เมื่อเป็ดไข่พันธุ์ปากน้ำได้อายุประมาณ 2 เดือน ก็จะสลับเล้าปล่อยให้ลงเล่นน้ำในสระที่เตรียมไว้ โดยจะไม่ขังให้อยู่ภายในเล้าเพียงอย่างเดียว จึงเป็นสิ่งสำคัญเวลาที่เลี้ยงเป็ดควรแบ่งพื้นที่สำหรับเดินเล่นและว่ายน้ำให้ด้วย จะยิ่งทำให้เป็ดมีความแข็งแรงและต้านทานต่อโรคได้ดี
“พอเลี้ยงเป็ดมาได้อายุประมาณ 4-5 เดือน ก็จะเริ่มให้ไข่ฟองแรกออกมา ซึ่งเป็ดทุกตัวจะออกไข่วันละฟองต่อตัว ซึ่งอาหารที่ให้เป็ดกินนี่ถือว่าสำคัญมาก ถึงเราจะเลี้ยงด้วยกล้วยสับ รำข้าว แต่ก็ต้องให้กินอาหารข้นด้วยในทุกวัน เพื่อเป็นการเสริมการออกไข่ที่ดี ส่วนแหนนี่ถ้าหามาได้มากก็ใส่ทิ้งในบ่อน้ำได้เลย เป็ดก็จะหากินเอง จะทำให้เป็ดอารมณ์ดี เป็ดก็จะออกไข่ให้เราได้ดีไม่ขาดช่วง สามารถให้ไข่ได้เป็น 1 ปีขึ้นไป ถ้าเราเลี้ยงดูแลดี” คุณลัดดาวัลย์ บอกถึงการดูแลเป็ดไข่
ส่วนในเรื่องอาการของโรคที่จะเกิดกับเป็ด คุณลัดดาวัลย์ บอกว่า จะหมั่นดูอาการของเป็ดทุกวันว่ามีอาการอย่างไร เช่น ถ้าจำนวนไข่ที่เก็บในแต่ละวันมีจำนวนลดลง ก็ให้สันนิษฐานได้ว่าเป็ดไข่ภายในเล้าอาจจะไม่สบายต้องหมั่นสังเกตทุกวัน ส่วนการทำวัคซีนจะทำปีละ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันโรคเพล็ก (Duck plague) และโรคอหิวาต์เป็ด (Duck cholera) ซึ่ง 2 โรคนี้ ถือว่ามีความรุนแรงมากถ้าเกิดขึ้นกับเป็ด
ในเรื่องของการทำตลาดนั้น คุณลัดดาวัลย์ เล่าว่า บ้านของเธอค่อนข้างที่จะอยู่ติดกับแหล่งชุมชน ดังนั้น ก็สามารถนำไข่เป็ดที่มีไปขายได้ตามตลาดนัดในชุมชน โดยจะเน้นให้ลูกค้าได้ชิมว่าไข่เค็มมีรสชาติแบบไหน จากนั้นก็จะให้ลูกค้าเป็นผู้ตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้าเองว่าพอใจที่จะซื้อหรือไม่
“พอลูกค้าได้ชิม เขาก็ติดใจนะ เพราะไข่เค็มมันขายตัวมันอยู่แล้ว เวลาที่ต้มสุกออกมา ไข่แดงมันจะค่อนข้างแดงสีสด จึงทำให้ลูกค้าชอบ ซึ่งตอนนี้ไข่เค็มที่ผลิตเองขายต่อวัน ประมาณวันละ 500 ฟอง เรียกว่าขายทุกวัน ขายหมดเราก็รีบมาต้มเพื่อให้มีของขายในวันพรุ่งนี้ ซึ่งไข่ที่ใช้ทำไข่เค็มจะเลือกเป็นไข่ไซซ์ใหญ่ตั้งแต่ 60-70 กรัม ขึ้นไป ลูกค้าเลยติดใจมาตรฐานของเรา ซึ่งตอนนี้ไข่เค็มก็ขายอยู่ที่ฟองละ 7 บาท แต่ถ้าแพ็กอย่างดี ราคาก็จะอยู่ที่ประมาณฟองละ 8 บาท” คุณลัดดาวัลย์ บอกถึงเรื่องราคาขายไข่เค็ม
ส่วนไข่เป็ดที่มีขนาดน้ำหนักน้อยกว่า 60 กรัม ลงมา เธอจะนำไปขายเป็นไข่ดิบแบบคละไซซ์ขนาดกันไป โดยขายอยู่ที่ราคาฟองละ 4 บาท ซึ่งการทำตลาดด้วยวิธีนี้ทำให้ไข่เป็ดที่มีสามารถขายได้หมดทุกขนาด และที่สำคัญไม่มีปัญหาเรื่องไข่ขายไม่หมดจนล้นตลาดเสียหายอีกด้วย
นอกจากนี้ ไข่เค็มที่แปรรูปขายนั้นไม่ได้นำไปขายตามตลาดนัด หรือมีแม่ค้ามารับที่บ้านเพียงอย่างเดียว คุณลัดดาวัลย์ บอกว่า ยังมีบริการส่งทางไปรษณีย์ให้กับลูกค้าที่สนใจอีกด้วย โดยจะส่งตรงไปถึงบ้านโดยที่ลูกค้าไม่ต้องเดินทางมาซื้อให้ลำบาก สำหรับผู้ที่อยู่ยังต่างจังหวัดออกไป ค่าขนส่งก็คิดตามระยะทางปกติ
ทั้งนี้ คุณลัดดาวัลย์ แนะนำสำหรับผู้ที่อยากจะเลี้ยงเป็ดไข่เป็นอาชีพสร้างรายได้ให้ประสบผลสำเร็จอย่างเธอว่า
“การเลี้ยงเป็ดไม่มีอะไรยาก เพียงศึกษาอุปนิสัยและมีการจัดการที่ดี ซึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือเรื่องสายพันธุ์ เราต้องเลือกสายพันธุ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ สายพันธุ์ที่ถูกต้อง ก็จะทำให้การเลี้ยงประสบผลสำเร็จ ซึ่งการทำเป็นอาชีพต้องเลี้ยงแล้วให้ธุรกิจเราไปได้ โดยไม่ใช่เลี้ยงเพราะเห็นว่าเขาเลี้ยงแล้วได้เงินเลยจะเลี้ยงตาม แต่ไม่ได้ดูเลยว่าตัวเองมีความชอบแค่ไหน เพราะเป็ดไข่สามารถเลี้ยงเป็นได้ทั้งอาชีพเสริมและหลัก ถ้ามีใจรักที่จะทำจริงๆ และที่สำคัญต้องนำไข่ที่ได้มาทำการแปรรูปด้วย ก็จะทำให้สินค้าเรามีมูลค่ามากขึ้น ไข่ขายได้ทุกไซซ์ไม่มีเรื่องล้นตลาดแน่นอน” คุณลัดดาวัลย์ กล่าวแนะนำ
สำหรับท่านใดที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการเลี้ยงเป็ด สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณลัดดาวัลย์ อึงสวัสดิ์ หมายเลขโทรศัพท์ (082) 470-7525
ความเห็น 1
วรุฒ (ยก.ฉก.ทพ.นย)
หาซื้อลูกเป็ดได้ที่ไหนครับ
10 ส.ค. 2562 เวลา 08.30 น.
ดูทั้งหมด