ไม่พูดถึงไม่ได้จริงๆ สำหรับชุดผ้าไหมสีทองที่ปรากฏในมิวสิกวิดีโอ LALISA ซิงเกิลเดี่ยวครั้งแรกของ Lisa Blackpink หรือ ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล ซึ่งถูกปล่อยออกมาในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2564 โดยชุดเสื้อไหล่เดี่ยวแต่งเคปยาว และกระโปรงสั้นจับเดรปผ้าไหมสีเหลืองทองประดับด้วยคริสตัลปักมือจาก Swarovski เป็นผลงานการออกแบบของดีไซน์เนอร์ไทย หมู – พลพัฒน์ อัศวะประภา แห่งแบรนด์ ASAVA (อาซาว่า) ซึ่งเลือกใช้ ผ้าไหมยกดอกลำพูน ผ้าทออันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดลำพูน สั่งทอเป็นลวดลายพิเศษที่เรียกว่า ลายพานจักรพรรดิยกทอง มาใช้ในการตัดเย็บชุดนี้
เมื่อย้อนดูในแง่มุมของประวัติศาสตร์ก็พบว่า ผ้าไหมยก ของลำพูน หรือที่นิยมเรียกว่า ผ้าไหมยกดอกลำพูน ไม่ได้มีแค่ความละเอียดในเทคนิคการทออันซับซ้อนเท่านั้น แต่ผ้าไหมยกดอกลำพูนยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications) ซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่องความสวยงาม แต่สินค้านั้นๆ ยังต้องบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ของพื้นที่ได้อีกด้วย และ ผ้าไหมยกดอกลำพูน ก็เป็นสินค้าที่บอกเล่าได้ตั้งแต่ชนชาติยอง อิทธิพลด้านวัฒนธรรมของราชสำนักสยาม ไปจนถึงสภาพของน้ำและดินในจังหวัดลำพูนที่ทำให้ต้นหม่อนเติบโตได้ดี เมื่อนำมาเลี้ยงไหมจึงได้เส้นไหมที่ยาว เหนียว นุ่ม และมีความยืดหยุ่นได้ดี
จากข้อมูลในระบบสารสนเทศศูนย์อนุรักษ์ผ้าไทย กรมหม่อนไหม ได้บันทึกไว้ว่าชาวลำพูนในอดีตนั้นเลื่องชื่อเรื่องงานทอผ้าโดยเฉพาะผ้าทอของกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวยอง ซึ่งเป็นชาวไทยลื้อที่อพยพมาจากเมืองยอง ส่วนหนึ่งของเมืองเชียงตุง ในกลุ่มชนชั้นสูงของชาวยองนั้นนิยมแต่งกายด้วยผ้าไหมทอมือ ผิดกับชาวบ้านที่จะใช้แค่ผ้าฝ้ายทอ แต่เทคนิคการทอยุคแรกก็ไม่ได้วิจิตรมากนัก เป็นลายดอกไม้ประจำถิ่นทั่วไป กระทั่งพระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระธิดาในพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ ผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 และพระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานทูลขอพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 6 เสด็จกลับเชียงใหม่หลังจากรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต
พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงนำความรู้เรื่องการทอผ้าจากราชสำนักสยามมาประยุกต์ใช้ในการประดิษฐ์ลวดลายของทางเหนือ พร้อมกันนั้นก็ได้ฝึกหัดคนในคุ้มเชียงใหม่ให้ทอผ้ายกโดยเพิ่มลวดลายลงในผืนผ้าไหมให้พิเศษขึ้น เพิ่มด้ายเส้นพุ่งพิเศษเป็นดิ้นเงิน ดิ้นทอง อีกทั้งการเก็บลายก็เพิ่มเทคนิคการใช้ตะกอเพื่อให้สามารถทอลวดลายที่สลับซับซ้อนประณีตยิ่งขึ้น ซึ่งเทคนิคการทอที่ว่านี้เรียกว่า ยกดอก
และด้วยพระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงเป็นพระญาติกับเจ้าเมืองลำพูน จึงทรงถ่ายทอดความรู้เรื่องการทอผ้ายกที่มีลวดลายสวยงามแปลกตากว่าลายดั้งเดิมของทางล้านนาให้แก่เจ้าหญิงส่วนบุญ พระราชชายาของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ (เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย) และ เจ้าหญิงลำเจียก พระธิดาเจ้าจักรคำ ขจรศักดิ์ ทั้งสองพระองค์ได้นำความรู้การทอผ้ายกอิทธิพลจากราชสำนักส่วนกลางมาฝึกให้คนในคุ้มหลวงลำพูน และนี่ก็เป็นจุดที่ทำให้ชาวลำพูนได้เรียนรู้การทอผ้ายก โดยเฉพาะผ้าไหมยกดอก พร้อมกันนั้นก็มีการฟื้นฟูผ้ายกลำพูนแบบดั้งเดิมโดยดัดแปลงให้ผ้าไหมมีความวิจิตรสวยงามยิ่งขึ้น เกิดโรงทอมากมายที่ตำบลเวียงยอง และบริเวณใกล้เคียงที่เป็นชุมชนของเจ้านายยองในอดีต
ทั้งนี้ในสมัยรัชกาลที่ 6 ผ้ายก เป็นที่นิยมอย่างมากในราชสำนักสยามและแวดวงสังคมชั้นสูง และด้วยความที่การคมนาคมทางรถไฟจากรุงเทพฯ สู่เชียงใหม่และลำพูนสะดวกยิ่งขึ้น ทำให้เชียงใหม่ และลำพูนกลายเป็นแหล่งส่งออกผ้าไหมชั้นดีสู่ภาคกลาง และตั้งแต่ พ.ศ.2475 ผ้าไหมยกดอกจากลำพูนก็เป็นที่ต้องการไม่เฉพาะแต่ในราชสำนัก ทว่าวงข้าราชการ ประชาชนผู้มีฐานะก็เรียกหาผ้าไหมยกดอกลำพูนเช่นกัน
จุดเด่นของผ้ายกดอกลำพูนคือในผืนผ้าจะมีลวดลายในตัว เวลาที่สัมผัสผืนผ้าจะรู้สึกได้ถึงความนูนโดยเฉพาะในส่วนของลวดลายอันเกิดจากเทคนิคการทอพิเศษเพื่อยกลวดลายให้นูนสูงขึ้นกว่าผืนผ้า โดยผู้ทอจะเลือกยกบางเส้นและข่มบางเส้น แล้วพุ่งกระสวยไปในระหว่างกลางด้วยดิ้นเงินหรือดิ้นทอง ซึ่งเทคนิคในการทอยกให้เกิดลวดลายนี้เรียกว่า เทคนิคการยกดอก
ด้านลวดลายนั้นดั้งเดิมผ้าไหมยกดอกของลำพูนจะเป็นลายดอกไม้ ใบไม้เสียส่วนใหญ่ เช่น ลายดอกพิกุล ลายกลีบลำดวน ลายใบเทศ ลายเม็ดมะยม และลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ซึ่งแม้ลายดอกไม้จะดูเหมือนเป็นลายง่ายๆ แต่ก็ได้มีการแตกลายย่อยๆ ของดอกไม้ในแต่ละสายพันธุ์เป็นลูกเล่นลงไปอีก เช่น ลายดอกพิกุลซึ่งเป็นลายโบราณที่โด่งดังสุดของลำพูนก็แตกลายเป็น พิกุลเครือ พิกุลมีขอบ พิกุลก้านแย่ง พิกุลเชิงใหญ่ พิกุลถมเกสร พิกุลเล็ก พิกุลใหญ่ พิกุลสมเด็จ และพิกุลกลม เป็นต้น
ทั้งนี้แต่ละลายไม่มีการวาดร่างขึ้นมา ผู้ทอต้องจดจำและถ่ายทอดต่อๆ กันมาผ่านประสบการณ์เป็นความชำนาญซึ่งนี่เป็นข้อเสียที่ทำให้ลายผ้าโบราณสูญหายจำนวนมาก จะมาเริ่มมีการบันทึกในสมัย เจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำพูน (สมรสกับโอรสเจ้าผู้ครองนครลำพูน) ผู้ได้รับการถ่ายทอดวิชาทอผ้าด้วยกี่พื้นบ้าน และเรียนรู้ลายผ้ายกโบราณของคุ้มลำพูน เจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำพูน ได้เริ่มเก็บลวดลายผ้าโบราณด้วยการบันทึกลงบนกระดาษกราฟ และกลายเป็นต้นแบบของลายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
27 กันยายน พ.ศ.2550 ผ้าไหมยกดอกลำพูน ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ที่ถ่ายทอดมรดกทางภูมิปัญญาจากอดีตสู่ปัจจุบัน ซึ่งข้อดีอย่างหนึ่งของการขึ้นทะเบียน GI คือการทำให้อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในพื้นที่ลำพูนต้องเดินหน้าต่อ เพราะสินค้า GI จะต้องให้รายละเอียดไปถึงแหล่งที่มาของเส้นไหม และโรงทอที่อยู่ในพื้นที่ของลำพูนเลย ทว่าสิ่งที่น่ากังวลก็คือกลุ่มผู้ทอผ้ายกดอกที่นับวันจะหาผู้สืบทอดได้ยากเต็มที
ตัวผู้เขียนได้เคยมีโอกาสไปตามรอยเส้นทางสายไหมที่ลำพูนในหลายโรงทอก็พบว่ากลุ่มผู้ทอหลักๆ เหลือเพียงผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าการเปิดตัวของผ้าไหมยกดอกลำพูนใน มิวสิกวิดีโอ LALISA ซึ่งมีผู้ชมราว 10 ล้านวิวภายใน 1 ชั่วโมงแรกจะทำให้ผ้าไหมยกดอกลำพูนกลับมาเป็นที่ต้องการอีกครั้ง พร้อมกับภาพลักษณ์ใหม่และการสร้างการรับรู้ใหม่ว่าผ้าไหมไทยไม่ได้จบอยู่แค่ชุดไทยพิธีการ ชุดประจำการออกงานของข้าราชการ หรือชุดเสื้อผ้าสำหรับผู้สูงวัยเท่านั้น ความท้าทายของเหล่าดีไซน์เนอร์ไทยรุ่นใหม่คือการทำให้ผ้าไหมไทยเช่น ผ้าไหมยกดอกลำพูน สามารถไปต่อได้ในกระแสแฟชั่นและความพอปร่วมสมัย เพราะอย่าลืมว่าต่อให้ผลิตสินค้าออกมาดีมีคุณภาพประณีตแค่ไหน แต่สุดท้ายถ้าไม่มีใครใส่ วัฒนธรรมและภูมิปัญญานั้นๆ ก็จะถูกแช่แข็งจบชีวิตไปและเหลือทิ้งไว้แค่คำว่า…เสียดาย
Fact File
- ผ้ายกหมายถึง ผ้าไหมที่ทอยกลวดลายให้นูนสูงขึ้นกว่าผืนผ้า โดยเลือกยกบางเส้นและข่มบางเส้น แล้วพุ่งกระสวยไปในระหว่างกลางด้วยดิ้นเงินหรือดิ้นทอง ซึ่งเทคนิคในการทอยกให้เกิดลวดลายนี้เรียกว่า เทคนิคการยกดอก ผ้ายกเป็นผ้าโบราณที่อดีตใช้ในคุ้มเจ้าหรือในพระราชสำนักเท่านั้น
- ผ้าไหมยกดอกมีความหมายเดียวกับผ้ายก ต่างกันที่การใช้ไหมพุ่งอาจจะใช้เส้นไหมสีต่างๆ แทนเส้นดิ้นในการทอผ้า
- ยกดอกนั้นเพื่อบ่งบอกถึงเทคนิคที่ใช้ทอผ้าและบ่งบอกถึงลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดลำพูนที่เป็นลวดลายดอกไม้ เช่น ลายดอกพิกุล ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงนิยมเรียกว่า “ผ้าไหมยกดอก” หรือ “ผ้าไหมยกดอกลำพูน”
- ปัจจุบันมีร้านที่ได้รับอนุญาติให้ใช้เครื่องหมาย GI ผ้าไหมยกดอกลำพูน จำนวน 11 ราย
อ้างอิง
- กรมทรัพย์สินทางปัญญาhttps://bit.ly/3k3JwHA
- https://qsds.go.th/silkcotton/k_20.php
The post ผ้าไหมยกดอกลำพูน จากราชสำนักสู่สินค้า GI และชุดผ้าไหม Lisa BLACKPINK appeared first on SARAKADEE LITE.
ความเห็น 28
💸💸yi🐲g🎍🎍4289💸💸
BEST
สุดยอดฝีมือของคนไทยบวกกับนักร้องชื่อดังอย่างลิซ่า ที่นำพาวัฒนธรรมดีๆของคนไทยสู่สายตาชาวโลก
11 ก.ย 2564 เวลา 08.41 น.
WSM
BEST
ผ้าสวยมาก งานปราณีตของไทย
11 ก.ย 2564 เวลา 08.40 น.
เชกู เสมาชัย
BEST
มีคุณค่าเชิงวัฒนธรรม
11 ก.ย 2564 เวลา 07.03 น.
maewaey
ล้ำเลิศ ขอบคุณคนคิด MV และขอบคุณลิซ่าที่ทำให้ผ้าไหมไทยมีโอกาสได้ดังไกลไปทั่วโลก
11 ก.ย 2564 เวลา 14.17 น.
น้อย
ผ้าไทยดังไปทั่วโลกขอบคุณลิซ่า
11 ก.ย 2564 เวลา 10.45 น.
ดูทั้งหมด