โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

กะเทยพูด “ค่ะ” ว่าน่ารัก ทำไมทอมพูด “ครับ” ถึงโดนหมั่นไส้

Another View

เผยแพร่ 30 มี.ค. 2562 เวลา 01.00 น.

กะเทยพูด “ค่ะว่าน่ารักทำไมทอมพูดครับถึงโดนหมั่นไส้ 

ทัศนคติที่มีต่อเพศหลากหลายในเมืองไทยนั้นยังคงเป็นเรื่องที่ต่างคนต่างมุมมอง และในการศึกษากระแสหลักก็ยังไม่ได้สนับสนุนมุมมองที่เหมาะสมต่อความหลากหลายทางเพศ อย่างไรก็ตาม ในยุคที่โลกเปิดกว้างมากขึ้น เราจะเห็นได้ว่าการเคารพต่อสิทธิและการปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นมีแนวโน้มไปในทางที่ดี และค่านิยม เหยียดเพศ ในคนรุ่นใหม่ (รวมทั้งคนรุ่นเก่าบางกลุ่ม) ก็ลดลง คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ก็มีความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมี “อคติ” ทางเพศบางประการที่เกิดขึ้นกับคนหลากหลายทางเพศบางกลุ่ม เช่น บางคนอาจจะบอกว่า “ยอมรับกะเทยได้เพราะน่ารักดี” แต่กลับ “รังเกียจทอม เพราะน่าหมั่นไส้” ปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษาและมองให้ลึกถึงบริบทในสังคมเพื่อความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง 

อันดับแรก ต้องทำความเข้าใจทัศนคติดั้งเดิมที่มีมาแต่ก่อนเก่า ในเรื่องของ “ชายจริงหญิงแท้” เสียก่อน ในอดีต เมื่ออ้างอิงตามโครงสร้างทางสังคม เพศชาย เป็นเพศที่มีความสำคัญสูง ไม่ว่าจะเป็นในยุคของการเข้าป่าล่าสัตว์ ยุคของสงครามที่เพศชายเป็นที่ต้องการในฐานะแรงงานและทหาร กระทั่งในยุคอุตสาหกรรม ก็ยังมีความคาดหวังให้เพศชายเป็น “หัวหน้าครอบครัว” ในแง่ของวัฒนธรรม เพศชายก็เป็นเพียงเพศเดียวที่สามารถ “บวช” ได้…ครอบครัวชาวพุทธจึงดีใจที่จะได้ “เกาะชายผ้าเหลืองลูกขึ้นสวรรค์” …ในขณะที่ เพศหญิงอันเป็นเพศที่โอบอุ้ม ให้กำเนิด และเลี้ยงดูสมาชิกรุ่นเยาว์ของสังคมกลับถูกผลักเอาไปไว้อยู่ชายขอบ…จนกระทั่งถึงขนาดมีคำกล่าวว่า “มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน” 

เรียกได้ว่าโครงสร้างสังคมไทยนั้นเป็นสังคม ชายเป็นใหญ่(patriarchy)” ที่หยั่งรากลึกมาตั้งแต่โบราณ 

เมื่อสังคมให้ความสำคัญกับ “บทบาท” และ “หน้าที่” ของเพศชายแท้ถึงเพียงนี้ จึงไม่แปลกที่เมื่อโลกเข้าสู่ยุคที่เริ่มยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ผู้คนที่กล้าออกมาบอกว่าตัวเองเป็นเพศต่าง ๆ ที่หลากหลายไม่ตรงกับบรรทัดฐานสังคมที่มีมาแต่ก่อนเก่าย่อมถูกมองว่า “ผิด” และ “ประหลาด” 

เมื่อคุณบอกว่าคุณเป็น"กะเทย" ก็จะถูกมองว่า “เป็นผู้ชายดี ๆ ก็ดีอยู่แล้ว ทำไมถึงอยากเป็นผู้หญิง” เพราะเพศหญิงตามทัศนคติของสังคมนั้นเป็นเพศที่สำคัญน้อยกว่าเพศชาย เมื่อเกิดมาเป็นเพศที่สำคัญกว่าตามบรรทัดฐานของสังคมแต่แสดงออกเป็นลักษณะของเพศที่สำคัญน้อยกว่าก็ถูกมองว่าไม่ถูกต้อง…ไม่เหมาะสม 

กลับกัน เมื่อคุณบอกว่าคุณเป็น "ทอม"ก็จะถูกมองว่า “เป็นผู้หญิงที่เผยอ…อยากจะเป็นผู้ชาย” เพราะเกิดในเพศที่ถูกสังคมมองว่าไม่สำคัญ เมื่อแสดงออกอย่างเพศที่สังคมมองว่าสำคัญกว่า จึงกลายเป็นความพยายามจนทำให้คนบางกลุ่มรู้สึกว่าเกิดความ “น่าหมั่นไส้” ขึ้นมา 

ดังนั้น เมื่อในภาษาไทยมีการแบ่งแยกเพศชัดเจนสำหรับคำลงท้ายเพื่อความสุภาพ ซึ่งนั่นก็คือ คำว่า “ค่ะ” และ คำว่า“ครับ” ที่หากคุณเป็นเพศไหนก็คงจะเลือกใช้ตามเพศนั้น…กะเทยบางคนจึงพูด “ค่ะ” ส่วนทอมบางคนก็พูด “ครับ” ตามเพศที่พวกเขารู้สึกว่าเขาเป็นเช่นนั้น…แต่สำหรับกะเทยที่พูด “ค่ะ” ทัศนคติและกรอบการมองโลกของเราจะบังคับให้เรามองว่าเขา “ดูอ่อนน้อม” เป็นเพราะยินยอมทำตาม “เพศที่อ่อนแอกว่า” ในขณะที่เมื่อทอมพูด “ครับ” กรอบการมองโลกของเราจะบังคับให้เรามองว่าเขา “ดูแข็งกร้าว” เพราะเขากำลัง “พยายามเป็นเพศที่เข้มแข็ง” ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่…

ในความเป็นจริงแล้ว ค่านิยมและ ทัศนคติเหล่านี้ต่างหากที่ผิดเพี้ยน และป่วย…เพราะไม่ว่าใครที่เกิดมาในเพศไหนก็ตาม พวกเขาเกิดมาเป็นเพศของเขาอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นชาย หญิง กะเทย ทอม หรือเพศอื่น ๆ ไม่มีใครที่เกิดมาแล้วต้องการเป็นเพศอื่น เพราะพวกเขาเกิดมาเป็น “เพศนั้น ๆ” ของเขา แต่ปัญหาอยู่ที่ ความไม่เข้าใจความหลากหลายที่มองว่า โลกนี้ต้องมีสองเพศเท่านั้นทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วโลกนี้ไม่ได้มีแต่ชายหญิงมาตั้งแต่ยุคบรรพกาล เป็นเรื่องปกติและเป็นเรื่องธรรมชาติ 

ไม่ว่าจะเกิดเป็นเพศใด ๆ ก็ตาม คุณมีสิทธิ์จะใช้คำพูดลงท้ายในแบบที่คุณพอใจ นอกจากนี้ ต่อให้เป็นเพศชายแท้ ๆ ที่รักผู้หญิง เขาก็มีสิทธิ์ที่จะแต่งตัว แต่งหน้า รักสวยรักงามเหมือนผู้หญิง ต่อให้เป็นเพศหญิงแท้ ๆ เขาก็มีสิทธิ์ที่จะทำตัวเท่ ๆ เหมือนผู้ชายโดยไม่ควรมีใครมาตราหน้าว่าเขาเป็นอะไร เป็นเพศไหน หรือต่อให้เป็นเพศกะเทย ทอม เขาก็มีสิทธิ์ในการพูด “ค่ะ” และพูด “ครับ” ตามที่ใจเขาต้องการ 

หากคุณเห็นผู้ชายแต่งหน้าแล้วรู้สึกไม่ชอบ เห็นผู้หญิงทำตัวเท่แล้วรู้สึกไม่ดี กะเทยพูด “ค่ะ” แล้วไม่พอใจ หรือเห็นทอมพูด “ครับ” แล้วหมั่นไส้…ปัญหานั้นอาจอยู่ที่ ตัวคุณ” ที่ควรจะต้องหัดปรับมุมมองและทัศนคติเอาเสียใหม่…

 

ก็แหม…ปีนี้ 2019 แล้วนะคุณ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0