การทำนาทำไร่ปีละหนได้ข้าวอย่างสม่ำเสมอเป็นอาหารเลี้ยงคนในชุมชน ทำให้ชุมชนสมัยแรกเริ่มค่อยๆ เติบโตขึ้นจากชุมชนหมู่บ้านกระจัดกระจายกลายเป็นชุมชนระดับเมืองตั้งแต่หลายพันปีมาแล้ว
ชุมชนสมัยแรกเริ่มในประเทศไทยมีการเพาะปลูกบนที่สูงกับที่ลุ่ม
ที่สูง ปลูกข้าวไร่ หรือ “เฮ็ดไฮ่” บางทีเรียก “นาน้ำค้าง” เนื่องจากอาศัยการหล่อเลี้ยงจากน้ำค้างตอนกลางคืน เพราะน้ำฝนที่ตกมาจากฟ้าแล้วเหือดหายไปในดินไม่เก็บน้ำ
ดังนั้น ข้าวไร่ได้ผลไม่มาก เลี้ยงคนได้จำนวนจำกัด ชุมชนบนที่สูงจึงคนน้อย
ที่ลุ่ม ปลูกข้าวนา หรือ “เฮ็ดนา” บางทีเรียก “นาทางฟ้า” หรือ “นาน้ำฝน” เนื่องจากอาศัยการหล่อเลี้ยงต้นข้าวด้วยฝนตามฤดูกาลจากฟ้า จากนั้นบางแห่งเก็บกักน้ำไว้ด้วยระบบเหมืองหรือฝายตามความแตกต่างของภูมิประเทศ จึงได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วยเป็นอาหารเลี้ยงคนจำนวนมาก
การทำนาที่ลุ่มมี 2 แบบ ได้แก่ นาหว่าน กับนาดำ ซึ่งต้องมีเทคโนโลยีก้าวหน้า คือ ผาล และไถ รวมทั้งช้างม้าวัวควาย
ผาล สมัยแรกทำด้วยไม้ ถากปลายแหลม สมัยหลังทำด้วยเหล็กสำหรับสวมหัวหมูเครื่องไถซึ่งทำจากไม้ (การขุดค้นทางโบราณคดีทั้งในไทยและลาว ไม่เคยพบผาลทำจากเหล็กตามที่มีนักวิชาการบางคนเคยอ้างไว้)
ไถ เครื่องมือสำหรับพลิกฟื้นผืนดินในการทำนาทำไร่
ช้างม้าวัวควาย ใช้ลากไถที่มีผาลให้ไถนา โดยขึ้นกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น อีสานดินปนทรายในหน้าแล้งแดดร้อน ใช้วัวซึ่งทนแดด (ไม่ทนฝน) ลากเกวียนขนาดเล็กขึ้นที่สูงๆ ต่ำๆ แต่ภาคกลางฝนตกชุกโคลนเลนมาก ต้องใช้ควายซึ่งชอบฝน (ไม่ทนแดด) ลากเกวียนล้อใหญ่ลุยโคลนเลน เป็นต้น
(1.) นาหว่าน เป็นการทำนาปลูกข้าวแบบเก่าแก่ที่สุดหลายพันปีมาแล้ว ยังสืบเนื่องถึงปัจจุบันในบางท้องที่ ดังนี้
(หนึ่ง) กำหนดพื้นที่ปลูกข้าวบริเวณน้ำท่วมถึง (สอง) ไถนาเตรียมดินพื้นที่ปลูกข้าว เริ่มด้วย “ไถดะ” (หมายถึงไถนาครั้งแรกด้วยการไถดินตะลุยไป ไม่ต้องพิถีพิถัน) เพื่อฆ่าวัชพืช หรือฆ่าหญ้ารก (สาม) จากนั้น “ไถแปร” (หมายถึงเปลี่ยนแปลงจากเดิม) คือ ไถขวางพาดแนวไถดะเพื่อให้ดินร่วน (สี่) หว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว (ที่เตรียมไว้) ลงไปบนพื้นที่หลังไถแปร (ห้า) “ไถกลบ” ให้ดินกลบเมล็ดข้าวที่หว่านไว้ ป้องกันนกจิกกินเมล็ดข้าว (หก) พันธุ์ข้าวนาหว่านเป็นพันธุ์ข้าวหนีน้ำ หมายถึงน้ำท่วมสูงเท่าใด ต้นข้าวจะโตโผล่พ้นน้ำชั่วข้ามคืน
(2.) นาดำ เป็นการทำนาปลูกข้าวได้ผลผลิตมากเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแบบก้าวหน้า (น่าจะมีต้นแบบจากโซเมีย ทางตอนใต้ของจีน)
นาดำทำบริเวณฝนตกชุกและพื้นดินกักเก็บน้ำได้ดี จึงมีการทำคันดินเรียกคันนาไว้กักเก็บน้ำ บางทีเรียกการทำนาแบบนี้ว่า “นาทดน้ำ”
(หนึ่ง) ไถดะและไถแปร (แบบนาหว่าน) (สอง) เพาะพันธุ์ข้าวปลูกไว้ต่างหาก เรียกเพาะต้นกล้า (สาม) เตรียมแปลงนาไว้ดำนา เรียก “ตีแปลง” (สี่) ต้นกล้าข้าวปลูกเอามาปักดำในนาที่ตีแปลงไว้ การปักดำต้นกล้าเรียกดำนา (ดำในที่นี้หมายถึงใช้หัวแม่มือกดโคนต้นกล้ามุดลงไปในนาที่ตีแปลงเป็นโคลนเลน โดยเหลือลำต้นตั้งตรงราวฝ่ามือหรือมากกว่านั้น)
“ข้าวเหนียว” อาหารหลักเก่าแก่ที่สุดในไทย
ข้าวที่ใช้เพาะปลูกเริ่มแรกเป็นพันธุ์ “ข้าวป่า” ที่เกิดในป่าและตามหนองบึงเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว
ต่อมามนุษย์นำข้าวเหล่านี้ไปปลูกด้วยวิธีง่ายๆ โดยหว่านลงบนที่ราบน้ำท่วมถึง แล้วปล่อยให้ข้าวที่หว่านไว้นี้เติบโตขึ้นเองจนถึงเวลาเก็บเกี่ยว ไม่มีการปรับปรุงเทคนิควิธีการเพาะปลูก โดยเฉพาะการทดน้ำและระบายน้ำ เรียกการปลูกข้าวแบบนี้ว่านาน้ำท่วม หรือฟลัดไรซ์ (Flood rice)
การปลูกข้าวแบบนี้เป็นวิธีการง่ายๆ ที่กระทำบนที่ลุ่มบริเวณใกล้ชุมชนชั่วคราว เป็นเหตุให้เกิดเป็นชุมชนหมู่บ้านอย่างถาวรนั้น เพราะไม่ต้องการเคลื่อนย้ายหาที่อยู่ใหม่ เป็นเงื่อนไขสำคัญผลักดันให้ชุมชนหมู่บ้านขยายตัวใหญ่โตจนมีลักษณะซับซ้อนขึ้น
บริเวณนี้มีน้ำท่วมถึง หรือการชักน้ำเข้ามาหล่อเลี้ยงพืชพันธุ์ที่เพาะปลูกได้ ทำให้โคลนหรือตะกอนจากที่อื่นๆ เข้ามาทับถมกลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติ ที่ดินจึงมีความอุดมสมบูรณ์เสมอๆ ทุกๆ ปี จนไม่ต้องโยกย้ายไปหาพื้นที่เพาะปลูกใหม่ และสามารถเก็บเกี่ยวพืชผลได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยพอเลี้ยงคนได้เป็นจำนวนมาก ทั้งมีส่วนกันพอที่จะนำไปแลกเปลี่ยนสิ่งของกับชุมชนอื่นๆ ด้วย ทำให้ท้องถิ่นนั้นมีผู้คนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ
ในที่สุดก็แบ่งงานกันทำกิจกรรมเฉพาะ รวมทั้งมีโอกาสร่วมมือกันในกิจการงานต่างๆ เช่น ทดน้ำหรือระบายน้ำเพื่อการเพาะปลูก ติดต่อแลกเปลี่ยนสิ่งของกับชุมชนอื่น และขยายชุมชนไปทั้งบริเวณใกล้เคียงรวมทั้งชุมชนบนที่สูงด้วย เป็นเหตุให้พวกที่สูงบางกลุ่มทยอยเคลื่อนย้ายลงมาอยู่ที่ราบ แล้วผสมกลมกลืนทางสังคมและวัฒนธรรมกลายเป็นพวกที่ราบ ยังพบร่องรอยอยู่ในนิทานปรัมปราหลายเรื่อง เช่น ท้าวฮุ่ง เรื่องปู่จ้าวลาวจก เป็นต้น
ฉะนั้น เขตนี้มักมีพัฒนาการจากหมู่บ้านเป็น “เมือง” แล้วก้าวหน้าเป็น “รัฐ” และ “อาณาจักร” ได้ เช่น รัฐต่างๆ ในยุคทวารวดีจนถึงราชอาณาจักรสยามที่กรุงศรีอยุธยา ฯลฯ แต่ก็มิได้หมายความว่า ทุกหนทุกแห่งในที่เขตที่ราบจะมีโอกาสก้าวหน้าได้เหมือนกันหมด เพราะยังมีข้อแตกต่างอื่นๆ ที่อาจเป็นทั้งสิ่งเอื้ออำนวยและข้อจำกัดอีก
วิถีทำนาดังกล่าว ทำได้ปีละครั้งเดียวเท่านั้น เพราะผูกพันสัมพันธ์อยู่กับน้ำฝนที่มีตามธรรมชาติหรือตามฤดูกาลปีละครั้งเดียว เลยเรียกสิ่งนี้ว่า เข้า แปลว่า ปี ภายหลังได้กลายเป็น ข้าว
ข้าว ที่เป็นพันธุ์ข้าวปลูกให้คนเราหุงกินเป็นอาหารเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย มีอายุราว 5,500 ปีมาแล้ว นักโบราณคดีไทยและเทศขุดพบเมล็ดข้าวเก่าแก่นี้ที่ถ้ำปุงฮุง (จ.แม่ฮ่องสอน)
แต่อายุข้าวต้องแก่กว่านั้นอีกหลายพันปีถ้าคิดถึงวิวัฒนาการจากข้าวป่าขึ้นทั่วไปในธรรมชาติ แล้วคนยังไม่รู้จักว่ากินได้ จนเกิดวิกฤตบางอย่างขึ้นมาคนเราถึงรู้ว่ากินได้ แล้วเอามาปลูกกินเป็นอาหารจนกลายเป็นข้าวปลูกแล้วสืบพันธุ์ข้าวต่อเนื่องมา ต่อจากนั้นพบที่บ้านโนนนกทา (จ.ขอนแก่น) จนถึงบ้านเชียง (จ.อุดรธานี) และบ้านโคกพนมดี (จ.ชลบุรี) ฉะนั้น อายุข้าวที่พบในประเทศไทยอาจเก่าแก่ถึง 7,000 หรือ 10,000 ปีมาแล้วก็ได้
แกลบหรือเปลือกข้าวอายุ 5,500 ปีมาแล้ว จากถ้ำปุงฮุง (จ.แม่ฮ่องสอน) เป็นประเภทข้าวไร่ที่เจริญงอกงามบนที่สูง มีทั้งข้าวเหนียวเมล็ดใหญ่ (Large Type) จัดเป็นพวกชวานิคา (Javanica) และข้าวเจ้าเมล็ดเรียว (Slender Type) จัดเป็นพวกอินดิคา (Indica)
คำว่าข้าวเจ้า เดิมเขียนว่าข้าวจ้าว เพราะคำว่า “จ้าว” เป็นคำพื้นเมืองดั้งเดิม แปลว่า แห้ง, หมาด, ไม่มีน้ำ เรียกข้าวที่หุงให้เป็นข้าวสวยโดยไม่แฉะว่าข้าวจ้าว
ส่วนข้าวเหนียว เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าข้าวนึ่ง เพราะเป็นข้าวที่หุงให้เป็นข้าวสวยด้วยการนึ่ง เมื่อสุกเป็นข้าวสวยแล้วจะมียางเหนียวติดกัน
คำว่าข้าว เดิมที่เขียนว่าเข้า แปลว่า ปี (หรือ 12 เดือน) เพราะเหตุที่พืชพันธุ์อย่างนี้ เพาะปลูกด้วยน้ำฝนตามธรรมชาติได้ปีละครั้งเดียวในฤดูฝนเท่านั้น จึงเรียกเข้า ต่อมาสะกดเพี้ยนเป็นข้าวจนทุกวันนี้
พันธุ์ข้าวยุคแรกๆ มาจากป่า มีขึ้นทั่วไป แต่เมล็ดมีลักษณะอ้วน ป้อม จัดอยู่ในตระกูลข้าวเหนียว ถือเป็นต้นตระกูลแห่งข้าวเหนียวของภูมิภาคนี้ และอาจเกี่ยวข้องกับตระกูลข้าวญี่ปุ่นด้วย
ยุคแรกเริ่มของภูมิภาคอุษาคเนย์ คนทุกเผ่าพันธุ์กินข้าวป่ามาก่อน ซึ่งเป็นตระกูลข้าวเหนียว (พบแกลบข้าวเหนียวอยู่ในแผ่นอิฐตามศาสนสถานยุคทวารวดีทั่วทั้งประเทศไทย รวมทั้งที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สุโขทัย นครปฐม ลงไปถึงนครศรีธรรมราช แสดงว่าคนกินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก ตั้งแต่เหนือจรดใต้)
ชุมชนหมู่บ้านเก่าที่สุดในประเทศไทย พบที่ภาคอีสานมีอายุราว 5,000 ปีมาแล้ว เช่น ชุมชนที่บ้านเชียง (จ.อุดรธานี) ฯลฯ คนในชุมชนปลูกข้าวอยู่ริมหนองน้ำธรรมชาติ นับเป็นชาวนาชาวไร่ยุคเริ่มแรก พบเครื่องมือเครื่องใช้หลายอย่างทำด้วยสำริดและเหล็ก ใช้ทำนาทำไร่และล่าสัตว์ รวมทั้งทำเครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสี มีแกลบหรือเปลือกข้าวเป็นส่วนผสม และรู้จักทอผ้าด้วย •
| สุจิตต์ วงษ์เทศ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022