โรงเรียนอัสสัมชัญ ร่วมกับ มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย จัดค่าย AC x FSG Aerospace Camp 2023 พัฒนานักเรียนที่มีความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเทคโนโลยีการบินและอวกาศ และขยายโอกาสในการพัฒนาศักยภาพด้านวิชาการ การวิจัย และการแบ่งปันองค์ความรู้ทางวิชาการของศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีการบินและอวกาศ โรงเรียนอัสสัมชัญ โดยมีนักเรียนจากโรงเรียนในเครือมูลนิธิคณะเซนต์คาเบียลแห่งประเทศไทย เข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย โรงเรียนอัสสัมชัญ จำนวน 2 ทีม โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี 1 ทีม โรงเรียนเซนต์คาเบรียล จำนวน 3 ทีม โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความรู้และเสริมในกิจกรรมค่าย อาทิ พล.อ.ต.เจษฎา คีรีรัฐนิคม ผู้เชียวชาญด้านจรวดและอาวุธนำวิถี สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ, ศาตราจารย์ ดร.ประภาส จงสถิตย์วัฒนา อาจารย์ภาควิชาคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.จิรายุส ไวยนันท์ ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมและบริหารการก่อสร้าง โครงการนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (วังจันทร์วัลเลย์) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ณ วังจันทร์วัลเลย์ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ระหว่างวันที่ 1-5 พฤษภาคม 2566
สำหรับค่าย AC x FSG Aerospace Camp 2023 ประกอบด้วยกิจกรรมเกี่ยวกับวิศวกรรมเทคโนโลยี การบินและอวกาศ ผ่านการควบคุมดาวเทียวขนาดจิ๋ว “คิวบ์แซท” (CubeSat) เพื่อปล่อยในชั้นบรรยากาศโลก และเก็บข้อมูลตามภารกิจที่กำหนด โดยให้นักเรียนที่เข้าร่วมค่ายนำทฤษฎีมาสู่การปฏิบัติ ฝึกเทคนิคการนำเสนอ โดยกิจกรรมทั้งหมดของค่ายนี้ เป็นความร่วมมือทางด้านวิชาการ ระหว่างโรงเรียนอัสสัมชัญ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ศูนย์ปฏิบัติการทางอวกาศ กองทัพอากาศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน) บริษัท เอสบีวัน แอนด์ ซีนโบ อินโนเวชั่น 99 จำกัด เป็นการเริ่มต้นการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ของศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีการบินและอวกาศ โรงเรียนอัสสัมชัญ
ภราดา ดร.อาวุธ ศิลาเกษ ผู้อำนวยการโรงเรียนอัสสัมชัญ กล่าวถึงแนวทางในการสนับสนุนในการจัดค่าย AC x FSG Aerospace Camp ในครั้งนี้ว่า “ทางโรงเรียนอัสสัมชัญ ได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดค่าย การประสานงาน หน่วยราชการ รวมถึงวิทยากรภายนอก ที่จะมาให้ความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องเทคโนโลยีการบินและอวกาศ เพื่อให้การดำเนินงานในการจัดค่ายได้บรรลุตามเป้าหมาย โดยแนวทางการต่อยอดของนักเรียนที่ผ่านค่ายนี้ จะได้รับ คือ เพิ่มเติมองค์ความรู้ด้านการบินและอวกาศอย่างต่อเนื่อง และพร้อมส่งเสริมในด้านทักษะและความรู้ให้ได้มาตรฐานระดับประเทศและนานาชาติ และยินดีส่งเสริมสนับสนุนให้แต่ละโรงเรียนให้มีโอกาสได้เข้าร่วมการแข่งขันในระดับประเทศและระดับนานาชาติ
หลังจากนี้ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศ ของโรงเรียนอัสสัมชัญ จะมุ่งไปสู่ การเป็น Learning Hubของเยาวชนไทย โดยจะจัดระบบนิเวศทางด้านเทคโนโลยีการบินและอวกาศ เพื่อศึกษา ค้นคว้า วิจัย และต่อยอด ให้มีความเจริญรุดหน้า เพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีการบินและอวกาศ โรงเรียนอัสสัมชัญ เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเยาวชนไทย และ เพื่อประเทศไทยได้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาเทคโนโลยีการบินและอวกาศ อีกทั้งมีการระดมทุนวิจัย เพื่อการวิจัยนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องอีกด้วย”
นายปร์วีร์ทับดวง ม.5 ตัวแทนจากทีมเซนต์คาเบรียลเอ็มไพร์(Saint Gabriel Empire) โรงเรียนเซนต์คาเบรียล กล่าวว่า “หลังจากที่ได้เข้าค่ายนี้ ผมได้ความรู้ในเรื่องของการออกแบบ การแก้ปัญหาทางวิศวกรรม เนื่องจากการออกแบบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบวงจรไฟฟ้า การออกแบบโครงสร้างของดาวเทียม และการคำนึงถึงสภาพบรรยากาศที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 30 กิโลเมตร และสามารถนำทักษะนี้มาพัฒนาในการออกแบบทางวิศวกรรมในอนาคตข้างหน้าได้ อีกทั้งค่ายนี้ ได้สอนให้ผู้เข้าร่วมพัฒนาทักษะในด้านเมคคาทรอนิกส์ อิเล็กทรอนิกส์ และโปรแกรม ใครที่มุ่งหวังคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในด้านของเมคคาทรอนิกส์ อิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ ก็สามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดทำเป็นโปรเจคที่ตัวเองต้องการได้”
ความเห็น 0