โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

นายกฯเล็งกู้เพิ่ม-หาเงินทำ ‘คนละครึ่ง’ เฟส 5-มติ ครม.จัดงบฯ 2,054 ล้าน ให้ 4 มหาวิทยาลัย ฟื้นฟู ศก.ฐานราก

ไทยพับลิก้า

อัพเดต 22 เม.ย. 2565 เวลา 13.12 น. • เผยแพร่ 19 เม.ย. 2565 เวลา 19.48 น.
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

นายกฯหารือกู้เพิ่ม-เตรียมแหล่งเงินจัด ‘คนละครึ่ง’ เฟส 5 ยอมรับใช้งบฯเยอะ-แจง ‘แรมโบ้’ ลาออก-ไม่อยากให้นายกฯ เสียหาย-มติ ครม.จัดงบฯ 2,054 ล้าน ให้ 4 มหาวิทยาลัย ฟื้นฟู ศก.ฐานราก-ปรับลดค่าไฟบ้าน-กิจการขนาดเล็ก ช่วยค่าน้ำมันวินมอเตอร์ไซด์-จับทุจริต ‘เราเที่ยวด้วยกัน-คนละครึ่ง-เราชนะ’ 435 คดี

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว รวมทั้งมอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการและตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรี

ขอบคุณ จนท.ดูแลความปลอดภัยช่วงวันหยุดสงกรานต์

พลเอกประยุทธ์ กล่าวขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคนที่ช่วยดูแลความปลอดภัยในช่วงวันหยุดสงกรานต์ โดยรัฐบาลเห็นว่าสงกรานต์ปี 2565 เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นใหม่ในการขับเคลื่อนประเทศ และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ไม่ว่าเรื่องการท่องเที่ยว การลงทุน การส่งออก รวมถึงการสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและผู้สูงอายุ และใช้งบประมาณทั้งหมดดูแลคนทุกช่วงวัยตั้งแต่อยู่ในครรภ์ถึงผู้สูงอายุ

มอบหลักการ ครม. “อยู่รอด-ปลอดภัย-พอเพียง-ยั่งยืน”

อย่างไรก็ตาม พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า มาตรการการช่วยเหลือต่างๆ มีข้อจำกัดด้าน ‘งบประมาณ’ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยปีงบประมาณนี้ใช้เงินประมาณ 8 แสนล้าน การเพิ่มเงินต้องดูงบประมาณที่ประเทศไทยจะหาได้ในอนาคต

“ในการใช้จ่ายงบประมาณปี 2565 และการจัดทำงบประมาณปี 2566 ผมให้หลักการว่าเราจะทำอย่างไรที่จะนำพาประเทศผ่านปัญหาอุปสรรคและวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น โดยผมใช้หลักการ “อยู่รอด ปลอดภัย พอเพียง และยั่งยืน” นี่คือหลักการของผมที่ได้สั่งการมอบหมายให้ครม.วันนี้ด้วยว่าต้องระมัดระวังอย่างที่สุด ขณะที่รายได้เราก็ลดลง แม้ส่งออกเราจะดีขึ้น” พลเอกประยุทธ์กล่าว

ย้ำฐานะการคลังไม่มีปัญหา วอน ปชช.ใช้จ่ายเงินพอเพียง

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ชี้แจงว่าประเทศไทยยังมีเสถียรภาพที่เข้มแข็งเพียงพอ เพียงแต่งบประมาณที่ใช้อาจต้องลดลงบ้าง แต่ต่อจากนี้ต้องหามาตรการดูแลผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ เพราะเป็นแหล่งจ้างงาน

“ขอให้ฟังรัฐบาลบ้าง กนง.ชี้แจงหลังมีข่าวว่ารัฐบาลมีปัญหาการเงินการคลัง หรือ ไม่มีเสถียรภาพ จริงๆ แล้วเขาชี้แจงทั้งหมดแล้วว่าไม่เป็นปัญหาอย่างไร แล้วมาตรการรัฐบาลเตรียมการยังไง บางทีไปตัดตอนออกไป ตอนแก้ปัญหาไม่พูด ไปพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ไม่ดี เพียงแต่บอกว่าขอให้เข้าใจซึ่งกันและกัน ผมห่วงใยประชาชนทุกคน ทุกระดับ” พลเอกประยุทธ์กล่าว

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ตนเป็นห่วงเรื่องการใช้จ่ายเงิน เนื่องจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและพลังงานสูงขึ้น ทำให้รายได้ไม่เพียงพอ ดังนั้นประเทศไทยต้องหาแหล่งรายได้เพิ่มเติม

“การใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเกือบถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของชีวิต มันต้องอยู่ที่พฤติกรรมด้วย เรามีเงินน้อยต้องเลือกใช้ เลือกกินให้เหมาะสมกับสถานะของเรา ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไม่สนใจความเหลื่อมล้ำ แต่เราพยายามยกระดับไป แต่มันมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมาอีก” พลเอกประยุทธ์กล่าว

เคาะมาตรการลดค่าครองชีพ ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ขนส่ง

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ในการประชุมครม.วันนี้ ได้มีมติที่สำคัญ เช่น มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น ลดค่าครองชีพโดยเฉพาะผู้ประกอบการและภาคขนส่ง ฯลฯ และที่ผ่านมาได้มีการสั่งการให้จ่ายเงินเข้าบัญชีโดยตรง เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพกลุ่มเปราะบาง 3 กลุ่ม ได้แก่ เบี้ยผู้สูงอายุ เงินอุดหนุนเด็กและเบี้ยผู้พิการ

“เราจะต้องสร้างความมั่นคงในชีวิตพี่น้องประชาชนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รัฐบาลทำทั้งเรื่องบ้านเช่าอะไรต่างๆ บ้านริมคลอง ก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เราใช้งบประมาณมากพอสมควร” พลเอกประยุทธ์กล่าว

มอบ พณ.- กต. เร่งเจรจาการค้าต่างประเทศ

นอกจากนี้พลเอกประยุทธ์ ยังได้เร่งรัดให้มีการเจรจาทางการค้ากับหลายประเทศ โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่าจากข้อมูลที่ผู้นำระดับสูงหรือเอกอัครราชทูตแสดงถึงความสนใจในประเทศไทย เพราะเห็นว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพ ทรัพยากรและความพร้อมหลายอย่าง หรือที่เรียกว่า “Soft Power”

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า วันนี้การเจรจาต่างประเทศต้องพิจารณาดูทั้งสองฝ่าย โดยวันนี้ได้เร่งรัดการพิจารณาทำ MOU และ FTA เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าการลงทุน และตลาดธุรกิจ โดยมีการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้ากับเวียดนาม และมีการเจรจาการบินกับมองโกเลีย

“วันนี้ไทยเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางไปยังภูมิภาคอื่น เป็นผลดีกับการบินของเรา เรื่องการบินไทยด้วย อะไรด้วย เพราะวันนี้ก็มีปัญหาเขตห้ามบินเยอะ” พลเอกประยุทธ์กล่าว

กระตุ้นการใช้จ่ายเงินใน ปท. ดันธุรกิจเดินหน้าต่อ

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เมื่อดูจากสถิติผู้ติดเชื้อชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศถือว่าน้อยลง ส่วนผู้ติดเชื้อในประเทศอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ทั้งนี้ รัฐบาลพยายามทำให้เกิดการใช้จ่ายเงินหมุนเวียนในประเทศ เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้

“วันนี้เราต้องดูว่าปัญหาอยู่ที่ไหน และต้องพุ่งเป้าไปจุดนั้น ไม่ใช่ดูแค่แก้ปัญหาจุดนั้นจุดเดียว เพราะฉะนั้นแก้ปัญหาจุดนี้ มันต้องมีผลทางอ้อมไปอันหนึ่งด้วย ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้น บางทีเราจ่ายเงินดูแลกลุ่มเปราะบางไป บางทีมันเป็นการจ่ายผ่านไปเฉยๆ มันต้องดูทั้งสองทาง เพื่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นในห่วงโซ่ของเขา” พลเอกประยุทธ์กล่าว

หารือกู้เงินเพิ่ม

ถามว่าตอนนี้รัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องกู้เงินเพิ่มเติม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหรือไม่ พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า ก็หารือกันอยู่ หากถ้าจำเป็นก็ให้เตรียมมาตรการไว้แล้วกัน ก็อย่างที่ตนบอกแล้วว่า การจะทำให้อยู่รอด ปลอดภัย เพียงพอ ยั่งยืน แต่จะต้องใช้เงินอย่างไร และมีเงินอยู่เท่าไหร่ จำเป็นต้องหาเงินเพิ่มไหม ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนหารืออยู่ ตรงนี้ก็อย่าให้เป็นประเด็นก็แล้วกัน ถ้าเราไม่ต้องดูแลในช่วงโควิด ไม่เกิดปัญหาตรงนี้ ตนเชื่อว่าประเทศไทยจะดีกว่านี้ สถานการณ์ภายนอกมันบังคับไม่ได้ มันอยู่นอกการควบคุมของเรา เราก็ต้องบริหารให้ดีที่สุด”

เตรียมแหล่งเงินจัด ‘คนละครึ่ง’ เฟส 5

ถามว่ารัฐบาลมีการพิจารณาโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 ด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ให้แนวทางไปแล้ว ก็ใช้เงินเยอะพอสมควร แต่ถ้าพูดถึงผลดีก็มีเยอะ เพราะจะทำให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนอีกหลายเท่า แต่ปัญหาอยู่ที่จะเอางบ ฯมาจากไหน ก็ต้องหาวิธีการ แต่ถ้าหากว่าทำทุกอย่างแล้วเอามาโจมตีกันหมด กลับไปกลับมา รัฐบาลก็ทำงานลำบาก บางอย่างก็ต้องเข้าใจกันบ้างถึงเหตุผลและความจำเป็น เพราะวันนี้เงินทุกเราก็ใช้จ่ายอย่างประหยัดเท่าที่มีงบประมาณอยู่”

“ส่วนของงบฯเงินกู้ ก็ใช้ไปมากแล้ว ในช่วงที่เราเผชิญกับปัญหาโควิดฯช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และยังมีความเสี่ยงหลายอย่างอยู่หลายด้านด้วยกัน และยังมาเจอสงครามอีก คือทุกรัฐบาลไม่เคยเจอสถานการณ์นี้มาก่อน ตนคิดว่าทุกคนช่วยกันอย่างเต็มที่แล้ว ก็ขอความร่วมมือประชาชนให้เข้าใจเท่านั้นเอง ถ้ามัวแต่โจมตีกันไปมา จะทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง เพราะเราต้องฟังเสียงประชาชนด้วย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

แจง ‘แรมโบ้’ ลาออก-ไม่อยากให้นายกฯเสีย

ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้ากรณีนายเสกสกล อัตถาวงศ์ หรือ “แรมโบ้” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลาออกจากทุกตำแหน่งในทำเนียบรัฐบาล หลังจากเข้าไปแก้ปัญหาสลากราคาแพง โดยพลเอกประยุทธ์ ตอบว่า

“ผมไม่ได้บังคับอะไรเขา เขารู้ว่ามีปัญหา ไม่อยากให้นายก ฯ เดือดร้อน ก็มาขอลาออกเอง เพื่อไปแก้ไขปัญหาของเขา คณะกรรมการอะไรของเขา เขายืนยันว่าจะทำอย่างเต็มที่ ก็ไม่อยากให้นายกฯ เสียหาย”

พบต้นตอปัญหาขายสลากเกินราคาแล้ว

นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ กล่าวอีกว่า “คณะกรรมการไม่ใช่แรมโบ้มาทำคนเดียว เขาเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการ และหัวหน้าเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ แต่ไม่ได้ทำงานในฝ่ายการเมืองอย่างเดียว เขาทำงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองสลากฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปหาต้นตอว่าแพงตรงไหน ก็พบปัญหาแล้วมีหลายประเด็น เช่น โควตาลอตเตอรี่ที่แจกไปยังผู้ประกอบการรายย่อยประมาณ 69 ล้านฉบับ และสมาคมต่างๆ อีก 31 ล้านฉบับ รวมทั้งสิ้น 100 ล้านฉบับ หรือ การตรวจสอบข้อเท็จจริงกับผู้ค้าสลากรายย่อยที่ขึ้นทะเบียนแล้วว่าเป็นผู้ค้าตัวจริง หรือ ไม่ ส่งมาจังหวัดไหน ทำไมต้องไปรับจังหวัดที่สลากอื่น มีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะ”

เตรียมกล่าวเปิดเวทีเสวนารัฐบาล-เปิดรับฟังความเห็น ปชช.

พลเอกประยุทธ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงความคืบหน้าการเปิดเวทีเสวนาของรัฐบาล เพื่อฟังเสียงสะท้อนของประชาชนว่า ตนอยากจะคุยกับประชาชนในนามของรัฐบาล เนื่องจากหลายฝ่ายรวมถึงภาคเอกชนอยากทราบข้อเท็จจริง และอยากสอบถามเรื่องต่างๆ รัฐบาลจึงเปิดเวทีและจัดคนไปชี้แจงและรับฟังปัญหา หาวิธีการแก้ไขและดำเนินการ โดยจะจัดที่สถานที่ภายนอกไม่ใช่สถานที่ราชการ เป็นพื้นที่เปิดเหมือนเวทีเสวนาทั่วไป

“ผมจะไปกล่าวเปิดงาน บทนำต่างๆ ให้ครบถ้วน จากนั้นก็เป็นเรื่องคณะทำงานที่จะไปเสวนาโต้ตอบกัน ผมทราบทุกวัน ถึงอยู่ไม่อยู่ ผมก็ทราบเพราะว่ารายงานทุกวันตลอดเวลา และผมสามารถดูการถ่ายทอดแต่ละเวทีได้” พลเอกประยุทธ์กล่าว

ดันกฎหมายกว่า 20 ฉบับ เข้าที่ประชุมสภาฯ พ.ค.นี้

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการเปิดประชุมสภาในเดือนพฤษภาคม 2565 มีวาระประเด็นทางกฎหมายที่รัฐบาลเร่งขับเคลื่อน โดยปัจจุบันมีกฎหมายเข้าไปแล้ว แต่ยังค้างอยู่กว่า 20 ฉบับ แต่รัฐบาลนี้ส่งกฎหมายเข้าไปในสภาแล้วกว่า 100 ฉบับ และวันนี้ได้เร่งรัดทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

พลเอกประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการทำงานร่วมกับฝ่ายนิติบัญญัติว่า “ไม่มีอะไร ผมคิดว่าเป็นเรื่องของบุคคลอะไรก็ว่าไป แต่ผมคิดว่าทุกคนรักประเทศ นี่คือประเทศของเรา เกิดมาที่นี่หากินที่นี่ เจริญเติบโตที่นี่ ถ้าเราไม่ช่วยกันรักษาประเทศชาติ มันจะไปกันได้ยังไง อยู่ได้ยังไง”

“ถ้าความขัดแย้งสูงขึ้นๆ วันหน้าจะอยู่ยังไง ประคับประคองแบบนี้ได้หรือไม่ ผมก็เป็นห่วงถ้ามันขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ไม่เหมาะสม ไม่ใช่เวลานี้ด้วย เวลาต่อไปก็ไม่ควร อนาคตเราต้องอยู่ด้วยความรัก ความสามัคคีความเข้าใจ หนักนิดเบาหน่อยก็ให้อภัยกัน ช่วยกันแก้ปัญหาเท่านั้นเอง ผมไม่ใช่ศัตรูคู่แค้นกับใครทั้งสิ้น” พลเอกประยุทธ์กล่าว

สั่งทุกกระทรวงสำรวจ-ขับเคลื่อน ‘soft power’

ด้านดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีว่า วันนี้ก่อนเริ่มการประชุมครม. นายกฯ ชมนิทรรศการ “ใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ภายใต้หัวข้อพระบารมีปกเกล้าทั่วหล้าปวงประชา จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม และกล่าวต่อว่า วัฒนธรรมไทยเป็น soft power อย่างหนึ่งที่โดดเด่น นายกฯ สั่งการทุกกระทรวงให้สำรวจและขับเคลื่อน soft power ไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจและเชื่อมโยงวัฒนธรรมไทยสู่สากล

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกฯ เร่งแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ โดยเน้นหลักการ “อยู่รอด ปลอดภัย พอเพียง และยั่งยืน” เพื่อเดินหน้าสู่อนาคตท่ามกลางอุปสรรคที่เกิดขึ้นทั่วโลก

มติ ครม.มีดังนี้

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและ ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกฯ(ซ้าย-ขวา) ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและ ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกฯ(ซ้าย-ขวา) ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

จัดงบฯ 2,054 ล้าน ให้ 4 มหาวิทยาลัย ฟื้นฟู ศก.ฐานราก

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณ 2,054.054 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตร ที่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 โดยให้การสนับสนุนโครงการของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ประกอบด้วย 5 โครงการย่อย ได้แก่

1) โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน โดยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนจำนวน 3,500 กลุ่ม

2) โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน โดยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 1,200 กลุ่ม

3) โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านเกษตรกรรมและสมุนไพร สร้างความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพสู่ชุมชน เพื่อเพิ่มมูลค่าเสริมสร้างความเข้มแข็ง ของเศรษฐกิจฐานรากในภาวะวิกฤตโควิด-19 กลุ่มเป้าหมายได้แก่ เกษตรกร ชุมชน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 3,700 กลุ่ม

4) โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้แก่เกษตรกรไทยฝ่าวิกฤติโควิด 19 ด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรม เกษตรสมัยใหม่ (Modern Agriculture -BCG) โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ หมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น จำนวน 5,001 กลุ่ม

5) โครงการวิจัยและพัฒนาการสร้างอาชีพ สร้างรายได้เพื่อฟื้นฟู เศรษฐกิจฐานราก จากผลกระทบการระบาดของโรคโควิด-19 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน อสม. กลุ่มสหกรณ์การเกษตร และกลุ่ม OTOP ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ จำนวน จำนวน 3,300 กลุ่ม

อนุมัติงบฯ 159 ล้าน เยียวยาชาวไร่ยาสูบถูกตัดโควตา

ดร.ธนกร กล่าวว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติงบกลาง 159.69 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในโครงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นยาสูบและผู้บ่มอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการลดปริมาณการรับซื้อใบยาสูบของการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ฤดูกาลผลิต 2562 / 2563 ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ ยสท. และกรมสรรพสามิต รวมจำนวน 14,292 ราย แบ่งออกเป็น 3 ประเภทใบยา ดังนี้

1. ใบยาเวอร์ยิเนีย ประกอบด้วย ชาวไร่ 2,378 ราย ผู้บ่มอิสระ 54 ราย ชาวไร่ใบยาสด 1,807 ราย
2. ใบยาเบอร์เลย์ ชาวไร่ 6,562 ราย
3. ใบยาเตอร์กิช ชาวไร่ 3491 ราย

ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความช่วยเหลือโดยจ่ายเงินช่วยเหลือให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นยาสูบและผู้บ่มอิสระในอัตราร้อยละ 70 ของรายได้ที่หายไป โดยคำนวณเงินช่วยเหลือจากปริมาณโคต้าการผลิตใบยาที่ลดลงในฤดูกาลผลิต 2562 / 2563 เปรียบเทียบกับปริมาณโควตาที่ได้รับในฤดูกาลผลิต 2560 / 2561 คูณด้วยร้อยละ 70 ของรายได้ที่หายไป โดยเกษตรกรผู้ปลูกต้นยาสูบจะได้รับเงินช่วยเหลือตามปริมาณการรับซื้อใบยาสูบที่ลดลงจริงในแต่ละประเภทใบยา และปัจจุบันในพื้นที่ดังกล่าวต้องไม่มีการปลูกยาสูบทดแทนด้วย โดย จะมีคณะกรรมการ ฯ ตรวจสอบ รวบรวมข้อมูล ส่งให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝาก ธ.ก.ส. ของเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบที่ได้รับสิทธิ์ภายใต้โครงการดังกล่าว โดยมีระยะเวลาดำเนินการ ภายใน 150 วัน นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ

ปรับลดค่าไฟบ้าน-กิจการขนาดเล็ก ช่วยค่าน้ำมันวินมอเตอร์ไซด์

ดร.ธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการปรับปรุงรายละเอียดในมาตรการเร่งด่วน เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงาน อันเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรป ดังนี้

1. การปรับปรุงถ้อยคำมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยการให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า FT) ให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน จากเดิมที่ให้ส่วนลดแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ปรับเป็นโดยให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและประเภทกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ที่มียอดการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน เป็นระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 ซึ่งจะทำให้มาตรการมีความชัดเจนและเป็นการช่วยเหลือแบบมุ่งเป้า

2. มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบอาชีพในภาคขนส่ง โดยให้ส่วนลดราคาน้ำมัน “กลุ่มเบนซิน” จากเดิมที่ให้ส่วนลดราคา “น้ำมันแก๊สโซฮอล์” แก่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ (รถมอเตอร์ไซต์รับจ้าง) ที่มีใบอนุญาตที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก จำนวน 106,655 คน (จากการตรวจสอบข้อมูลกับกรมการขนส่ง ณ วันที่ 22 มีนาคม 65) ในรูปแบบรัฐร่วมจ่ายร้อยละ 50 ไม่เกิน 50 บาท/คน/วัน และไม่เกิน 250 บาท /คน/เดือน ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2565 พร้อมทั้งให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะที่ได้รับเงินจากโครงการบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน โดยภาครัฐจะมีภาระค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 79.992 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ขอบเขตการช่วยเหลือค่าน้ำมันครอบคลุมทั้งน้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮออล์ และสามารถให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายได้อย่างคล่องตัวด้วย โดยผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ สามารถกดยืนยันสิทธิ์และเงื่อนไขผ่านแอปพลิเคชัน และจ่ายเงินโดยสแกน QR Code ณ สถานีบริการน้ำมัน ที่เข้าร่วมโครงการ สำหรับสถานีบริการน้ำมันสามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการผ่าน แอปพลิเคชันฝั่งผู้ขาย เพื่อสร้าง QR Code เพื่อรับชำระเงินจากผู้ใช้สิทธิ์ด้วย

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมุ่งลดภาระค่าครองชีพของประชาชน จากการปรับขึ้นค่าโดยสารรถจักรยานยนต์สาธารณะ และลดค่าใช้จ่ายโดยการให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า FT) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและประเภทกิจการขนาดเล็ก ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน

จับทุจริต ‘เราเที่ยวด้วยกัน-คนละครึ่ง-เราชนะ’ 435 คดี

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินคดีอาญากับผู้ทุจริตโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง และโครงการเราชนะ ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ ซึ่งเป็นการรายงานการดำเนินคดีอาญาระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2564 – 1 มกราคม 2565 มีคดีรวมทั้งสิ้น 435 คดี แบ่งเป็นโครงการเราเที่ยวด้วยกัน 323 คดี โครงการคนละครึ่ง 110 คดี และโครงการเราชนะ 2 คดี ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินคดี มีคดีที่อยู่ระหว่างการสอบสวน 363 คดี สอบสวนเสร็จส่งพนักงานอัยการแล้ว 37 คดี และอื่นๆ 35 คดี เช่น ชดใช้ค่าเสียหายก่อนร้องทุกข์ และถอนคำร้องทุกข์ สำหรับข้อหาของผู้ทุจริตโครงการรัฐส่วนใหญ่เกี่ยวกับร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ฉ้อโกง ฉ้อโกงประชาชน ฉ้อโกงและนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

เพิ่มทุนทรัพย์เป็น 2 ล้าน ช่วย ปชช.สู่กระบวนไกล่เกลี่ย

ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดทุนทรัพย์การไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งอื่น พ.ศ. …. ซึ่งเป็นการแก้กฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ย และประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ. 2553 โดยเพิ่มจำนวนทุนทรัพย์ของการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งอื่น ที่ไม่ใช่ข้อพิพาททางแพ่งเกี่ยวกับที่ดินและมรดก จากเดิมที่กำหนดทุนทรัพย์ไว้ไม่เกิน 2 แสนบาท เพิ่มเป็น 2 ล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมามีประชาชนที่เกิดข้อพิพาททางแพ่งอื่นมีทุนทรัพย์มากกว่า 200,000 บาท ยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องแก้กฎกระทรวงดังกล่าวเพื่อให้การไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งอื่นมีความเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

เห็นชอบท่าทีไทยต่อการประชุม JTC ไทย-เวียดนาม

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบท่าทีไทยในการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ไทย – เวียดนาม ครั้งที่ 4 โดยไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระหว่างวันที่ 19-20 เมษายน 2565 ณ กรุงเทพมหานคร ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อให้คณะผู้แทนไทยใช้ท่าทีเป็นกรอบในการหารือกับฝ่ายเวียดนาม ซึ่งการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย – เวียดนาม เป็นเวทีการประชุมหารือระดับรัฐมนตรีการค้าเพื่อกำหนดทิศทางการปฏิสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทย – เวียดนาม รวมถึงการดำเนินความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกัน สำหรับการประชุม JTC ไทย – เวียดนาม ครั้งที่ 4 นี้ ไทยมีท่าทีในประเด็นสำคัญ อาทิ

1.การเพิ่มเป้าหมายการค้า โดยตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกันให้บรรลุ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 ซึ่งเป็นประเด็นที่เวียดนามให้ความสำคัญ เนื่องจากเวียดนามต้องการให้ไทยช่วยลดการขาดดุลทางการค้าของเวียดนามลง

2.การอำนวยความสะดวกและขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน อาทิ (1)มาตรการนำเข้าสินค้ายาของเวียดนามที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทย เช่น ยาที่จะนำเข้าต้องแสดงเอกสารรายละเอียดส่วนประกอบยาที่มากเกินความจำเป็น (2)การอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าบริเวณด่านชายแดนไปยังประเทศที่ 3 ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ เนื่องจากการส่งสินค้าผลไม้ไปจีนมักพบปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณด่านชายแดนเวียดนาม – จีน

3.อำนวยความสะดวกในการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตร รวมถึงการพัฒนาสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพร่วมกัน

4.เสริมสร้างความร่วมมือในมาตรการเยียวยาทางการค้าบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน

5.จัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างไทยและเวียดนามทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์

6.พัฒนาความเชื่อมโยงของการขนส่งระหว่างสองประเทศและภายในอนุภูมิภาค ทั้งทางบกและทางทะเล

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความร่วมมือด้านอื่นๆ ที่จะผลักดัน อาทิ 1)ส่งเสริมการลงทุนในสาขาที่มีศักยภาพและเป็นประโยชน์ร่วมกัน 2)ส่งเสริมความร่วมมือเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุน และการบูรณาการทางการเงิน 3)ขยายความร่วมมือด้านพลังงาน โดยเฉพาะโอกาสการลงทุนของไทยในด้านพลังงานสะอาดในเวียดนาม 4)ขยายความร่วมมือด้านแรงงานและติดตามความคืบหน้าการทำบันทึกข้อตกลงด้านการจ้างแรงงานฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 5)ส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)

นางสาวรัชดากล่าวด้วยว่า ปัจจุบันเวียดนามเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 5 ของไทยในโลก และเป็นอันดับที่ 2 ของไทยในอาเซียน รองจากมาเลเซีย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2560 – 2564) การค้าระหว่างไทยกับเวียดนามมีมูลค่าเฉลี่ยประมาณปีละ 17,767 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.32 ต่อปี โดยในปี 2564 มีมูลค่าการค้าไทย – เวียดนามรวม 19,477 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 17.31 ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามูลค่า 5,599 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายกฯตอบรับเข้าประชุมผู้นำน้ำ-ขับเคลื่อน ‘ปฏิญญาคุมาโมโตะ’

ดร.รัชดา กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีตอบรับเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อ “Water for Sustainable Development – Best Practices and the Next Generation” ระหว่างวันที่ 23-24 เมษายน 2565 ณ เมืองคุมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น ผ่านระบบวีดีทัศน์แบบถ่ายทอดสด ตามคำเชิญของนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งวันนี้ ครม.เห็นชอบร่างปฏิญญาคุมาโมโตะ (Kumamoto Declaration) สำหรับการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ครั้งที่ 4 (4th Asia – Pacific Water Summit : 4th APWS) ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอ สำหรับสาระสำคัญของร่างปฏิญญาประกอบด้วย 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

1.ความท้าทายและการฟื้นฟูจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการภัยพิบัติและการจัดหาน้ำ รวมทั้งการเข้าถึงน้ำที่สะอาด ปลอดภัย ประกอบกับอุทกภัยและภัยแล้งที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก โดยภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำจะมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าว

2.เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำ โดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เปิดกว้างและโปร่งใส ส่งเสริมการใช้พลังงานน้ำควบคู่กับการลดการเกิดภัยพิบัติ

3.การเร่งรัดการปฏิบัติ อาทิ

1) การส่งเสริมความร่วมมือขององค์กรด้านน้ำและภาคประชาสังคม
2) การลงทุนด้านน้ำโดยรัฐบาล องค์กรนานาชาติ สถาบันการเงิน เอกชน และชุมชนท้องถิ่น
3) การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก้ปัญหาด้านน้ำ

4.ผลลัพธ์การประชุมในครั้งนี้ จะนำไปหารือในเวทีด้านน้ำระดับโลก อาทิ การประชุมทบทวนการดำเนินการด้านน้ำในห้วงครึ่งแรกของทศวรรษฯ (Midterm Review of the Water Action Decade) ของสหประชาชาติ ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนมีนาคม 2566 การประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมือง (High – level Political Forum) การประชุมเวทีระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Global Platform for Disaster Risk Reduction) การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (UN Climate Change Conference) การประชุมสุดยอดผู้นำจี 7 (G7 Summit) และการประชุมสุดยอดผู้นำจี 20 (G20 Summit)

แต่งตั้ง 2 ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน

ดร.รัชดา กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานของรัฐมีรายละเอียดดังนี้

การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงแรงงาน)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงแรงงาน ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

1. นายสมชาย มรกตศรีวรรณ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
2. นางต้องใจ สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 19 เมษายน 2565 เพิ่มเติม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0