โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

จุดพลุ! “คลัง” เล็ง ขยับวงเงินบ้านเกิน 3 ล้าน ร่วมมาตรการลดค่าโอน - จดจำนอง

Media Tank

เผยแพร่ 28 มี.ค. เวลา 12.49 น. • THE TANK
จุดพลุ! “คลัง” เล็ง ขยับวงเงินบ้านเกิน 3 ล้าน ร่วมมาตรการลดค่าโอน - จดจำนอง
จุดพลุ! “คลัง” เล็ง ขยับวงเงินบ้านเกิน 3 ล้าน ร่วมมาตรการลดค่าโอน - จดจำนอง

จุดพลุ!“คลัง” เล็งขยับวงเงินบ้านร่วมมาตรการลดค่าโอน-จดจำนอง พร้อมปรับเกณฑ์บ้านล้านหลัง ดันเพิ่มเป็น 2 ล้านบาท หลังประเมินที่อยู่อาศัย 1.5 ล้านบาท หายาก กระทุ้งท้องถิ่นเข้มภาษีที่ดิน หวั่นเจอเจ้าของที่หัวหมอแจ้งเท็จใช้เพื่อ เกษตรกรรม-สาธารณประโยชน์ ยันยังไม่มีปรับเพิ่มอัตรา ชี้ปัจจุบันต่ำแล้ว

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษสัมมนาประจำปี 2567 สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย ว่า “รัฐบาลมีมาตรการเพื่อสนับสนุนการมีที่อยู่อาศัยมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีผลกระทบโดยตรงกับประชาชน ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย โดยในปี 2565 ภาคอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าถึง 10% ของจีดีพีของไทย”

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ สามารถแบ่งมาตรการได้เป็น 2 ส่วน คือ มาตรการด้านภาษี อาทิ การให้หักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นดอกเบี้ยกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัยตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท และมาตรการลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย ปี 2567 โดยลดค่าจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% ค่าโอนจาก 2% เหลือ 1% สำหรับบ้านหลังละไม่เกิน 3 ล้านบาท จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2567

อย่างไรก็ดี ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างทบทวนข้อเสนอของภาคเอกชน ที่ขอให้มีการปรับเพิ่มวงเงินสำหรับที่อยู่อาศัยที่เข้าร่วมมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาบ้านที่ครอบคลุมกว่า 70% ของบัญชีสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ทั้งระบบแล้ว

“ตอนนี้ได้ให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พิจารณาอยู่ เช่น ถ้าบ้านที่เกิน 3 ล้านบาท จะให้หักในส่วนของ 3 ล้านบาทเพื่อรับสิทธิตามมาตรการได้ไหม ยอมรับว่าที่ผ่านมาภาคเอกชนก็ขอเรื่องนี้เข้ามาค่อนข้างมาก ก็พยายามพิจารณาให้อย่างเต็มที่” นายกฤษฎา กล่าว

นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการทางการเงิน อาทิ โครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐ หรือโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 3 วงเงินโครงการ 20,000 ล้านบาท ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ซึ่งเน้นไปที่อสังหาริมทรัพย์ที่ราคาไม่สูงมาก โดยกำหนดวงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 1.5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยกระทรวงการคลังก็อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะปรับเพิ่มวงเงินสินเชื่อต่อรายเป็น 2 ล้านบาท เนื่องจากมองว่าวงเงินเดิมยังน้อยไป และปัจจุบันที่อยู่อาศัยราคา 1.5 ล้านบาท ก็ค่อนข้างหายาก ซึ่งในส่วนนี้กระทรวงการคลังไม่มีปัญหาอะไร เพราะเป็นเรื่องของวงเงินสินเชื่อ

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

อย่างไรก็ดี ในส่วนของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น ยอมรับว่ามีปัญหาค่อนข้างเยอะ ทั้งเรื่องที่สาธารณกุศลและอื่นๆ ซึ่งมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้องและชุดข้อมูลจำนวนมาก ดังนั้นขณะนี้ สศค. กำลังพิจารณาในการจัดหมวดหมู่ข้อมูลเพื่อปรับปรุงรายละเอียดของภาษีดังกล่าวให้มีความเหมาะสม โดยเฉพาะการกำหนดประเภทการใช้ที่ดินในการเรียกเก็บภาษี ซึ่งปัจจุบันคลังได้กำหนดอัตราภาษี และให้อำนาจท้องถิ่นเข้าไปตรวจสอบการใช้ที่ดินให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ เนื่องจากพบว่ามีการไม่ได้ใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรจริง เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี

“การใช้ประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดินนั้น เป็นหน้าที่ของท้องถิ่นในการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยว่า พื้นที่ดังกล่าวมีการทำประโยชน์หรือทำเกษตรกรรมจริงหรือไม่ หากไม่ได้ทำจริง หรือเป็นการปลูกพืชแบบหลอก ๆ ท้องถิ่นสามารถวินิจฉัยและรู้ได้ทันที ตรงนี้คลังได้ให้อำนาจเรียบร้อย ส่วนเรื่องอัตราภาษีคงยังไม่มีการทบทวนปรับขึ้นในขณะนี้ เพราะปัจจุบันก็ต่ำอยู่แล้ว” นายกฤษฎา กล่าว

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าปัจจุบันมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นตัวแปรที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ของประชาชนจำนวนมาก อาทิ แนวโน้มเศรษฐกิจที่ปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวเพียง 1.9% จากปีก่อนที่ 2.5% ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่สูงกว่า 90% ต่อจีดีพี หรือ 16 ล้านล้านบาท โดยจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ไตรมาส 3/2566 หนี้ครัวเรือนโตกว่า 4% ซึ่งสะท้อนภาระค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้ที่ค่อนข้างสูงถึง 25% ของรายได้ครัวเรือน และแม้ว่าสัดส่วนหนี้ที่เป็นหนี้เสียในภาคอสังหาริมทรัพย์จะยังไม่สูงมากนัก แต่จากข้อมูล ณ ปี 2565 พบว่า หนี้เสียในภาคอสังหาฯ ก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นพอสมควร ราว 7% และยังมีประเด็นที่ต้องจับตาดูเป็นพิเศษ คือ หนี้กลุ่มกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ที่อยู่ในอัตราสูง โดยเพิ่มมาที่ 31% ขณะที่สินเชื่อรหัส 21 ก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 25% เช่นกัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0