หากพูดถึงไข่ที่ยอดนิยมสำหรับผู้บริโภค หลายคนคงนึกถึงไข่ไก่ บ้างก็เลี้ยงเพื่อบริโภคไข่ บ้างก็เลี้ยงเพื่อบริโภคเนื้อ เมนูจากไข่เป็นเมนูที่สร้างสรรค์ได้หลากหลายทั้งยากง่าย และเป็นแหล่งรวมโปรตีนชั้นดีที่หาบริโภคได้ง่ายที่สุด
แต่สัตว์อีกชนิดหนึ่งที่ไม่ต่างจากไก่ไข่ สามารถให้ได้ทั้งไข่และเนื้อนั่นก็คือ เป็ด ไข่เป็ดมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยสีสันที่สดใสของไข่แดง มีรสชาติดี หอม มัน สามารถสร้างสรรค์เมนูที่หลากหลายไม่ต่างจากไข่ไก่ นอกจากนี้ ไข่เป็ดยังเป็นส่วนผสมที่ขาดไม่ได้เลยในขนมไทย และไข่เป็ดยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นไข่เค็มที่มีรสชาติดีถูกปากถูกใจผู้บริโภคอีกด้วย
เป็ดเป็นสัตว์ปีกอีกประเภทหนึ่งที่เลี้ยงดูง่าย สามารถกินอาหารตามธรรมชาติได้ และให้ผลผลิตไข่จำนวนมาก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่นิยมเลี้ยงรองมาจากไก่ โดยเฉพาะในปัจจุบันมีพันธุ์เป็ดไข่เชิงการค้าและพันธุ์ที่ได้รับการพัฒนาให้สามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยได้ดีขึ้น
คุณจิณห์จุฑา บุญมี อยู่บ้านเลขที่ 10 หมู่ที่ 15 ตำบลรางบัว อำเภอจองบึง จังหวัดราชบุรี ประกอบอาชีพรับราชการ และมีอาชีพเสริมเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดไข่ระบบอินทรีย์ โดยต่อยอดฟาร์มเป็ดไข่อินทรีย์แห่งนี้จากโรงเรือนร้างที่ในอดีตคุณพ่อคุณแม่เคยสร้างไว้
คุณจิณห์จุฑา เล่าว่า การเข้าสู่วงการเกษตรนั้น เริ่มจากที่ตนเองเป็นคนน้ำหนักเยอะ มีความต้องการลดน้ำหนัก และคุณพ่อคุณแม่มีโรคประจำตัวที่ทำให้ต้องควบคุมอาหาร สุขภาพที่ดีมักมาพร้อมกับอาหารที่ดีและปลอดภัย ไข่ถือเป็นแหล่งโปรตีนที่ดี หาง่าย กินง่าย ทำให้ใน 1 สัปดาห์ ครอบครัวของเรากินไข่ถึง 2 แผง ต้องยอมรับเลยว่าหมดเงินจากการซื้อไข่กินเยอะมาก
จึงเริ่มที่อยากจะทดลองเลี้ยงลูกเป็ดไข่ จำนวน 420 ตัว เพื่อลดต้นทุนค่าอาหารในครัวเรือน และหากเหลือกินก็ยังสามารถนำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้เสริม แต่ด้วยรูปแบบการเลี้ยงแบบอินทรีย์ทำให้ลูกเป็ดใช้ระยะเวลา 6-7 เดือน จึงจะสามารถออกไข่ได้ และในปัจจุบันมีเป็ดไข่ในฟาร์มทั้งหมด 350 ตัว เนื่องจากระหว่างการดูแลอาจมีลูกเป็ดบางตัวที่ไม่แข็งแรงและสูญเสียไป
เหตุผลที่เลือกเลี้ยงเป็ดไข่ เพราะการเลี้ยงเป็ดไข่หรือไก่ไข่มีความคล้ายคลึงกัน แต่แตกต่างกันเล็กน้อยที่เป็ดไข่ไม่จำเป็นต้องดูแลเยอะหากเทียบกับไก่ไข่ เหมาะสำหรับการทำเป็นอาชีพเสริมที่ผู้ดูแลมีเวลาจำกัด
ข้อดีของการเลี้ยงเป็ดไข่อินทรีย์
- รสชาติ กลมกล่อมอร่อย หนึบ มัน ละมุน 2. กลิ่นไม่คาว 3. ไข่ขาวนุ่ม ไม่แข็งหรือกระด้าง เทคนิคการต้มไข่เป็ดให้อร่อยคือ ต้มน้ำให้เดือด และนำไข่เป็ดลงไปในน้ำเดือด 6 นาที จากนั้นปิดแก๊ส เอาขึ้นจากน้ำ ทิ้งไว้ให้เย็น เพียงแค่นี้ก็จะได้ไข่เป็ดต้มที่พร้อมกิน ไข่แดงจะมีความมันละมุน ไข่ขาวจะเด้งนุ่ม ไม่แข็ง
โรงเรือน
เป็นโรงเรือนเก่าที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว นำกลับมาสานต่อเป็นโรงเรือนเลี้ยงเป็ดไข่ที่มีขนาดความยาว 20 เมตร x ความกว้าง 8 เมตร โรงเรือนมีความโปร่ง อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก ด้วยรูปแบบการเลี้ยงแบบอินทรีย์ และโรงเรือนมีความโปร่ง ทำให้ฟาร์มไม่มีกลิ่นเหม็นส่งกลิ่นรบกวนเพื่อนบ้านที่อยู่ละแวกใกล้เคียง
ถูกแบ่งออกเป็น 3 โซน 1. โซนเปียก สำหรับกินน้ำและอาหาร 2. โซนแห้ง กั้นห้องสำหรับออกไข่ 3. โซนแห้ง คอกสำหรับนอนและเดินเล่น โซนแห้งจะมีหลังคา กำแพง กันแดดฝนได้ เนื่องจากมีการแยกโซนออกเป็นสัดส่วนชัดเจน ทำให้ไม่ต้องทำความสะอาดมาก แต่ในส่วนของโซนเปียกสำหรับกินน้ำและอาหาร จะมีการเก็บกวาดทำความสะอาดทุกครั้งหลังให้อาหารเสร็จ
อาหาร
ส่วนผสมประกอบด้วย รำหมักยีสต์ ข้าวโพดแห้ง ปลาบ่น แหนแดง ในอัตราส่วนที่เท่าๆ กัน นำมาผสมเข้ากัน วัตถุดิบอาหารเป็ดจะซื้อกับเกษตรกรในชุมชน แต่พืชผัก ผลไม้บางชนิดก็จะเก็บจากสวนของตัวเองที่ปลูกไว้ ส่วนแหนแดงทางฟาร์มเลี้ยงแหนแดงเอง 1 ไร่ เพื่อเป็นอาหารเป็ด
ให้อาหารเป็ดกินในช่วงเช้า เวลา 05.30 น. และช่วงเย็น 17.00 น. โดยต้นทุนอาหาร 2 มื้อ สำหรับเป็ดไข่ 350 ตัว จะอยู่ที่วันละ 350 บาท เฉลี่ยค่าอาหารตัวละ 1 บาท และในน้ำสำหรับให้เป็ดกิน ทางฟาร์มจะผสมวิตามินรวมลงไปในน้ำทุกวัน เพื่อเสริมวิตามินให้กับเป็ด
โรค
มักพบเจอกับโรคขาอ่อนแรง กาฬโรค โรคอหิวาต์ สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนให้ครบ ตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด สามารถลดความเสี่ยงในโรคเหล่านี้ได้ และทำการถ่ายพยาธิให้เป็ดในฟาร์มทุกๆ 5 เดือน
คุณจิณห์จุฑา เล่าว่า การทำงานประจำที่มีเวลาเข้า-ออก แบบชัดเจนก็สามารถทำอาชีพเสริมฟาร์มเป็ดไข่ได้ โดยคุณจิณห์จุฑาจะมาเปิดเล้าโรงนอนให้เป็ดในทุกๆ เช้า เป็ดจะได้กินมื้อเช้าในช่วง 05.30 น. ระหว่างเป็ดกินอาหาร ก็จะไปเก็บไข่ในโซนวางไข่ เป็ดจะออกไข่ให้เก็บทุกวัน อัตราส่วนของไข่เป็ดที่ออกจะอยู่ที่ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ของทุกๆ วัน
ไข่ที่ถูกเก็บในทุกเช้า คุณแม่จะทำการคัดไซซ์มีทั้งหมด 4 ขนาด เล็ก กลาง ใหญ่ จัมโบ้ และแพ็กไข่ลงถุง เพื่อในเวลา 07.00 น. คุณจิณห์จุฑาจะออกจากบ้านไปทำงาน ก็จะใช้เวลาในช่วงนี้จัดส่งสินค้าให้ลูกค้า จึงไปทำงานประจำต่อได้ ในช่วงเวลา 11.00 น. คุณแม่จะพาฝูงเป็ดไปเดินเล่น เล่นน้ำ เพื่อให้เป็ดได้พักผ่อนและคุณแม่ก็ได้พักผ่อนเช่นกัน ส่วนคุณพ่อจะทำหน้าที่ตัดกระดาษรองไข่ เพื่อนำมาแพ็กส่งลูกค้าในวันถัดไป
ตลาดและราคา
ปัจจุบันทางฟาร์มทำในรูปแบบธุรกิจครอบครัว กำลังการผลิต การดูแลเป็ดไข่ในฟาร์ม เพื่อควบคุมคุณภาพ สามารถเลี้ยงได้เพียงจำนวนเท่านี้ เนื่องจากมีเวลาในการดูแลไม่มาก แต่ผลผลิตที่ได้ก็เป็นที่น่าพอใจ เพราะสามารถเก็บไข่ได้ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ทุกๆ วัน ตลาดค้าปลีกจะเป็นตลาดชุมชน และคนรู้จัก
ราคาจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ราคา ตามน้ำหนักของไข่แต่ละฟอง ไข่เป็ดน้ำหนัก 46-50 กรัม ราคา 100 บาทต่อแผง ไข่เป็ดน้ำหนัก 50-60 กรัม ราคา 120 บาทต่อแผง ไข่เป็ดน้ำหนัก 60 กรัมขึ้นไป ราคา 135 บาทต่อแผง เป็นราคาที่ทางฟาร์มกำหนดขึ้นมาเองได้ ไม่ต้องอ้างอิงราคาขายในตลาด
“ถึงแม้จะทำงานประจำก็สามารถทำอาชีพเสริมอย่างฟาร์มเป็ดไข่ได้ เพียงแค่มีความอดทน ขยัน หมั่นศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ ทั้งเรื่องการดูแล การแก้ปัญหา การลดต้นทุนค่าอาหาร และการมองหาตลาด เพราะตลาดที่หลากหลายทำให้เข้าถึงผู้บริโภคได้เพิ่มมากขึ้น และนอกจากนี้ ไข่เป็ดยังนิยมนำมาแปรรูปเป็นไข่เค็มสามารถเพิ่มมูลค่าได้อีกด้วย”
สำหรับท่านใดที่สนใจ ไข่เป็ดอินทรีย์ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณจิณห์จุฑา บุญมี อายุ 48 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 10 หมู่ที่ 15 ตำบลรางบัว อำเภอจองบึง จังหวัดราชบุรี โทรศัพท์ 084-354-6578ติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางเฟซบุ๊ก : Jinjutha Boonmee
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2566
ความเห็น 0