โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

รู้จัก “โรคติดต่อ” ทั้ง 3 ระดับ ก่อนเข้าสู่สังคมผ่อนมาตรการ

PPTV HD 36

อัพเดต 01 ต.ค. 2565 เวลา 03.44 น. • เผยแพร่ 30 ก.ย 2565 เวลา 23.00 น.
รู้จัก “โรคติดต่อ” ทั้ง 3 ระดับ ก่อนเข้าสู่สังคมผ่อนมาตรการ
หลังมีประกาศปรับโควิดจาก

นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2562 ในเมืองอู่ฮั่นของจีน จนลุกลามไปหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย กระทั่งองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ประกาศให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดเป็น การระบาดใหญ่” (Pandemic)

ผ่านมากว่า 2 ปีที่ทั่วโลกต้องรับมือกับการแพร่ระบาดดังกล่าว เรามียาและวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้ครั้งนี้ จนสถานการณ์ในปัจจุบันเริ่มพบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิตลดลง

อัปเดต! สิทธิรักษาโควิด-19 หลังเปลี่ยนผ่านโควิด 1 ต.ค.นี้

เช็กพื้นที่วางขาย “สเปรย์พ่นจมูกยับยั้งโควิด” เริ่มวันแรก 1 ต.ค.นี้

และหลายประเทศกำลังเตรียมตัวเปลี่ยนผ่านโควิด-19 สู่ “โรคประจำถิ่น” (Endemic) ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็เปิดเผยว่าจุดจบของโควิด-19 อยู่ไม่ไกลแล้ว

ขณะที่ประเทศไทยก็ปรับโควิด-19 จาก โรคติดต่ออันตราย” เป็น โรคเฝ้าระวัง” ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้

ดังนั้นแล้วเส้นทางของการเปลี่ยนผ่านจากการระบาดใหญ่ไปสู่โรคประจำถิ่นจะเป็นอย่างไร และการที่ประเทศไทยถอดโควิดออกจากบัญชีโรคติดต่ออันตรายวิถีชีวิตของคนไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร ทีมข่าวนิวมีเดียพีพีทีวีได้สรุปความหมายของคำที่ใช้อธิบายระดับโรคติดต่อ และประเภทของโรคติดต่อตามกฎหมายไทย ดังนี้

ระดับการระบาด

นับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 เข้ามา เรามักจะได้ยินคำว่า การระบาดใหญ่” หรือ โรคประจำถิ่น” อยู่ตลอดเวลา แต่ทั้งสองคำนี้ต่างจากการระบาดของโรคอื่น ๆ ที่คุ้นเคยอย่างไร ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การระบาดของโรคมีอยู่ด้วยกัน 4 ระดับ แบ่งตามการคาดการณ์จำนวนผู้ป่วย และการแพร่กระจายในเชิงภูมิศาสตร์ ดังนี้

ระดับที่ 1 โรคประจำถิ่น (Endemic) เป็นการระบาดในกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่จำกัด นักระบาดวิทยาสามารถคาดการณ์จำนวนผู้ป่วย ระยะเวลา สถานที่ และจำนวนประชากรที่จำกัดได้ เช่น มาลาเรียในแอฟริกา และไข้เลือดออกในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน ที่มักพบผู้ป่วยในช่วงฤดูฝน

ระดับที่ 2 การระบาด (Outbreak) เป็นการระบาดที่แพร่กระจายมากขึ้นในเชิงภูมิศาสตร์ หรือพบผู้ป่วยเป็นโรคที่ไม่เคยพบในพื้นที่นั้นมาก่อน เช่น อหิวาตกโรค หลังแผ่นดินไหวในเฮติปี 2553 และโรคหัดในเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนแล้วไปเที่ยวสวนสนุกในสหรัฐอเมริกาปี 2558

ระดับที่ 3 โรคระบาด (Epidemic) เป็นการระบาดที่แผ่ไปในพื้นที่ที่กว้างขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นฉับพลัน และมีจำนวนผู้ติดเชื้อเกินกว่าที่คาดการณ์ได้ เช่น ไวรัสซิกา ในบราซิลปี 2557 ซึ่งแพร่กระจายไปยังละตินอเมริกาและแคริบเบียน และอีโบล่าในแอฟริกาตะวันตกปี 2557-2559

ทั้งนี้ในทางวิชาการคำว่า“Outbreak” และ “Epidermic” มีความหมายเดียวกัน ใช้แทนกันได้ แต่คำว่า“Outbreak” จะหมายถึงการระบาดที่มีขอบเขตของพื้นที่ที่แคบกว่า

ระดับที่ 4 การระบาดใหญ่ (Pandemic) เป็นการระบาดของโรคที่แพร่กระจายไปทั่วโลก เช่น การระบาดของไข้หวัดใหญ่ (Spanish flu) เมื่อปี 2461, การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และ ล่าสุดคือการระบาดของโควิด-19 ในอย่างน้อย 122 ประเทศทั่วโลก

ทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า คำประกาศขององค์การอนามัยโลกที่ว่า โควิด-19 เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก” จึงไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงลักษณะของโรค แต่เป็นการยกระดับสถานะคำเตือนและความกังวลเกี่ยวกับการแพร่กระจายของเชื้อในเชิงภูมิศาสตร์ เพื่อให้ทั่วโลกเตรียมการรับมือกับโควิด-19 ให้ดี

อย่างไรก็ตามหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถึงขั้นสูงสุดแล้วกลายเป็นโรคประจำถิ่น ที่อาจพบเจอผู้ป่วยมากขึ้นตามฤดูกาลเหมือนอย่างโรคไข้หวัดใหญ่ที่มักพบผู้ป่วยมากขึ้นในช่วงฤดูฝน แม้แต่ละประเทศจะสามารถผ่อนคลายมาตรการทางสังคมต่าง ๆ กลับมาใช้ชีวิตปกติมากขึ้นได้ แต่ก็ยังต้องระมัดระวังตัวให้ดี ไม่ควรปล่อยให้เกิดการระบาดในวงกว้างอีก เนื่องจากธรรมชาติของไวรัสมีการกลายพันธุ์อยู่เสมอ หากเกิดการระบาดใหญ่อีกครั้ง แนวโน้มของการกลายพันธุ์ย่อมสูงขึ้นตาม ดังนั้นการฉีดวัคซีนและการป้องกันตัวเองจึงเป็นเครื่องมือสำคัญสูงสุดในการต่อสู้กับโรคร้ายนี้

โดยองค์การอนามัยโลกได้ออกนโยบาย 6 ด้านแนะนำให้รัฐบาลแต่ละประเทศนำไปดำเนินการเพื่อยุติการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อช่วยชีวิต ปกป้องระบบสาธารณสุข และหลีกเลี่ยงการหยุดชะงักทางสังคมและเศรษฐกิจเอาไว้ด้วยดังนี้

  • การตรวจโควิด-19
  • การจัดการทางคลินิก
  • บรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนโควิด-19
  • รักษามาตรการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานบริการสุขภาพ
  • การสร้างความไว้วางใจผ่านการสื่อสารความเสี่ยงและการมีส่วนร่วมของชุมชน
  • การจัดการข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19

การวิจัยพบระยะฟักตัวโรคโควิด19 อาจสั้นลงมากเมื่อโรคพัฒนาขึ้น

ประกาศชนะโควิด! ปิดศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อ ส่งสัญญาณเดินหน้าประเทศ

ประเภทของโรคติดต่อตามกฎหมายไทย

ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 โรคติดต่อ หมายถึง โรคที่เกิดจากเชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรค ซึ่งสามารถแพร่โดยทางตรงหรือทางอ้อมมาสู่คน แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

โรคติดต่ออันตราย หมายถึง โรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูงและสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีทั้งหมด 14 โรค ได้แก่ กาฬโรค ไข้ทรพิษหรือฝีดาษ ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก ไข้เวสต์ไนล์ ไข้เหลือง ไข้ลาสซา โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา โรคซาร์ส โรคเมอร์ส วะณโรคดื้อยาหลายชนิดรุนแรงมาก และโควิด-19

โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หมายถึง โรคติดต่อที่ต้องมีการติดตาม ตรวจสอบ หรือจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีทั้งหมด 57 โรค เช่น ไข้กาฬหลังแอ่น ไข้มาลาเรีย ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ ไข้หัด โรคตาแดง ไวรัสซิกา โรคเอดส์ โรคมือเท้าปาก โรคสุกใส วัณโรค โรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงโควิด-19 ด้วย

โรคระบาด หมายถึง โรคติดต่อหรือโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคแน่ชัด ซึ่งอาจแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง หรือมีภาวะของการเกิดโรคมากผิดปกติกว่าที่เคยเป็นมา ซึ่งตั้งแต่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังไม่เคยประกาศให้โรคใดเป็นโรคระบาด

ความแตกต่างของโรคติดต่อทั้ง 3 ประเภท

ความแตกต่างระหว่างโรคติดต่อทั้ง 3 ประเภท คือ การรายงานโรคและมาตรการในการป้องกันและควบคุมโรคสำหรับผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสเสี่ยง

โรคติดต่ออันตราย จะต้องรายงานโรคให้กรมควบคุมโรคทราบทันที อย่างช้าไม่เกิน 3 ชม. และผู้ติดเชื้อจะต้องถูกแยกกักตัวจนพ้นระยะแพร่เชื้อ ในขณะที่ผู้สัมผัสเสี่ยงต้องโดนกักกันไว้สังเกตอาการตามระยะการฟักตัว และ ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะมีอำนาจในการสั่งปิดสถานที่ เช่น โรงงาน สถานศึกษา สถานที่สาธารณะ ไว้เป็นการชั่วคราว และสั่งให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยหยุดการประกอบอาชีพชั่วคราวได้

โรคติดต่อเฝ้าระวัง จะต้องรายงานโรคให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทราบ โดยรายงานสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ซึ่งทุกหน่วยงานสาธารณสุขทั้งของรัฐและเอกชนมีหน้าที่รายงานสถานการณ์ของผู้ติดเชื้อสงสัยเข้ามา และไม่มีมาตรการกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงแล้ว

โรคระบาด จะต้องรายงานโรคให้ทราบภายใน 24 ชั่วโมง และผู้ติดเชื้อจะต้องถูกแยกกักตัวจนพ้นระยะแพร่เชื้อ ในขณะที่ผู้สัมผัสเสี่ยงต้องโดนกักกันไว้สังเกตอาการตามระยะการฟักตัว และผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะมีอำนาจในการสั่งปิดสถานที่ เช่น โรงงาน สถานศึกษา สถานที่สาธารณะ ไว้เป็นการชั่วคราว และสั่งให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยหยุดการประกอบอาชีพชั่วคราวได้

ดังนั้นการปรับลดระดับชั้นโควิดมาเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ส่งผลให้การเฝ้าระวังและเตือนภัยจะใช้วิธีการเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่หรือไข้เลือดออกที่เรารู้จักกัน ซึ่งจะรายงานสถานการณ์เป็นรายสัปดาห์แทน และจะมีการผ่อนคลายมาตรการลง โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อกลุ่มอาการน้อยไปจนถึงไม่มีอาการและผู้สัมผัสเสี่ยงจะไม่จำเป็นต้องกักตัวอีกแล้ว แต่การป้องกันโรคด้วยวัคซีนยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการรับมือกับโรคนี้

อ้างอิงข้อมูล : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ กรมควบคุมโรค

สธ.เปิดมาตรการโควิด“ธุรกิจ-ปชช.” รับ 1 ต.ค. ปรับเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง

รัฐบาลแนะแม้ปรับลดชั้นโควิดแล้วปชช.ยังต้องป้องกันตัวเอง-ฉีดวัคซีนเสริมภูมิ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0