โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ทำไมต้องติดตุ๊กตามิชลิน? - JPW

LINE TODAY SHOWCASE

เผยแพร่ 04 ก.ค. 2565 เวลา 04.45 น. • JPW

…“เช ยังไม่ตาย เขาอยู่ท้ายรถบรรทุก”… เสียงขับขานบทเพลง “เช กูวาร่า” ของวงคาราบาว ทำให้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า ถ้า “เช กูวาร่า” นักเคลื่อนไหวทางสังคมที่เป็นตำนาน จับจองพื้นที่อยู่ท้ายรถบรรทุกเสียแล้ว ใครกันหนอที่จะอยู่หน้ารถบรรทุก

ผมตั้งสติรวบรวมความคิด แล้วภาพที่ลอยมาก็คือ เจ้าตัวมาสคอต อ้วนกลมตัวปล้อง ขาวผ่อง น่ากอดนอนซุก…ใช่แล้ว!!! เจ้าตัวนี้เองที่อยู่หน้ารถบรรทุกอย่างสง่าผ่าเผย พร้อมเพื่อนฝูงอีกมากมาย เจ้าตุ๊กตามิชลิน นั่งอมยิ้ม หรือชื่อของมันคือ บีเบนดัม (Bibendum) แล้วทำไมต้องเอามันไปติดไว้หน้ารถบรรทุกด้วยละ?? เพื่ออะไร???

เจ้า บีเบนดัม ถือกำเนิดจากประเทศฝรั่งเศส และอวดโฉมต่อชาวโลกในปี 1898 โดยบริษัท มิชลิน (michelin) บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับยางรถยนต์ระดับโลก มิชลิน ครอบครองส่วนแบ่งการตลาดยางรถยนต์อยู่ที่อันดับสองของโลก เป็นรองแค่ บริสโตน (Bridgstone) จากประเทศญี่ปุ่น นอกจากจะเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยางรถยนต์แล้ว ผู้คนก็รู้จักมิชลิน จากการให้ดาวร้านอาหาร ภัตตาคาร ตามมาตรฐานที่สุดเข้มข้น รู้จักกันในชื่อ Michelin stars และตีพิมพ์ ลงใน travel guides เพื่อเป็นดั่งคัมภีร์ศักดิ์สิทธ์นำทางแก่นักเที่ยว นักชิมทั่วโลก

บีเบนดัม (Bibendum) ในภาษาอังกฤษจะแปลว่า michelin man หรือ michelin tyre man นั่นเอง ในระหว่างที่ผมเดินทางไกลบนถนนทางหลวงกับพี่สาวครั้งหนึ่ง บทสนทนาแก้ง่วงเชิงคำถาม ปนความสงสัยของพี่สาวผมได้เอ่ยคุยขึ้นมาว่า สงสัยไหมว่าทำไมรถบรรทุกที่วิ่งบนถนนในเมืองไทย ชอบเอาตุ๊กตามิชลินมาติดหน้ารถ บางคันก็ติดไว้ตั้งหลายตัว จะว่าสวย ว่าเท่ห์ก็แปลกๆ ขับรถสวนกับรถบรรทุกบางครั้งมองผ่านตาแวปๆ ตกใจนึกว่าผีเด็กมานั่งตรงหน้ารถบรรทุก!!!

ผมทวนบทสนทนาในใจ แล้วนึกขึ้นมาได้ว่าเคยมีประสบการณ์ได้พูดคุยกับเหล่าสิงห์รถบรรทุก ที่นำเจ้า บีเบนดัม มาตกแต่งติดอยู่หน้ารถ ครั้งหนึ่งในช่วงที่ผมควบคุมงานก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้า OTOP พื้นที่ใต้ทางด่วนใน กรุงเทพมหานคร ผมต้องทำการนำดินมาปรับถมพื้นที่เพื่อให้ได้ระดับสูงตามแบบก่อสร้าง ด้วยพื้นที่ ที่ต้องปรับระดับมีกว่า8 ไร่ จึงใช้ดินมหาศาล ตามมาด้วยการขนถ่ายดินมาถมปรับพื้นที่ อีกทั้งขนส่งวัสดุก่อสร้างอีกนับไม่ถ้วน โดยขนส่งด้วยรถบรรทุกเป็นร้อยๆเที่ยว ทำให้ผมได้รู้จักพูดคุยกับพี่ๆสิงห์รถบรรทุกเหล่านั่น โดยเฉพาะความสงสัยเฉกเช่นเดียวกับพี่สาวที่ว่า ทำไมต้องเอาเจ้า บีเบนดัม มาติดอยู่หน้ารถกันด้วยเล่า ???

คำตอบจาก พี่ๆสิงห์รถบรรทุก หลายๆคนใกล้เคียงกันคือสวยบ้าง เท่ห์บ้าง เป็นแฟชั่นบ้าง แต่มีคำตอบแบบหนึ่งที่ฟังแล้วน่าสนใจ นั่นคือคำตอบจาก “พี่ศร” ผู้ขับรถส่งดิน และวัสดุมากที่สุดในโครงการนี้ แกตอบได้อย่างน่าสนใจว่า…. มันคือ ศักดิ์ศรี และสถานะทางสังคม ชนชั้นของชาวรถบรรทุก” !!!

พี่ศร ถามผมกลับมาราวกับรู้อยู่แล้วว่าผมคงตอบไม่ได้ แกว่า “รู้ไหมว่าราคาเจ้าตุ๊กตาพวกนี้ตัวละเท่าไหร่?” ผมส่ายหน้าพร้อมเว้นช่องว่าง เพื่อให้แกได้เปิดสมองให้ผมต่อ

…พี่ศรเล่าต่อเนื่องว่า ตัวเล็กๆของแท้ๆก็เริ่มที่ตัวละ 2000-3000 บาท ถ้าตัวใหญ่พร้อมทั้งเรืองแสงได้มีไฟในตัว ราคาสูงถึงตัวละเกือบ 20,000 บาท แล้วลองคิดดูสิบางคันติดอยู่กี่ตัว บางคันติดแต่ตัวใหญ่ๆเป็นสิบตัว คิดดูคร่าวๆเป็นเงินหลายแสน!!! ใครมีมากติดหลายตัว ตัวใหญ่ๆ แสดงว่ามีเงินมีทองเยอะ เวลาพบเจอกันบนทางหลวง หรือจุดแวะพักตามปั้มน้ำมัน ก็จะได้รับการยอมรับ ดูเท่ห์ มีแต่คนอยากเข้ามาคุย อยากรู้จักทักทาย ไม่ใช่สิงค์รถบรรทุก แต่เป็นเสี่ยรถบรรทุกไงละ!!!

จริงๆแนวคิดเรื่องความเสมอภาคในสังคม รวมถึงโลกในอุดมคติเรื่องสังคมเท่าเทียมไร้ชนชั้นและวรรณะ โดยอคติส่วนตัวผมระลึกอยู่เสมอมาว่ามันไม่เคยมีอยู่จริงมาแต่ไหนแต่ไรตั้งแต่เกิดอารยธรรมของมนุษยชาติมานับหมื่นๆปีอยู่แล้ว ผมเลยทำความเข้าใจได้กับมุมมองของพี่ศร ที่บอกเล่าให้ฟัง

แต่สิ่งที่ผมไม่เข้าใจคือ แล้วทำไมต้องเป็นเจ้า บีเบนดัม มาสคอตตัวปล้อง อ้วนกลมนี้ด้วยละ ที่มาทำหน้าที่แห่งสัญลักษณ์แสดงฐานะ และชนชั้นแห่งชาวรถบรรทุกทั้งหลาย???

แต่ราวกับว่าพี่ศรจะอ่านความมึนงงสงสัยจากสีหน้ามึนๆ ผนวกกับคิ้วที่เริ่มขมวดเข้าหากัน แกเลยช่วยตอบคำถามในใจผมราวกับนักอ่านจิต ว่า “ไม่ใช่แค่มีแต่ในเมืองไทยนะที่นำเจ้านี่มาตกแต่งหน้ารถบรรทุก ชาวรถบรรทุกเกือบทั่วโลกเขาก็แต่งกันแบบนี้”

ผมคิดตามราวกับเส้นขนานไปพร้อมคำบอกเล่าของพี่ศร ว่าอาจเป็นไปได้ที่เจ้า บีเบนดัม มันมีความเป็นสากลแบบ International และได้รับการยอมรับในคุณภาพผลิตภัณฑ์จนมีอายุมาเป็นร้อยปี และรถบรรทุกส่วนใหญ่อาจใช้ยางของมิชลิน และนั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดของพรี่เมี่ยมเป็น เจ้าบีเบนดัม แล้วมีชาวสิงห์รถบรรทุกสักคนเริ่มเอามาตกแต่งหน้ารถจนกระจายเป็นแฟชั่นไปทั่วโลก เพราะจะว่าไปในวงการยางรถ คงจะมีแต่เจ้าบีเบนดัม ที่เป็นโลโก้แนวมาสคอตที่จับต้องได้ชัดเจนที่สุด

พี่ศร เล่าต่อว่า ที่เขาใช้เจ้านี้มาตกแต่งนั่น เพราะรถบรรทุกนะเป็นรถใช้งาน ใช้ทำมาหากิน ต้องวิ่งอยู่บนทางหลวงหรือถนนสายหลักตลอด การแต่งรถรูปแบบอื่นที่เหมือนจะเป็นการดัดแปลงรถเพื่อความสวยงามจึงไม่เหมาะ และอาจโดนตำรวจทางหลวงจัดการเอาได้ง่ายๆ จึงใช้ตุ๊กตาพวกนี้มาตกแต่งแทน แต่เมืองนอกนะติดกันแค่ไม่เกินสองตัวไม่เยอะ ไม่เหมือนเมืองไทยบ้านเรา เพราะบ้านเรามันมากกว่าการตกแต่งเพื่อสวยงามไง มันคือสถานะและชนชั้นของเจ้าของรถคันนั้นๆ.. เนี้ยละไทยแลนด์โอนลี่ พี่ศรเล่าพร้อมปิดท้ายด้วยรอยยิ้ม

ผมเอาคำที่พี่ศร กลับมาย้อนคิด มันน่าสนใจมาก ลองคิดดูเล่นๆ ถ้าผมขับรถเก๋งทั่วไปอยู่บนถนน หรือไปจอดหน้าผับที่ไหนสักแห่ง สถานะหรือชนชั้นของผมอาจโดนตัดสินจากการ ขับรถญี่ปุ่น หรือรถยุโรป หรือถ้าขับรถยุโรปเหมือนกันรุ่นเดียวกัน ก็อาจโดนตัดสินสถานะความน่าสนใจได้จาก คันไหนที่ใส่ล้อแม็กรุ่นใหม่แบร์ดดังสุดแพง หรือคันไหนติดเครื่องเสียงราคาหลักแสน หรือคันไหนที่ผ่านการแต่งจากสำนักแต่งรถชื่อดัง

แต่รถบรรทุกนั้นมีข้อจำกัดกว่านั้นมาก เนื่องจากต้องเป็นรถใช้เพื่องานบรรทุกให้ได้เต็มประสิทธิภาพ โดยไม่ผิดกฏหมายการดัดแปลงรถอีกด้วย เลยได้เจ้า บีเบนดัม มานั่งเฉิดหน้าชูตาบ่งบอกสถานะ และชนชั้นของเจ้าของรถ แบบคูลๆเป็นพระเอกหน้าแป้นอยู่หน้ารถบรรทุกนั่นเอง

คำกล่าวที่ว่า “เงินซื้อไม่ได้ทุกอย่าง ..แต่ทุกอย่างที่จำเป็น ซื้อได้ด้วยเงิน” ในยุคนี้ประโยคดังกล่าวเป็นจริงอย่างที่สุด ในยุคแห่งโลกทุนนิยม ที่เงินและผู้มีทุนเป็นใหญ่ และเป็นชนชั้นนำในสังคม

ถ้าไม่เชื่อเมื่อคร่าวใดได้เดินทางไกลบนถนนทางหลวงสักสาย ลองมองดูรถบรรทุกสักคันที่ขับสวนทางกัน อาจจะเห็น รูป “เช กูวาร่า” นักต่อสู้ด้านความเหลื่อมล้ำ และนักปฎิวัติชนชั้นทางสังคม ชาวคิวบา ที่ถูกจัดตำแหน่งให้อยู่ท้ายรถบรรทุก จนหน้าดำจากรอยเปื้อนที่ออกมาจากฝุ่นควันของท่อไอเสีย และเศษดินโคลนที่กระเด็นขึ้นมาจากพื้นถนน

และในขณะเดียวกันอีกด้าน ด้านหน้ารถบรรทุกกลับมีเจ้า บีเบนดัม (Bibendum) ตัวปล้องอ้วนกลม อมยิ้ม นั่งเชิดหน้าชูหน้า กินลมชมวิว เพื่อทำหน้าที่แสดงตัวตนชนชั้นและฐานะให้เจ้านายผู้ขับขี่ ท่ามกลางกระแสลมและเส้นทางแห่งสังคมโลกทุนนิยมอย่างสบายอกสบายใจ / JPW

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0