อาหารประเภทหม้อไฟเป็นที่นิยมของคนทั่วภูมิภาคเอเชียที่มีวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ เพราะเป็นอาหารประเภทที่สามารถรับประทานร่วมกันได้หลายคนในครัวเรือน นับเป็นช่วงเวลาแห่งการแบ่งปันและความสุข ในแต่ละท้องถิ่นก็จะมีการกินอาหารหม้อไฟแต่ละประเภทที่แตกต่างกันและมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป แต่หม้อไฟแต่ละประเภทนั้นแตกต่างกันอย่างไรบ้าง และทำไมจึงต้องเรียกต่างกัน วันนี้ เรามีคำตอบมาให้คุณ
*สุกี้ *
สุกี้ หรือ สุกี้ยากี้ ที่คนไทยอาจจะคุ้นเคยมากที่สุด เป็นอาหารประเภทหม้อไฟที่มีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่น…ลักษณะเด่นพิเศษของสุกี้ยากี้ก็คือการใส่วัตถุดิบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ เต้าหู้ ผัก ไข่ ลงไปต้มในหม้อเดียวกันแล้วปิดฝา…รอให้สุกพร้อมกันทั้งหมดก่อนแล้วค่อยกิน
สุกี้ยากี้ แบบญี่ปุ่นแท้ ๆ มีทั้งหมดสองแบบด้วยกันคือ แบบคันโต ที่จะนิยมปรุงรสน้ำซุปให้เข้มข้นเสียก่อนค่อยนำวัตถุดิบต่าง ๆ ลงไปปรุง และ แบบคันไซ ที่จะต้องต้มวัตถุดิบต่าง ๆ ให้สุกเสียก่อนแล้วนำขึ้นมาปรุงรสด้วยน้ำจิ้มต่าง ๆ ซึ่งสุกี้ยากี้ที่ชาวไทยนิยมและได้รับอิทธิพลมานั้นก็คือแบบคันไซนั่นเอง
*ชาบูชาบู *
ชาบูชาบูเป็นอาหารประเภทหม้อไฟที่มีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่นเช่นกันกับสุกี้ยากี้ แต่ความแตกต่างก็คือวิธีการรับประทาน ซึ่งสำหรับชาบูชาบูนั้น จะมีการนำเอาผักลงไปต้มในหม้อก่อน เพื่อให้น้ำซุปได้มีรสหวานจากผัก แล้วค่อยนำเนื้อลงไป “ลวก” โดยเฉพาะชาบูชาบูแบบญี่ปุ่นแท้ ๆ นั้นจะสไลด์เนื้อให้เป็นแผ่นบาง ๆ ทำให้สุกได้เพียงผ่านน้ำเดือด ๆ เพียงไม่กี่ครั้ง ชื่อ “ชาบูชาบู” ก็มาจากการพยายามแทนเสียงการจุ่มเนื้อลงในน้ำว่า “ชาบุ-ชาบุ” เป็นภาษาญี่ปุ่นนั่นเอง
*หมูจุ่ม *
หมูจุ่ม หรือ จิ้มจุ่ม เป็นอาหารประเภทหม้อไฟแบบไทย ๆ ที่มีต้นกำเนิดมาจากภาคอีสาน ซึ่งลักษณะวิธีการกินก็ใกล้เคียงกับชาบูชาบูแบบญี่ปุ่น ซึ่งก็คือการนำผักลงไปต้มก่อนที่จะนำเนื้อลงไปลวกในน้ำเดือด แต่ทีเด็ดและเอกลักษณ์ของจิ้มจุ่มอยู่ที่น้ำซุป เพราะน้ำซุปในหม้อไฟแบบจิ้มจุ่มนั้นไม่ใช่น้ำซุปธรรมดา แต่จะเป็นน้ำซุปที่มีรสชาติแซบ ๆ แบบไทย ๆ เพราะน้ำซุปจิ้มจุ่มนั้นประกอบด้วยข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ซึ่งจะมอบกลิ่นหอมและรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ให้กับเนื้อสัตว์ที่ถูกนำลงไปลวกนั่นเอง