คุณดิชา นุวงษ์วรรณ์ อยู่บ้านเลขที่ 68/1 หมู่ที่ 3 ตำบลวังน้ำเย็น อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรีจากพนักงานโรงงานได้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เกิดความคิดไม่อยากเป็นลูกจ้างไปตลอดชีวิต จึงมองหาอาชีพที่คิดว่าเป็นนายตัวเอง มีรายได้ที่แน่นอน มีความสนใจที่จะเลี้ยงปลาในบ่อดิน
เริ่มต้นก่อนที่จะเลี้ยงปลาหมอ คุณดิชา เล่าว่า ศึกษาทุกอย่างที่เกี่ยวกับปลาหมอ ไม่ว่าจะหาหนังสือมาอ่าน ตลอดจนศึกษาหาความรู้จากเว็บไซต์ต่างๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้กับสิ่งที่คุณดิชาจะลงมือทำ เพราะเชื่อว่าการศึกษาหาความรู้ก่อนลงมือปฏิบัติสำคัญมาก ต้องให้รู้ทั้งข้อดีและข้อเสีย ตลอดจนวิธีการต่างๆ เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด เพราะเงินทุนที่ใช้ต้องให้เกิดประโยชน์สูงสุด มิเช่นนั้นจะกลายเป็นขาดทุน และเพิ่มหนี้สินได้ หากไม่คิดให้รอบคอบ
คุณดิชา เล่าว่า เมื่อศึกษาหาข้อมูลพอสมควร จึงลงมือปฏิบัติ โดยขั้นตอนแรกสำรวจพื้นที่ที่บ้าน ว่าต้องการขุดบ่อสำหรับเลี้ยงปลาหมอตรงบริเวณไหน เริ่มแรกเดิมทีคุณดิชาทดลองเลี้ยงเพียง 1 บ่อ แต่ตอนนี้ขุดเพิ่มอีก 2 บ่อ รวมตอนนี้มีทั้งหมด 3 บ่อ
บ่อที่ขุดสำหรับเลี้ยงปลาหมอ อยู่ที่ขนาด 10×20 เมตร ความลึกของบ่อ ประมาณ 2 เมตร คุณดิชา บอกว่า บ่อสำหรับเลี้ยงใครมีพื้นที่มากก็สามารถทำให้ใหญ่กว่าของคุณดิชาได้ เมื่อขุดบ่อได้ขนาดตามที่ต้องการแล้ว ก็ปรับสภาพดิน ด้วยการโรยปูนขาวที่ก้นบ่อ เพื่อปรับสภาพดินและฆ่าเชื้อโรค จากนั้นตากบ่อไว้ ประมาณ 7 วัน พอครบกำหนดก็เตรียมสูบน้ำเข้าภายในบ่อ ในระยะแรกก้นบ่ออาจเกิดไรแดงให้ลูกปลาหมอได้กิน
คุณดิชา เล่าว่า ก่อนที่จะปล่อยลูกปลาลงบ่อ จะสูบน้ำลงไปในบ่อให้มีระดับน้ำ ประมาณ 120 เซนติเมตร แล้วรักษาระดับน้ำไว้เช่นนี้ จนกว่าลูกปลามีอายุได้ประมาณ 1 เดือน พอเข้าสู่เดือนที่ 2 จะเพิ่มระดับน้ำขึ้นมาอยู่ที่ 140 เซนติเมตร พอลูกปลาหมอเข้าเดือนที่ 3 เพิ่มระดับน้ำขึ้นเป็น 180 เซนติเมตร พอครบเดือนที่ 4 ระดับน้ำจะอยู่ที่ 2 เมตร จนกว่าปลาหมอจะได้ขนาดส่งขายได้
ส่วนพันธุ์ปลาที่นำมาปล่อย คุณดิชา บอกว่า จะเลือกลูกปลาหมอจากฟาร์มที่เชื่อถือได้ เพราะถ้าเลือกลูกปลาหมอมาไม่ดี โอกาสจะเป็นเพศผู้หมดค่อนข้างมาก โดยปลาที่คุณดิชาเลี้ยงเป็นพันธุ์ชุมพร 1 ขนาดประมาณ 2-3 เซนติเมตร (ไซซ์ใบมะขาม) ราคาตัวละ 80 สตางค์ เป็นปลาหมอที่ผ่านการแปลงเพศแล้ว จะเอาเพศเมียเป็นหลัก เพราะเพศเมียจะเจริญเติบโตได้ดีกว่าเพศผู้ มีขนาดใหญ่กว่า ส่วนใหญ่ที่เลี้ยงต้องเป็นเพศเมีย ฟาร์มที่คุณดิชาเลือกซื้อลูกปลาหมอมา จะเป็นฟาร์มของเอกชนที่เชื่อถือได้ เนื่องจากหน่วยงานรัฐยังไม่มีลูกปลาหมอมากพอต่อความต้องการของเกษตรกร อาจต้องรอหลายเดือนกว่าจะได้รับ
ในบ่อของคุณดิชา ขนาด 10×20 เมตร ปล่อยลูกปลาหมออยู่ที่ 5,000 ตัว ต่อบ่อ แต่ถ้าใครจะปล่อยถึง 10,000 ตัว ต่อบ่อ ก็ทำได้
“ที่บ่อผม จะใส่ลูกปลาที่ 5,000 ตัว ต่อบ่อ พอลูกปลาหมอลงบ่อแล้ว ผมก็จะใช้ยาปฏิชีวนะผสมกับอาหารให้กิน เพราะขณะที่ลูกปลาหมอขนส่งมา อาจจะช้ำใน จึงจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะให้กิน ส่วนการรักษาผิวที่เกิดจากบาดแผล ผมจะสาดเกลือเม็ดลงไปในบ่อ เพื่อรักษาบาดแผลของลูกปลา และทำให้ลูกปลาดูกระปรี้กระเปร่า” คุณดิชา กล่าว
การให้อาหาร ช่วงที่ปล่อยลูกปลาไปแรกๆ ยังไม่ได้ให้อาหาร เพราะในบ่อจะมีไรแดงอยู่ ลูกปลาสามารถกินได้ พอเลย 7 วัน ก็จะเริ่มให้อาหาร ระยะ 1 เดือนแรก คุณดิชาเล่าว่า จะให้วันละ 4 ครั้ง ดูตามการกินของลูกปลาหมอ ว่าอิ่มมากน้อยแค่ไหน จากการสังเกตของคุณดิชาเอง
“ผมจะให้อาหารวันละ 4 ครั้ง ให้จนอิ่ม ดูจากจำนวนอาหารที่ลอย ถ้าอาหารลอยเยอะ ผมก็จะหยุดให้ นั้นแสดงว่าปลาอิ่มแล้ว ซึ่งผมก็จะสังเกตของผมเอง มันอยู่ที่เทคนิคใครเทคนิคคนนั้น โดยถ้าปลาไม่สนใจกินอาหารแล้ว เราก็ค่อยๆ หยุด เรียกว่าให้จนอิ่ม จะให้กะปริมาณอาหารเป็นกิโล ช่วงนี้อาจจะยังคำนวณไม่ได้ ให้แบบนี้ประมาณ 1 เดือน จึงค่อยปรับลดอาหารลงมา อาหารที่ให้ช่วงนี้จะเป็นอาหารเม็ดเล็ก เป็นอาหารลูกอ๊อด” คุณดิชา อธิบายการให้อาหารระยะ 1 เดือนแรก
เมื่อลูกปลาหมอได้ 1 เดือนขึ้นไป ก็จะเปลี่ยนอาหารเป็นอาหารปลาดุก เบอร์ 1 มีจำนวนโปรตีน ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ให้ 3 ครั้ง ต่อวัน และเมื่อครบ 2 เดือนขึ้นไป จะให้ 2 ครั้ง ต่อวัน พอปลาหมอปากเริ่มใหญ่ขึ้น คุณดิชาจะเปลี่ยนอาหารเป็นเบอร์ที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ดูตามขนาดของปากปลาหมอเป็นหลัก ถ้าปากใหญ่มากกว่าเดิมก็จะเปลี่ยนขนาดของอาหาร
“ผมจะดูที่ปากปลาเป็นหลัก ว่าพอระยะ 2 เดือนไปแล้ว จะกินอาหาร เบอร์ 2 ได้ไหม ถ้ากินได้ก็จะเปลี่ยนเป็น เบอร์ 2 แต่ค่อยๆ เปลี่ยน ไม่ได้เปลี่ยนทีเดียวนะ จากนั้นก็เลี้ยงด้วยอาหาร เบอร์ 2 ตลอดไปเลย ให้ 2 ครั้ง เหมือนเดิม เช้า เย็น จนถึงช่วงขายปลาเลย ปลาที่เขานิยม จะประมาณ 5 เดือน” คุณดิชา สรุปการให้อาหาร
คุณดิชา เล่าว่า ที่ฟาร์มจะดูตามสภาพแวดล้อม ช่วงที่ฝนตกบ่อยๆ จะโรยปูนขาวข้างๆ บ่อ เพราะเวลาที่น้ำฝนตกลงมา อาจจะนำเชื้อโรคตามมาด้วย หรือน้ำฝนเองมีสภาพเป็นกรด ก็จะโรยปูนขาวเพื่อที่เวลาน้ำฝนตกลงมาจะได้ช่วยปรับสภาพน้ำไปด้วย ทำให้น้ำในบ่อมีสภาพที่ดีขึ้น ไม่เป็นกรดด่างมากเกินไป
เมื่อปลามีอายุได้ตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป ก็จะมีการถ่ายน้ำออกจากบ่อ โดยดูว่าน้ำในบ่อมีสภาพอย่างไร เขียวมากเกินไหม เพราะถ้าสภาพน้ำไม่ดีปลาหมอจะเครียด กินอาหารได้น้อย จะถ่ายน้ำออก เอาน้ำใหม่เข้าไป จากนั้นสาดเกลือลงไปในบ่อหลังถ่ายน้ำ
“ผมจะถ่ายน้ำออก แล้วใส่น้ำใหม่เข้าไป เพื่อให้น้ำมีสภาพดีขึ้น ถ่ายออก 3 ใน 5 ของบ่อ หากไม่ถ่ายน้ำออกบ้าง น้ำในบ่อสภาพไม่ดี ปลาก็จะไม่ค่อยกินอาหาร ทำให้การเจริญเติบโตของปลาหมอช้าลง เพราะเกิดสภาวะเครียดจากสภาพแวดล้อม นอกจากถ่ายน้ำแล้ว ผมก็จะสาดเกลือเม็ดลงในบ่อ เดือนละ 2 ครั้ง อัตราการสาดเกลือเม็ด อยู่ที่ 20 กิโลกรัม ต่อบ่อ”
“สิ่งที่ต้องระวังอีกอย่าง ที่ปลาจะไม่ค่อยกินอาหาร ก็เรื่องฟ้าผ่า ฟ้าร้อง เสียงดังต่างๆ การรบกวนจากคน ถ้าเราไปยุ่งกับบ่อมาก ปลาตกใจ ทำให้ปลาไม่ค่อยกินอาหาร 2-3 วัน มันเกิดความครียด ต้องระวัง” คุณดิชา กล่าว
ด้านศัตรูที่มากินปลาหมอ คุณดิชา บอกว่า จะเป็นพวก นกกระยาง งู กบ เพราะลูกปลาหมอตัวเล็กๆ ระยะ 2-3 เซนติเมตร กบสามารถกินได้ ทำให้จำนวนปลาหมอลดน้อยลง ส่วนนกกระยาง คุณดิชาจะขึงตาข่ายกันที่ปากบ่อ เพื่อกันนกกระยางลงมากินปลาหมอ
คุณดิชา เล่าว่า ปลาหมอที่ขายส่วนใหญ่ อายุประมาณ 5 เดือน โดยไซซ์ที่นิยม จะประมาณ 4-5 ตัว ชั่งน้ำหนักได้ 1 กิโลกรัม ถือเป็นไซซ์ปานกลาง ขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาท ถ้า 7-9 ตัว ชั่งน้ำหนักได้ 1 กิโลกรัม ขายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 40 บาท ส่วนไซซ์ใหญ่สุด 2-3 ตัว ได้ 1 กิโลกรัม อยู่ที่ราคา 80 บาท แต่ไซซ์ขนาดนี้มีจำนวนไม่มาก จะเป็นไซซ์ปานกลางส่วนใหญ่ที่ขายออกได้ดี
ตลาดส่วนใหญ่ที่คุณดิชานำปลาไปขายจะเป็นตลาดขายปลา (แพปลา) โดยตรง ห่างจากบ้าน ประมาณ 10 กิโลเมตร
“แพปลาที่นี่ มันเป็นตลาดใหญ่เลย จะมีพ่อค้าแม่ค้าจากที่อื่นมารับ เราก็เอาปลาเราไปขายที่นี่ได้ จะมีทั้งเจ้าประจำ เจ้าขาจรมารับไป ก็มีทั้งชาวบ้านแถวนี้ มาจากที่อื่นก็มี เอาปลาเรามาแลกเปลี่ยนกัน คนที่มาซื้อก็จะมาเอาไปขายต่อ เพราะผมเหมือนเป็นผู้ผลิตอย่างเดียว ผมส่วนใหญ่จะขายจำนวนมากๆ ไซซ์ก็จะเป็น 5-6 ตัว โล ไซซ์นี้จะนิยมมาก เพราะเขามารับไปย่างขาย”
“ส่วนที่บ่อผม ถ้ามีขนาดเท่าๆ กัน ผมจะขายแบบยกบ่อ ผมจะวิดน้ำออกเอง ส่วนคนที่มารับซื้อ เขาจะมีคนมาจับเองที่บ่อเรา สมมุติว่าปลาเราพร้อมที่จะขายแล้ว ก็ไปบอกเขาให้เตรียมมาจับ เขาก็จะเตรียมทีมงานมาเอง เราก็อาจจะต้องจ่ายค่าจับให้ไป มากน้อยอยู่ที่ตกลง” คุณดิชา กล่าว
เมื่อถามถึงผลตอบแทนที่ได้รับ ว่าผลกำไรเป็นที่น่าพอใจไหม เพราะระยะเวลาที่รอจนกว่าจะขายปลาหมอได้ ใช้เวลาประมาณ 5 เดือน ช่วงนั้นคุณดิชาเองก็ไม่ได้ประกอบอาชีพเสริม อาจจะต้องใช้เงินอย่างเดียว คุณดิชา ตอบว่า
“มันอยู่ที่น้ำหนักปลาด้วย ว่าอัตราการรอดตายมันเยอะไหม ถ้ารอดมากเราก็ได้มาก คราวนี้ดูที่ลูกปลาครั้งแรกที่เอามาใส่บ่อด้วย เพราะถ้าเป็นตัวผู้เยอะ เราก็จะได้ปลาตัวใหญ่ๆ น้อย น้ำหนักก็จะหาย ถ้าตัวผู้มาเยอะเกิน เจ๊งอย่างเดียว เลือกซื้อลูกปลาต้องดูที่เป็นเจ้าหลักๆ ฟาร์มที่เชื่อถือได้ อย่างขาจรมาขายตามบ้านเราไม่เอา เพราะเขาขายแล้วก็ไป เราไม่รู้ว่าลูกปลาจะดีไหม แต่ฟาร์มใหญ่ๆ นี่ เขาจะต้องรักษามาตรฐาน ควรเลือกฟาร์มแบบนี้”
“ส่วนค่าตอบแทน เราขายได้ทั้งบ่อ ถ้าปลาได้ 900 กิโล ผมได้ราคากิโลละ 70 บาท ก็ประมาณ 63,000 บาท หักค่าอาหาร ค่าลูกปลา สัก 35,000 ก็เหลือประมาณ 28,000 ต่อบ่อ ผมมี 3 บ่อ ก็จับสลับกันไป เงินก็หมุนเวียนตลอด เราก็ได้เงินแบบไม่ขาดช่วง ผมกะว่าจะขุดบ่อเลี้ยงเพิ่มอีก เท่ากับเราก็ไม่ต้องเว้นช่วงนาน” คุณดิชา อธิบายผลตอบแทนที่ได้รับ
ท่านใดที่สนใจจะเลี้ยงปลาหมอเป็นอาชีพหลัก หรืออาชีพเสริม ต้องศึกษาหาข้อมูลให้ละเอียดรอบคอบด้วยนะครับ เพราะทุกอย่างที่ทำมีต้นทุนแทบทั้งสิ้น เพราะปลาเป็นสิ่งมีชีวิต บางครั้งการตายเป็นเรื่องธรรมชาติที่ต้องเกิดขึ้น เราต้องทำใจให้เป็นกลาง เรียนรู้ให้มากๆ โดยอาจจะเริ่มเลี้ยงจากบ่อเล็ก เมื่อสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ก็ค่อยๆ ขยายต่อไป ส่วนเรื่องตลาดก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน อาจต้องศึกษาหาข้อมูล หรือแหล่งขายให้ดี อย่างคุณดิชาเองมีตลาดขายปลาอยู่ใกล้บ้าน จึงทำให้ไม่เปลืองค่าขนส่ง มีคนมาติดต่อซื้อถึงที่บ้าน ทำให้ไม่ว่าเลี้ยงออกมามากน้อยแค่ไหน ก็มีตลาดสำหรับขาย
สำหรับท่านใดที่มีข้อสงสัยในการเลี้ยง หรืออยากศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ทาง คุณดิชา นุวงษ์วรรณ์ ยินดีให้คำแนะนำ และสามารถสอบถามแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ครับ ที่หมายเลขโทรศัพท์ (061) 605-9396
เผยแพร่ครั้งแรกวันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2561
ความเห็น 2
🛫❄️Little Devil🍀💵
ปลาที่พ่อทรงเลี้ยง จนถึงทุกวันนี้กลายเป็นรายได้ ให้ลูกของพ่อมีกินมีใช้ มีอาชีพ 🙏🏻
11 ส.ค. 2561 เวลา 17.16 น.
ดีจ้า 👍👍👍
11 ส.ค. 2561 เวลา 08.40 น.
ดูทั้งหมด