โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ตะโขงอินเดียลูกดก เข้าประกวดภาพสัตว์ตามธรรมชาติประจำปี 2020

Khaosod

อัพเดต 02 ก.ย 2563 เวลา 04.45 น. • เผยแพร่ 02 ก.ย 2563 เวลา 04.45 น.
_114194816_1.jpg

ตะโขงอินเดียลูกดก เข้าประกวดภาพสัตว์ตามธรรมชาติประจำปี 2020 - BBCไทย

คุณเห็นจระเข้กี่ตัวในภาพนี้ หนึ่งร้อยตัว?

ภาพอันน่าทึ่งของตะโขงอินเดีย (gharial) เพศผู้ที่มีลูกน้อยจำนวนมากเกาะอยู่บนหลังและว่ายน้ำอยู่รอบตัวมัน ได้รับการคัดเลือกให้เข้าชิงรางวัลในการประกวดภาพสัตว์ตามธรรมชาติประจำปี 2020 (Wildlife Photographer of the Year : WPY) ซึ่งเป็นงานประกวดรายการใหญ่ในสหราชอาณาจักร

ภาพตะโขงอินเดียลูกดกตัวนี้เป็นผลงานของ ดรีติมัน มุขรจี ช่างภาพชาวอินเดียที่ถ่ายภาพนี้เอาไว้ได้ที่เขตป่าสงวนแห่งชาติชัมบาล ทางภาคเหนือของอินเดีย

ตะโขงอินเดีย ได้รับการจัดให้เป็นสัตว์ที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์เข้าขั้นวิกฤต
ตะโขงอินเดีย ได้รับการจัดให้เป็นสัตว์ที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์เข้าขั้นวิกฤต

ตะโขงอินเดีย จัดอยู่ในวงศ์ตะโขง (Gavialidae) ซึ่งเป็นกลุ่มของจระเข้ที่มีปากแหลมเรียวยาว และได้รับการจัดให้เป็นสัตว์ที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์เข้าขั้นวิกฤต

ในอดีตมีการประเมินว่า เคยมีประชากรตะโขงอินเดียอาศัยอยู่ทั่วภูมิภาคเอเชียใต้กว่า 20,000 ตัว แต่ปัจจุบันคาดว่ามีจำนวนเหลืออยู่ไม่ถึง 1,000 ตัว และราว 3 ใน 4 ของสัตว์น้ำจืดชนิดนี้อาศัยอยู่อย่างในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่รัฐอุตตรประเทศ

ภาพ “ความภูมิใจของพ่อ” ได้รับคำชมอย่างมากในการประกวดหมวด “พฤติกรรม : สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำและสัตว์เลื้อยคลาน”
ภาพ “ความภูมิใจของพ่อ” ได้รับคำชมอย่างมากในการประกวดหมวด “พฤติกรรม : สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำและสัตว์เลื้อยคลาน”

"ตะโขงเพศผู้ตัวนี้จับคู่ผสมพันธุ์กับเพศเมียราว 7 หรือ 8 ตัว และคุณจะเห็นได้ว่ามันเป็นพ่อที่เอาใจใส่มาก" ดรีติมันอธิบาย "ตามปกติตะโขงเป็นสัตว์ที่ขี้กลัวเมื่อเทียบกับจระเข้น้ำเค็ม แต่ตัวนี้ค่อนข้างดุร้ายและหวงลูก ถ้าผมเข้าไปใกล้จนเกินไปมันก็จะพุ่งเข้าจัดการผมอย่างดุดัน" เขาให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวบีบีซี

หากสังเกตดี ๆ ก็จะเห็นว่าตะโขงตัวนี้มีก้อนหรือตุ่มอยู่ที่ส่วนปลายจมูก ซึ่งแพทริค แคมป์เบล ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลื้อยคลานจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในกรุงลอนดอน หน่วยงานผู้จัดการประกวดครั้งนี้ระบุว่า "มันเป็นโครงสร้างที่ช่วยขยายเสียงร้องให้ก้องกังวาน" โดยสันนิษฐานว่าอาจเป็นสิ่งที่ตะโขงใช้ในการสื่อสารเพื่อหาคู่ ซึ่งสามารถได้ยินไปไกลถึง 1 กิโลเมตร

นอกจากนี้ แคมป์เบลยังอธิบายอีกว่า โดยทั่วไปจระเข้ชนิดอื่นจะคาบลูกน้อยไว้ในปาก แต่สำหรับตะโขงอินเดียไม่สามารถทำเช่นนั้นได้เพราะลักษณะปากที่เรียวยาวของมัน ส่งผลให้ลูกต้องเกาะอยู่ตามหัวและหลัง หรือลอยคออยู่ใกล้ ๆ เพื่อความปลอดภัย

ภาพตะโขงลูกดกนี้ได้รับคำชมอย่างมากในการประกวดหมวด "พฤติกรรม : สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำและสัตว์เลื้อยคลาน" ซึ่งดรีติมันหวังว่ามันจะช่วยปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ตะโขงอินเดียที่มีจำนวนลดลงจากน้ำมือของมนุษย์ เช่น การสร้างเขื่อนและทำนบกั้นน้ำในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของพวกมัน

Bird image by Alessandra Meniconzi
Bird image by Alessandra Meniconzi

ส่วนภาพน่าสนใจอื่น ๆ ที่ได้รับคัดเลือกเข้าประกวดครั้งนี้ เป็นภาพฝูงนกที่บินฝ่ากระแสลมบริเวณเทือกเขาแอลป์ ในเขตสวิตเซอร์แลนด์ ผลงานของ อเลสซานดรา เมนิคอนซี ที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากในหมวด "พฤติกรรม: นก"

Spider image by Jaime Culebras
Spider image by Jaime Culebras

ขณะที่ภาพแมงมุมที่กำลังกินไข่กบแก้วอย่างเอร็ดอร่อยในประเทศเอกวาดอร์ ผลงานของช่างภาพชาวสเปน ไฆเม คูลบราส ก็ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากในหมวด "พฤติกรรม: สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง"

การประกวดภาพสัตว์ตามธรรมชาติประจำปี 2020 ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 56 จะประกาศผลรางวัลชนะเลิศ และรายชื่อผู้ชนะในหมวดต่าง ๆ วันที่ 13 ต.ค. โดยปีนี้เป็นการจัดงานทางออนไลน์เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0