โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

มากกว่าตัวต่อ | จิตแพทย์หนุ่ม คิว สิทธิกร ผู้ปลุกปั้นเลโก้จิ๋วให้เป็นงานศิลปะ

a day BULLETIN

อัพเดต 18 ม.ค. 2566 เวลา 03.18 น. • เผยแพร่ 16 ม.ค. 2566 เวลา 13.00 น. • a day BULLETIN
มากกว่าตัวต่อ | จิตแพทย์หนุ่ม คิว สิทธิกร ผู้ปลุกปั้นเลโก้จิ๋วให้เป็นงานศิลปะ

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับ นิทรรศการ 'มากกว่าตัวต่อ' ของจิตแพทย์หนุ่ม ‘คิว’ - สิทธิกร ปรีชาวุฒิเดช เจ้าของเพจ Qbrick Design ที่นอกจากมาโชว์ผลงานผ่านงานนิทรรศการ 35 ชิ้นสถาปัตยกรรมแลนด์มาร์กของไทยและทั่วโลก พร้อมกับโปรเจกต์พิเศษร่วมกับมิวเซียมสยาม 1 ชุดเพื่อร่วมฉลองครบรอบ 100 ปีตึกมิวเซียมสยามที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6

ผลตอบรับจากผู้ร่วมงานที่แสดงความคิดเห็นต่างขอบคุณที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้โดยเฉพาะกับเด็กๆ รวมถึงการเปิดเวิร์กช็อปให้กับผู้ที่สนใจทั้งรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่ในปีระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤศจิกายน 2022 เพื่อส่งต่อความหลงใหลที่ดึงวิทยาศาสตร์และศิลป์มาบรรจบเป็นตัวต่อจิ๋วที่ใส่ความความมุ่งมั่นพยายาม ศึกษาอย่างลงลึก เริ่มนับหนึ่งด้วยตัวเอง

เพื่อที่จะค้นหาวิธีการที่ดีที่สุดผ่านการลองผิดลองถูกด้านการวางแผนงานสร้าง ร่างแปลน เลือกสี สร้างมิติของพื้นผิว จนได้มาเป็นองค์ความรู้ที่พร้อมถ่ายทอดให้กับคนอื่นอย่างไม่มีหวงวิชา ก็เพื่อหวังว่าจะช่วยทำให้เด็กๆ เห็นช่องทาง ถ่ายทอดงานศิลปะในแบบของตัวเองออกมา

ความหลงใหลในงานอดิเรกมินิบล็อกนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร เราชวนคุณหมอย้อนกลับไปสมัยยังเป็นเด็กชายคิวกันดูว่าเส้นทางของจิตแพทย์คนนี้โคจรมาบรรจบกับตัวต่อนับหมื่นนับแสนตัวนี้ได้อย่างไร จึงออกมาเป็นนิทรรศการที่จัดขึ้น ณ มิวเซียมสยาม หนึ่งในความฝันของหมอคิวที่ให้เราได้ร่วมชื่นชม

ความสนใจในกล่องของเล่นวัยเด็กกลายเป็นงานอดิเรกที่จริงจัง

เมื่อเริ่มต้นอาชีพจิตแพทย์ จึงทำให้มีเวลาว่างมากขึ้นกว่าตอนที่ยังต้องเรียนหนังสือ เลยอยากหากิจกรรมทำ ระหว่างนี้ได้กลับไปเห็นเลโก้ที่เคยเล่นในตอนเด็ก เลยเอามาบูรณะใหม่ให้กลับเป็นชิ้นงานดั้งเดิมด้วยการค้นหาฐานข้อมูลในอดีตดูว่าแต่ละชุดต่อขึ้นมายังไงจนครบทุกชุดที่มีในระยะเวลา 1 เดือน เริ่มรู้สึกมีไฟอยากลงมือทำต่อ

เริ่มแรกจากการหาซื้อเลโก้ชุดทัชมาฮาล ซึ่งถือเป็นเซตสถาปัตยกรรมชิ้นใหญ่ที่ยากที่สุดที่เคยซื้อมาต่อ ใช้เวลาทั้งวันทั้งคืนรวมแล้ว 4 วัน ถือเป็นจุดประกายความสนุกในการต่อตัวต่องานสถาปัตยกรรม ซึ่งมีความซับซ้อน เรียบง่าย และสง่างามมากกว่างานคาแรคเตอร์ชิ้นเล็กๆ ที่เคยต่อสมัยเด็กจนติดใจอยากต่อไปเรื่อยๆ แต่เลโก้ปกติจะชิ้นใหญ่และมีราคาแพง จึงได้ไอเดียว่าจะใช้เลโก้จิ๋วแทน ซึ่งเคยได้สัมผัสผ่านมือมาบ้างแล้วเมื่อตอนที่ต่อเป็นของขวัญให้น้องสาว จึงคิดว่าอยากจริงจังกับสายนี้

ผิดพลาดเพื่อค้นพบทางออกที่ดีกว่าเดิม

ในช่วงฝึกฝีมือประจวบกับมีงานพระราชพิธี พระเมรุมาศรัชกาลที่ 9 เพิ่งจบไป ซึ่งในระหว่างที่มีการต้องรื้อถอนตามพระราชประเพณี คุณหมอได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัส ณ ท้องสนามหลวง และเกิดความประทับใจในโครงสร้างของสถาปัตยกรรม ทั้งคิดว่าน่าจะต่อไม่ยากซึ่งใช้สีหลักเพียง 2 สี คือสีเหลืองกับสีแดง

โดยในตอนแรกเริ่มนั้นเป็นการต่อแบบด้นสดตามรูปถ่าย ไม่มีการร่างก่อน แต่พบว่าสัดส่วนไม่ลงตัว จึงแก้ปัญหาด้วยการวาดแบบลงกระดาษกราฟของทั้งด้านหน้าและด้านข้าง จนมาเป็นพระเมรุมาศเวอร์ชันที่ 3

ก็พบว่าหลังจากที่มีการร่างแบบก่อน ทำให้ผลงานมีสัดส่วนที่ดีขึ้นกว่าเดิม ตรงตามที่สถาปนิกร่างแบบไว้ ก็ค้นพบความสามารถใหม่ในการถอดแบบลงกระดาษกราฟด้วยตัวเอง แล้วจึงนำแบบที่ลงกระดาษกราฟต่อขึ้นรูปทรงผลงานได้สำเร็จ เกิดการเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ในการขึ้นแบบจากการลงมือทำเอง แต่กว่าจะลงตัวก็ต้องคลำทางด้วยตัวเองกว่า 1-2 เดือน

นวัตกรรมที่ค้นพบนี้ เสมือนเป็นหลักสูตรส่วนตัวในการสร้างตัวต่อขึ้นมาได้ หลังจากนั้นจึงคิดว่าวางแผนระยะยาวด้วยการคัดเลือกสถาปัตยกรรมขึ้นมา 30 ชิ้น ตั้งต้นโดยสิ่งมหัศจรรย์ของโลกและเติมสถาปัตยกรรมของไทยอีกประมาณ 10 ชิ้นให้ครบ

“ที่ขาดไม่ได้ก็ต้องมี วัดอรุณ วัดพระแก้ว เป็นต้น ค่อยๆ ต่อเรื่อยๆ มาทีละชิ้นจนสำเร็จชิ้นสุดท้ายที่ลิสต์ไว้รวมระยะเวลา 3 ปี ความตั้งใจเดิมเมื่อต่อครบ 30 ชิ้นนี้แล้วจะพักระยะนึง เพราะคิดว่าน่าจะทำให้ภาพรวมและได้เรียนรู้กระบวนการต่างๆ ของการสร้างมินิบล็อกนี้ตั้งแต่ 0 ซึ่งแต่ละชิ้นกว่าจะผ่านทุกกระบวนการมาจนถึงชิ้นสุดท้ายเฉลี่ยแล้วใช้เวลา 1-3 เดือนในแต่ละชิ้น ซึ่งเป็นงานละเอียด ต่อแล้วแก้ แก้ไปมาอยู่ไม่น้อย”

“โดยชิ้นที่ทำให้เกิดความท้อระหว่างทาง คือส่วนหัวของเรือการเวกที่ต้องปั้นให้เป็นการเวกที่มีคล้ายหงส์ เป็นประติมากรรมซึ่งมีความยากในการสร้างความโค้งเว้า ความมน และชิ้นหนึ่งก็คือ ‘กำแพงเมืองจีน’ ที่ต้องมีองค์ประกอบของภูเขา ความยากคือการทำให้ภูเขาไม่ดูเป็นนาขั้นบันไดทื่อๆ ไม่มีมิติ จึงต้องศึกษาวิธีการทำส่วนภูเขาใหม่ให้ได้เชป มีมิติ”

ทั้งนี้แต่ละชิ้นจะมีความยากเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน ในระหว่างการทำคุณหมอคิวจะมีการจดบันทึกเก็บรายละเอียดไว้เสมอตั้งแต่เริ่มต้น รายละเอียดระหว่างการทำและการเรียนรู้เทคนิคใหม่ในแต่ละชิ้นเพื่อทำให้เป็นระบบการทำงาน ช่วยให้สามารถพัฒนางานต่อๆ ไปให้ดีขึ้น หรือถ้าเกิดอุปสรรคก็จะได้แก้ไข เกิดเป็นองค์ความรู้สำหรับต่อยอดต่อไป

“การตั้งเพจ Qbrick Design ขึ้นมานอกจากมีจุดประสงค์เพื่อแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับมินิบล็อกให้กับคนทั่วไป ยังทำเพื่อรับแรงบันดาลใจและกำลังใจจากผู้ที่ติดตามผลงานผ่านเพจด้วยเช่นกัน”

ศึกษาเบื้องหลังทางประวัติศาสตร์อย่างเข้มข้นเพื่อเข้าใจให้ลึกซึ้ง

ผลงานทุกชิ้นที่เลือกทำผ่านการศึกษาแนวคิดของสถาปนิก เพื่อให้ทราบที่มาสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมประกอบการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น ขั้นตอนการต่อวัดพระแก้ว ได้มีการอ่านธีสิสของเด็กศิลปากรควบคู่ไปเพื่อทำความเข้าใจที่มาการเลือกใช้สีของแต่ละส่วน ใช้หลังคาสีนี้เพราะอะไร แต่เดิมแปลนไม่ใช่ในแบบปัจจุบัน มีการต่อเติมในสมัยรัชกาลที่ 5-6 การได้เห็นเส้นทางการเปลี่ยนแปลงและรู้เหตุผลทำให้การต่องานแต่ละชิ้นนั้นสนุกมากขึ้น

“นครวัดเป็นชิ้นงานที่ใช้ตัวต่อมากที่สุด รวมแล้วกว่า 5 หมื่นชิ้นใช้เวลาทั้งหมด 40 วัน เป็นผลงานที่ใช้เวลาทำนานมากที่สุด เพราะมีขนาดใหญ่ ด้วยความที่เป็นสถาปัตยกรรมที่มีความสมมาตร จึงมีแพตเทิร์นที่ทำซ้ำๆ ได้ แต่ต้องใช้ความถึกมากที่สุด เฉลี่ยต่อวันใช้เวลาในการต่อ 1-3 ชั่วโมง”

โดยการได้มาของตัวต่อจิ๋วที่ใช้อยู่ส่วนใหญ่หาซื้อมาจากห้างเมก้า พลาซ่า ซึ่งขายแบบแยกกล่องเป็นตัวการ์ตูน ทั้งนี้ต้องไปเทียบเฉดสีหน้างานอีกครั้งเพื่อป้องกันการได้เฉดสีที่ไม่ตรงกับภาพปก

“การเล่นสีมีส่วนสำคัญที่ต้องคำนึงเช่นกัน การใช้สีแดงของพระเมรุมาศ ต้องเป็นแดงเลือดนกเท่านั้น ผมได้มีการทำเนียบเฉดสีไว้ มันก็เหมือนการเลือกเฉดสีลิปสติกที่มองผิวเผินดูจะเป็นสีแดงที่ไม่ต่างกันแต่จริงๆ เป็นคนละเฉดสี”

การต่อมินิบล็อกช่วยส่งเสริมงานด้านจิตแพทย์ที่ทำอยู่อย่างไรบ้าง

“อย่างแรกเลยคือช่วยคลายเครียดจากงานจิตแพทย์ที่ต้องรับเรื่องราวของคนไข้จำนวนมาก การต่อทำให้เพลิดเพลินและสนุกจนลืมเวลากินข้าวไปเลย แม้ต้องเผชิญกับความกดดันบ้าง แต่ถ้าเรียนรู้ที่จะก้าวผ่านอุปสรรคในระหว่างนั้นไปได้ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ ดีใจที่เราได้ข้ามผ่านความยากของแต่ละชิ้นนั้นมาได้’

“นอกจากนี้ยังเป็นการเติมคุณค่าและความหมายในชีวิตนอกเหนือจากการเป็นหมอซึ่งเป็นอาชีพประจำ อยากหาสิ่งที่ยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน เพื่อเป็นมิติใหม่ของวงการเลโก้โดยเอาสถาปัตยกรรมไทยมาประกอบจนสำเร็จ เป็นการหาความท้าทายให้ตัวเองและสร้างความภูมิใจ”

คุณหมอคิวได้ยกตัวอย่างวัดพระแก้วที่เป็นการเปิดโลกในการทำหลังคาอุโบสถแบบไทย ซึ่งเป็นการสร้างต้นแบบของหลังคาไทยให้กับชิ้นอื่นๆ แม้จะคลำทางอยู่นาน ต่อผิดซ้ำๆ หลายรอบ แต่ทำให้ชิ้นต่อไปง่ายขึ้น

“ประโยชน์ของการต่อมินิบล็อกมีผลต่อสมอง ฝึกการจินตนาการ โดยเฉพาะแบบที่สร้างขึ้นมาด้วยตัวเอง ไม่ได้ซื้อมาทำตามแบบ จะยิ่งกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ช่วยฝึกการมองภาพรวม รวมถึงประโยชน์ต่อจิตใจในด้านความอดทน พยายาม ฝึกความมานะอุตสาหะ ยิ่งมีใจรักก็ทำได้ต่อเนื่อง”

การต่อตัวต่อยังช่วยฝึกสมาธิ ซึ่งเด็กที่มาเวิร์กช็อปกับคุณหมอแม้เป็นการต่อตามแบบที่มีให้ แต่เมื่อเสร็จเป็นรูปร่างก็เกิดความภาคภูมิใจกับตัวเอง สำหรับผู้สูงอายุก็ได้เรียนรู้การใช้สมาธิจดจ่อ คุณหมอกล่าวเสริม

“เด็กๆ ที่มาเวิร์กช็อปได้ใช้ไอเดียจินตนาการ เพิ่มเติมต้นไม้ ลำธาร ทำให้ผลงานตั้งต้นที่เหมือนกันมีความเป็นตัวเองในรายละเอียด เกิดการเรียนรู้กระบวนการคิดงานอย่างเป็นภาพรวมอีกทั้งยังได้ลงมือด้วยตัวเอง สำหรับผู้ใหญ่ถ้าได้ฝึกฝนบ่อยๆ จะช่วยทำให้โฟกัสกับตัวเอง ใจเย็นลงและช่วยป้องกันสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ได้อย่างดี”

อนาคตของมินิบล็อกกับเทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อม

การต่อยอดต่อไป สำหรับคนที่สนใจสามารถติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์เพื่อนำไปผลิตสินค้าส่งเสริมการท่องเที่ยวกลายเป็นของที่ระลึกสำหรับชาวต่างชาติซื้อเป็นของฝากกลับบ้าน ด้วยความโดดเด่นของสถาปัตยกรรมในไทยที่เป็นแลนด์มาร์ก และสร้างความประทับใจก็สามารถชูให้เป็นของเล่นหรือผลักดัน soft power ของไทยได้เหมือนกัน

บริษัท microbrick ของคนไทยได้เริ่มต้นผลิตของที่ระลึกวางขายไปบ้างแล้ว แต่ด้วยขนาดที่ตัวต่อมีความแตกต่างกันกับที่คุณหมอใช้อยู่จึงทำให้แบบแปลนที่มีไปใช้ไม่ตรงตามสัดส่วนที่ถอดแบบไว้ก่อนหน้านี้

ในส่วนของการผลักดันให้เกิดเลโก้แลนด์ในเมืองไทย ได้เคยมีการเสนอไปกับ ดร.พิจารณ์ เจริญศรี ประธานชมรมเลโก้แห่งประเทศไทย แต่ด้วยความที่คนไทยยังไม่ค่อยเห็นคุณค่า ยังมองว่าเป็นเพียงของเล่นมากกว่างานครีเอทีฟและศิลปะ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับภาคธุรกิจที่จะมองเห็นความคุ้มทุนของวงการนี้ด้วยหรือไม่เช่นกัน

ประกอบกับกำลังซื้อของคนไทยที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งต่างกับเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ที่เลโก้ตัวต่อมีความเฟื่องฟูมาก ด้วยความที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วทำให้พ่อแม่มีกำลังจ่ายสนับสนุนให้กับลูกหลาน ส่วนประเทศที่ใกล้ๆ เราอย่างมาเลเซียก็เริ่มแผนสร้างเลโก้แลนด์กันไปแล้ว สำหรับในเอเชีย ประเทศที่มีคอมมูนิตี้แข็งแกร่งก็ล้วนเป็นประเทศพัฒนาแล้วทั้งนั้น เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และเซียงไฮ้ในจีน

“ขยะพลาสติกของตัวต่อส่วนเกินที่ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ก็ยังต้องเก็บไว้ที่บ้าน ในอนาคตมองว่าน่าจะมีทางเลือกให้สั่งได้ตามจำนวนที่ต้องการ ก็จะเป็นการช่วยลดขยะ หรือในอนาคตขึ้นส่วนเหลือใช้สามารถนำมาสร้างผลงานอื่นๆ ได้อีกต่อไป เช่น ตัวต่อสีดำที่เหลือนำมาต่อแบบขึ้นเป็นเปียโน หรือนำไปบริจาคต่อให้เด็กๆ ได้ใช้ทำงานสร้างสรรค์ต่อดีกว่าเอาไปทิ้ง”

การส่งต่อความรู้จากสิ่งที่เริ่มต้นมา

ในปี 2022 ได้มีการเปิดเวิร์กช็อปการต่อมินิบล็อกร่วมกับมิวเซียมสยาม เพื่อเป็นหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ส่วนในอนาคตมองไว้ว่าอยากจัดเวิร์กช็อปสถาปัตยกรรมไทยที่เริ่มต้นจากชิ้นเล็กๆ เข้าถึงง่ายในงบประมาณไม่มากถึงจะมีเด็กที่ให้ความสนใจ แต่การลงทุนและทุ่มเทเต็มตัว ปัจจุบันมองว่าเป็นเส้นทางที่ไม่เอื้อต่อหน้าใหม่นัก

“คนที่จะจริงจังเล่นในวงการนี้ยังมีน้อยมาก แม้ในระดับโลกเองมองว่ามีอยู่ 1 ในแสนคน” ด้วยหลายปัจจัยประกอบกันนั้น การที่เด็กคนนึงจะอยากจะต่อเลโก้เป็นอาชีพอาจไม่ตรงกับความคาดหวังทั่วไปของพ่อแม่ จึงขาดแรงสนับสนุน และแม้จะทำเป็นงานอดิเรกก็ต้องมีงานประจำที่เลี้ยงตัวเองได้ระดับหนึ่ง เหล่านี้เป็นเหตุผลที่ทำให้การเกิดคลื่นลูกใหม่ในวงการนี้ยังเป็นเส้นทางที่ค่อนข้างยาก

“อย่างไรก็ตามการเอางานอดิเรกเป็นอาชีพงานหลักอาจทำให้เกิดความเครียด การมีกิจกรรมเก็บไว้เป็นที่พักใจ ช่วยให้ไม่เป็นการแบกความคาดหวัง ทำให้กลายเป็นไม่มีความสุขกับการทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ”

“จึงอยากฝากบอกคนรุ่นใหม่ว่า ถ้ามีงานอดิเรกใดๆ ก็ตาม ทำให้เต็มที่ แม้จะได้เงินหรือไม่ได้เงินตอบแทนก็ตาม ก่อนจะขยับขยายกระโดดลงมาทำอย่างจริงจังต้องคำนึงถึงหลายๆ ปัจจัย ซึ่งในตอนเริ่มต้นสามารถทำควบคู่กันไปก่อนจนกว่าจะมองเห็นช่องทางเพื่อใช้เลี้ยงตัวเองเป็นอาชีพค่อยตัดสินใจกันอีกที”

ไม่แน่ว่าหลังจากนิทรรศการ ‘มากกว่าตัวต่อ’ ของคุณหมอ ‘คิว’ - สิทธิกร อาจจะสร้างดาวนักต่อมินิบล็อกดวงใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจกลับบ้านหลังชื่นชมสถาปัตยกรรมทั้ง 36 ชิ้นที่แสดงให้เห็นถึงความหลงใหลใส่ใจในทุกชิ้น ช่วยจุดประกายให้พวกเขาเห็นว่าแม้จะเป็นของเล่นแต่ก็ทำได้มากกว่าการเป็นงานอดิเรก เพราะสามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ในสิ่งที่ตัวเองสนใจหรือต่อยอดในวิถีทางของตัวเองจนเป็นงานศิลปะที่ตัวเองชอบและมีความสุขที่ได้ทำ แถมแบ่งปันให้คนอื่นได้ร่วมชื่นชม

ในอนาคตอาจมีเด็กรุ่นใหม่ที่เล่นระนาดเอกได้ดีทั้งกับเพลงไทยหรือประยุกต์เล่นเพลงสากล อัปโหลดใส่ชาแนลวิดีโอของตัวเองจนทำให้คนรู้จักและหันมานิยมเล่นเครื่องดนตรีไทยกันมากขึ้นก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน

เรื่อง: จันจิรา ยีมัสซา ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0