“ค่ายโพธิ์สามต้น” ตั้งอยู่บนเส้นทางเดินทัพระหว่างกรุงศรีอยุธยากับหัวเมืองฝ่ายเหนือ หากชื่อค่ายดังกล่าว กลับปรากฏในสงครามระหว่างไทยกับพม่าหลายครั้งด้วยกัน
ค่ายโพธิ์สามต้น
ชื่อของค่ายนี้ ปรากฏในพงศาวดารเป็นครั้งแรกในปี 2303 เมื่อ พระเจ้าอลองพญา นำกองทัพพม่ายกเข้าตีกรุงศรีอยุธยาทางด่านสิงขร เมืองตะนาวศรี ทัพของพระเจ้าอลองพญาตั้งค่ายที่ทุ่งบางกุ่ม บ้านกระเดื่อง ส่วนทัพหน้ามีมังระราชบุตรกับมังฆ้องนรธา ลงมาตั้งค่ายที่ “โพธิ์สามต้น”
ต่อมาในปี 2310 คราวสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา มันก็เป็นค่ายสำคัญของพม่า โดย เนเมียวสีหบดี แม่ทัพพม่ายกพลทหารมาตั้งค่ายใหญ่ที่ตำบลโพธิ์สามต้น ให้รื้ออิฐโบสถ์วิหารมาก่อกำแพงล้อมเป็นค่าย จัดเป็นค่ายใหญ่ที่สุดค่ายหนึ่งของพม่า
ภายหลังจากตีกรุงศรีอยุธยาได้ ก็กวาดต้อนคนไทยและทรัพย์สินจำนวนมากกลับไปพม่า และแต่งตั้งสุกี้พระนายกอง อยู่ทำหน้าที่ดูแลรักษากรุงศรีอยุธยา คอยรวบรวมผู้คน, ทรัพย์สิน, สืบข่าว ฯลฯ ส่งไปให้พม่าที่ค่ายโพธ์สามต้น ที่เป็นดังกองบัญชาการพม่าที่ควบคุมกรุงศรีฯ
หนังสือไทยรบพม่า บันทึกว่า พม่าจับเจ้านายไทย 8 พระองค์ ที่เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และพระเจ้าหลานเธอ มากักขังไว้ที่ค่ายแห่งนี้ เพราะประชวรหนักจึงยังมิได้ส่งไปพม่า เช่น เจ้าฟ้าสุริยา, เจ้าฟ้าพินทวดี, เจ้าฟ้าจันทวดี, พระองค์เจ้าฟักทอง เป็นต้น
แต่สำหรับคนไทย การจดจำค่ายนี้น่าจะเป็นเหตุการณ์หลังจากนั้น
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ปี 2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงนำทหารไทยและจีนจากเมืองจันทบุรีกลับมากอบกู้อิสรภาพ พระองค์ทรงเข้าโจมตีค่ายดังกล่าวจนมีชัยชนะเหนือพม่า ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา
“ครั้นรุ่งเช้าเป็นวันเดือนสิบสอง ข้างขึ้น เพลาสามโมงเศษ ให้พลทหารยกเข้าตีค่ายโพธิ์สามต้นฟากตะวันออกแตก [ค่ายนี้มี 2 ค่ายคือค่ายฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออก] จึงตรัสสั่งให้ทำบันได จะพาดเข้าปืนค่ายใหญ่ฟากตะวันตก…ครั้นรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง จึงดำรัสให้ทัพจีนกองหน้ายกเข้าตีค่ายพระนายกอง…รบกันตั้งแต่เช้าจนเพลาเที่ยง พวกพระนายกองพ่ายหนีเข้าค่าย ทัพจีนจึงไล่ติดตามเข้าไปในค่าย พระนายกองสู้รบอยู่จนตัวตายในค่ายนั้น…” [เน้นโดยผู้เขียน]
“โพธิ์สามต้น” ชื่อค่าย และชื่ออื่น
ค่ายชื่อ “โพธิ์สามต้น” ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ ตำบลโพธิ์สามต้นต่อกับตำบลพุทเลา อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ห่างจากอำเภอพระนครศรีอยุธยาไปทางเหนือประมาณ 7 กิโลเมตร บริเวณค่ายเมื่อประมาณปี 2542 ยังมีร่องรอยที่เห็นเป็นเนินดินแนวยาว ยังคงมีซากอิฐเก่าๆ และมีร่องรอยลำน้ำที่ตื้นเขิน สันนิษฐานว่าคือลำน้ำโพธิ์สามต้น
ส่วนชื่อ “โพธิ์สามต้น” นอกจากที่พระนครศรีอยุธยาแล้ว ยังมีที่ธนบุรีอีกด้วย
ฝั่งธนบุรี มีแยกชื่อ “แยกโพธิ์สามต้น” เป็นสามแยกจุดตัดระหว่างถนนอิสรภาพกับถนนวังเดิม ตั้งอยู่ในพื้นที่แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ใกล้แยกโพธิ์สามต้นยังมี “ตลาดโพธิ์สามต้น” และ “ซอยโพธิ์สามต้น” (ซอยอิสรภาพ 29) อีกด้วย
ชื่อแยก, ตลาด และซอยเหล่านี้ มีที่มาอย่างไร
พล ท. รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 3, ที่ปรึกษาประวัติศาสตร์กองทัพบก และประธานชมรมประวัติศาสตร์เมืองกาญจนบุรี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ข้อสันนิษฐานเรื่องนี้เป็นไปได้หลายกรณี เช่น บริเวณดังกล่าวมีต้นโพธิ์อยู่ 3 ต้น แต่ตายไปเหลือเพียงหนึ่งต้น เพราะ [ปี 2536 ที่ พล ท. รวมศักดิ์เขียนบทความนี้ครั้งแรก] ที่ตลาดโพธิ์สามต้น มีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง
หรือ “เพื่อเป็นเกียรติประวัติที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ได้เข้าโจมตีค่ายโพธิ์สามต้นที่อยุธยาได้รับชัยชนะเด็ดขาดเช่นเดียวกับบ้านพรานนก หรือถนนลาดหญ้า (การรบที่ทุ่งลาดหญ้าในสงครามเก้าทัพ ที่จังหวัดกาญจนบุรี)”
หรือเพราะผู้คนที่เคยอาศัยในบริเวณค่ายดังกล่าว ที่กรุงศรีอยุธยา อพยพมาอยู่กรุงธนบุรีราชธานีที่พระเจ้าตากสินทรงสถาปนาขึ้นแทนกรุงศรีอยุธยา จึงใช้ชื่อโพธิ์สามต้น และกลายมาเป็นชื่อของสถานที่ต่างๆ ข้างต้น
นี่คงยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะในทางประวัติศาสตร์ เมื่อค้นพบข้อมูล, หลักฐานใหม่ๆ ก็จะค่อยๆ พบคำตอบที่ชัดเจนขึ้นตามลำดับ
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สารานุกรมวัฒนธรรม ภาคกลาง. มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542
พล ท. รวมศักดิ์ ไชโกมินทร์. สงครามประวัติศาสตร์, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2541
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มีนาคม 2568
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “ค่ายโพธิ์สามต้น” ที่ตั้งทัพพม่าปี 2310 กับชื่อ “โพธิ์สามต้น” อื่นที่ธนบุรีเกี่ยวข้องกันไหม
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com